ศาลสั่งรื้อ5ตลาด เยียวยา'ป้าทุบรถ' สอบจนท.ผิดเล็กน้อย


เพิ่มเพื่อน    

 

    ป้าทุบรถกับพวกเฮ ศาลปกครองสั่ง กทม.รื้อ 5 ตลาดล้อมรอบ ระบุพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่พักอาศัย ไม่สามารถประกอบการพาณิชย์ได้ พร้อมสั่งชดใช้ค่าสูญเสียความสงบสุขตลอด 7 ปี 1.4 ล้าน ด้านผู้ฟ้องยกเป็นคดีตัวอย่าง "อัศวิน" เตรียมอุทธรณ์ ครวญไม่รู้เรื่องอะไรด้วยทำไมต้องจ่าย เผยผลสอบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แค่ผิดวินัยไม่ร้ายแรง

    เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ ศาลปกครองกลางแผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษาคดีที่ น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ เจ้าของบ้านในหมู่บ้านเสรีวิลล่าสวนหลวง ร.9 พร้อมพวกรวม 4 คน ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตประเวศ สำนักงานเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 นายสุกิจ นามวรกานต์ กับพวกรวม 7 คน ซึ่งเป็นเจ้าของตลาด 5 แห่งรอบบ้านพักของ น.ส.บุญศรี เป็นผู้ร้องสอด กรณีปล่อยให้สร้างตลาด 5 แห่ง คือ ตลาดสวนหลวง ตลาดรุ่งวาณิชย์ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ตลาดยิ่งนรา ตลาดร่มเหลือง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเห็นว่าคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินในขณะเกิดข้อพิพาท อนุญาตให้ผู้จัดสรรที่ดินทำการจัดสรรที่ดินจำนวน 3 โครงการ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินอันเป็นที่ตั้งบ้านพักอาศัยของ น.ส.บุญศรี กับพวก และที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารตลาดพิพาทของผู้ร้องสอด อยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดิน ที่มีวัตถุประสงค์จัดสรรเฉพาะที่ดิน ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง โดยมีเจตนาใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเท่านั้น 

    ดังนั้น การที่ผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดให้แก่เจ้าของตลาดที่เป็นผู้ร้องสอด จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พ.ย.15 ที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้น อีกทั้งการที่เจ้าของตลาดที่เป็นผู้ร้องสอด ก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดทั้ง 5 แห่งโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้มีคำสั่งให้รื้อถอนออกไป จึงถือได้ว่าผู้ว่าฯ กทม.ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ 

    ทั้งการที่ ผอ.เขตประเวศ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องกับตลาดพิพาททั้ง 5 แห่งของเจ้าของตลาดที่จัดตั้งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 และปล่อยปละละเลยให้มีผู้จำหน่ายสินค้าบริเวณหน้าบ้าน น.ส.บุญศรี กับพวก เมื่อนับเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ที่มีการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดแห่งแรกในคดีนี้ จนถึงปี พ.ศ.2561 ที่เกิดเหตุการณ์ทุบรถจอดกีดขวางหน้าบ้าน น.ส.บุญศรี กับพวก และ ผอ.เขตประเวศ ได้ออกคำสั่งให้เจ้าของตลาด หยุดประกอบกิจการตลาดพิพาท นับเป็นระยะเวลาประมาณ 7 ปีเศษ จึงถือได้ว่า ผอ.เขตประเวศปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างล่าช้าเกินสมควร ไม่เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อีกทั้งยังเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้ น.ส.บุญศรี กับพวก รับความเดือดร้อนเสียหายและต้องตกอยู่ในภาวะทนทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจมาเป็นระยะเวลานาน 

    ศาลจึงเห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่กรุงเทพมหานคร พึงต้องชดใช้แก่ น.ส.บุญศรี กับพวกส่วนหนึ่ง และกำหนดเพิ่มเติมให้เป็นค่าเสียหายสำหรับการสูญเสียความสุข เพื่อเป็นการชดเชยความสงบสุขในชีวิตที่ต้องสูญเสียไปให้แก่ น.ส.บุญศรี กับพวกอีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมและเป็นการเยียวยาความเสียหายให้แก่ น.ส.บุญศรี กับพวก ในคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนี้ 

    จึงพิพากษาให้ 1.เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ ที่ผู้ว่าฯ กทม.ออกให้แก่เจ้าของตลาดทั้ง 5 แห่ง โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารแต่ละฉบับดังกล่าว 2.ให้ผู้ว่าฯ กทม.และ/หรือ ผอ.เขตประเวศ ใช้อำนาจตามมาตรา 40, 42 และ 43 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ดำเนินการกับอาคารของเจ้าของตลาดที่เป็นผู้ร้องสอดที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด 3.ให้ผู้ว่าฯ กทม. ผอ.เขตประเวศ สำนักงานเขตประเวศ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 26, 28, 41, 44 และ 45 ของ พ.ร.บ.การสาธารณสุข เพื่อมิให้เจ้าของตลาด หรือผู้หนึ่งผู้ใดก่อเหตุรำคาญ และควบคุมดูแลมิให้มีผู้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะบริเวณหน้าบ้าน น.ส.บุญศรี และพวก ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด 

    4.ให้ผู้ว่าฯ กทม. ผอ.เขตประเวศ สำนักงานเขตประเวศ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 44  แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 โดยสอดส่องกวดขันมิให้ผู้ใดจำหน่ายสินค้าบนถนนและทางเท้าบริเวณหน้าบ้าน น.ส.บุญศรี กับพวก ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด 5.ให้กรุงเทพมหานครชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ น.ส.บุญศรี กับพวก เป็นเงินรายละ 386,400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,473,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.56 ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด และให้คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 1 ส.ค.56  ของศาล ยังคงมีผลต่อไปจนกว่าคำพิพากษาถึงที่สุด 

    ด้านนางบุญศรี กล่าวขอบคุณที่ศาลที่มองเห็นความเดือดร้อนและเมตตาให้ความเป็นธรรมคืนที่พักอาศัยให้กับประชาชน ซึ่งก็อยากฝากถึง กทม.ว่าพื้นที่ดังกล่าว ศาลระบุแล้วว่าถูกจัดสรรให้เป็นที่พักอาศัย รวมถึงบริเวณโดยรอบสวนหลวง ร.9 ด้วย จึงไม่ควรสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และอยากให้คดีนี้เป็นตัวอย่างว่าถ้าพื้นใดถูกกำหนดเป็นที่พักอาศัย กทม.ก็ไม่ควรที่จะอนุญาตให้มีการประกอบการพาณิชย์ เพราะบางครั้งประชาชนเขาเดือดร้อนและไม่สามารถเข้าถึงศาลได้ ทุกคนกว่าจะซื้อบ้านต้องใช้เวลาพอสมควร ในเมื่อได้ที่พักอาศัยแล้วก็ควรได้รับการคุ้มครองจากตัวบทกฎหมายที่กำหนดไว้ เพื่อให้ได้อยู่อย่างสงบสุข 

    "เราดีใจ ไม่ว่าศาลจะสั่งให้ กทม.ชดเชยเป็นจำนวนเงินเท่าไรก็ไม่เป็นไร แต่เราดีใจที่ศาลท่านเห็นความเดือดร้อนของเรา ตอนนี้เราโล่งใจ ประชาชนในหมู่บ้านถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อได้ยินว่าศาลสั่งให้คืนพื้นที่อยู่อาศัยให้กลับสู่สภาพเดิมอย่างชัดเจน ถือว่าคุ้มค่าที่เราได้พยายามต่อสู้มาหลายปี" น.สมบุญศรีกล่าว 

    ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.ก็ต้องรื้อถอนตลาดทั้ง 5 แห่งภายใน 60 วันที่กำหนด ส่วนการชดใช้ค่าเสียหาย ตนจะขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาล เนื่องจากไม่ใช่ความผิดที่เกิดขึ้นจากตน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดคำพิพากษา แต่ปัจจุบัน กทม.สั่งปิดตลาดรอบบ้าน น.ส.บุญศรี ทั้งหมดแล้ว โดยได้รื้อถอนบางส่วนของตลาดที่ไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมายออกแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดรุ่งวาณิชย์ ตลาดร่มเหลืองที่ไม่มีใบอนุญาต และตลาดรุ่งนรา ส่วนที่เหลืออีก 2 แห่ง ได้แก่ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต และตลาดสวนหลวง ยังไม่มีการรื้อถอน เนื่องจากเจ้าของตลาดได้ยื่นขออนุญาตตามกฎหมาย และอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถก่อสร้างอาคารได้หรือไม่  

    “ผมเห็นด้วยเรื่องให้รื้อถอนตลาด แต่เรื่องการชดใช้ค่าเสียหาย โดยผู้ว่าฯ กทม. หรือผม จะต้องชดใช้นั้น จะหารือกับฝ่ายกฎหมายในการขออุทธรณ์ ซึ่งกำหนดภายใน 30 วัน เพราะการจะให้ผมชดใช้ค่าเสียหายให้ ผมมองว่าผมไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย อยู่ดีๆ จะมาให้ผมจ่ายเยียวยาอย่างไร แต่ยืนยันว่า เมื่อมีคำพิพากษาออกมาแล้ว ผมอยากจะทำตามคำสั่งศาลทันที” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

    สำหรับการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยให้จัดตั้งตลาด พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ขณะนี้ นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัด กทม. ในฐานะประธานสอบ รายงานเบื้องต้นว่า ได้พิจารณาความผิดทางวินัยเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยความผิดที่พบคือ ความผิดวินัยไม่ร้ายแรง อาทิ การตัดเงินเดือน เป็นต้น เบื้องต้นมีข้าราชการเกี่ยวข้อง 7 ราย อาทิ อดีตผู้อำนวยการเขตประเวศและคนปัจจุบัน หัวหน้าฝ่ายโยธาเขต หัวหน้าฝ่ายอนามัย หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล เป็นต้น ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องระบุไว้ว่า การเอาผิดวินัยกับผู้อำนวยการเขตที่พ้นราชการไปเกิน 1 ปี ไม่สามารถเอาผิดได้ ยกเว้นคนปัจจุบัน ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องถึงการดำเนินการต่างๆ อีกครั้ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"