แสบถึงทรวง เฟซบุ๊กปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้งานในออสเตรเลียเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นข่าวทั้งหมดอย่างปุบปับเมื่อวันพฤหัสบดี ตอบโต้กฎหมายแบ่งรายได้แก่สื่อมวลชนที่จะผ่านวุฒิสภาในอีกไม่กี่วัน แต่เพจของหน่วยงานฉุกเฉินของรัฐกลับโดนแบนไปด้วย รัฐบาลออสซี่ฉุนเฟซบุ๊กเล่นแรง
หน้าเฟซบุ๊กของผู้ใช้งานในออสเตรเลียชี้แจงนโยบายใหม่เกี่ยวกับการโพสต์และแชร์เนื้อหาข่าว เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 (Photo by Robert Cianflone/Getty Images)
รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์กล่าวว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในออสเตรเลียไม่สามารถอ่านข่าวจากฟีดหรือโพสต์ลิงค์ของข่าวใดๆ ได้เลย ไม่ว่าข่าวจากสื่อท้องถิ่นหรือสื่อต่างชาติ ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ แต่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กนอกออสเตรเลียยังสามารถอ่านข่าวจากเพจของสำนักข่าวออสเตรเลียได้ตามปกติ การดำเนินการของเฟซบุ๊กทำไปเพื่อตอบโต้ร่างกฎหมายต่อรองสื่อที่จะบังคับให้เฟซบุ๊กจ่ายค่าเนื้อหาข่าวแก่สำนักข่าวต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะผ่านวุฒิสภาในอีกไม่กี่วัน
เฟซบุ๊กและบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ พากันต่อต้านกฎหมายดังกล่าวซึ่งจะเป็นครั้งแรกในโลก ด้วยความหวั่นเกรงว่าจะเป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นๆ และกระทบต่อแบบจำลองธุรกิจของพวกเขา
จอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลัง กล่าวระหว่างแถลงข่าวทางโทรทัศน์ว่า เฟซบุ๊กทำไม่ถูก การกระทำของเฟซบุ๊กไม่จำเป็น พวกเขาเล่นหนักมือ และจะทำลายชื่อเสียงของเฟซบุ๊กในออสเตรเลีย
เขาย้ำด้วยว่า รัฐบาลจะยังคงยึดมั่นกับการบังคับใช้มาตรการนี้ ซึ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อคืนวันพุธและขณะนี้ส่งเข้าสภาสูงแล้ว
รัฐมนตรีผู้นี้กล่าวด้วยว่า มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก ไม่ได้เตือนให้ระแคะระคายเกี่ยวกับการปิดกั้นข่าว เมื่อทั้งคู่สนทนากันเมื่อช่วงสุดสัปดาห์เกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ ซึ่งจะบังคับให้เฟซบุ๊กและบริษัทเทคโนโลยีเช่นกูเกิล ต้องจ่ายค่าเนื้อหาข่าวแก่สำนักข่าวในออสเตรเลีย
ฟรายเดนเบิร์กบอกว่าเขาได้สนทนา "อย่างสร้างสรรค์" กับซัคเคอร์เบิร์กอีกเมื่อเช้าวันพฤหัสบดี โดยพวกเขาหารือเกี่ยวกับ "การตีความที่ต่างกัน" เรื่องที่ว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำงานอย่างไร
รอยเตอร์กล่าวว่า พฤติการณ์ของเฟซบุ๊กแตกต่างกับของกูเกิล ที่บริษัท อัลฟาเบ็ต เป็นเจ้าของ แม้บริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐทั้งสองแห่งนี้จะต่อสู้กับร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยกันมานานหลายปี ทั้งสองบริษัทเคยขู่จะยกเลิกบริการในออสเตรเลีย แต่สุดท้ายกูเกิลเลือกที่จะทำข้อตกลงกับสำนักข่าวหลายแห่งในช่วงไม่กี่วันมานี้ ก่อนหน้าที่กฎหมายจะผ่านสภา
หนึ่งในบริษัทที่กูเกิลบรรลุข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ด้วยคือ นิวส์คอร์ป ของรูเพิร์ต เมอร์ด็อก ที่เพิ่งประกาศข้อตกลงรับค่าตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญจากกูเกิลสำหรับการป้อนเนื้อหาข่าวแก่บัญชีนิวส์โชว์เคสของกูเกิล
เฟซบุ๊กกล่าวในแถลงการณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งบังคับให้บริษัทบรรลุข้อตกลงเชิงพาณิชย์กับองค์กรข่าวต่างๆ ที่เชื่อมลิงค์ข่าวกับแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก มิเช่นนั้นจะถูกบังคับโดยอนุญาโตตุลาการให้ตกลงราคา เป็น "การเข้าใจผิดโดยพื้นฐาน" เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเฟซบุ๊กกับผู้พิมพ์ผู้โฆษณา เฟซบุ๊กจึงต้องเลือกระหว่างปฏิบัติตาม หรือแบนเนื้อหาข่าวทั้งหมด
การตัดสินใจของเฟซบุ๊ก ซึ่งทำให้ฟีดข่าวของสำนักข่าวกระแสหลักโดนแบนเป็นแถว ยังกระทบไปถึงบัญชีเฟซบุ๊กของหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่ง รวมถึงหน่วยงานที่เผยแพร่คำแนะนำเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนา ในช่วงยามสำคัญที่ออสเตรเลียจะเริ่มโครงการฉีดวัคซีนใน 3 วันข้างหน้า และยังกระทบต่อเพจของหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับไฟป่าและแอคเคาต์ขององค์กรเอกชนหลายแห่ง แม้แต่เพจของเฟซบุ๊กเองก็โดนแบนในออสเตรเลียด้วย
อย่างไรก็ดี เฟซบุ๊กออกแถลงการณ์ในเวลาต่อมาว่า การแบนเนื้อหาข่าวไม่ควรกระทบต่อเพจของรัฐบาล แต่ด้วยเหตุที่กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนเรื่องนิยามของเนื้อหาข่าว เฟซบุ๊กจึงต้องถือนิยามแบบกว้างๆ
ลิซา เดวีส์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ ทวีตว่า การกระทำของเฟซบุ๊กเพิ่มโอกาสอย่างมากที่แพลตฟอร์มนี้จะเกลื่อนไปด้วยการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ, ลัทธิหัวรุนแรงที่อันตราย และทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ
ขณะที่พอล เฟลตเชอร์ รัฐมนตรีการสื่อสารของออสเตรเลีย วิจารณ์ว่า เฟซบุ๊กส่งสารต่อชาวออสเตรเลียว่า บนแพล็ตฟอร์มของเฟซบุ๊ก พวกคุณจะไม่เห็นเนื้อหาจากองค์กรที่จ้างนักข่าวอาชีพและมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |