3นิ้วโว20ก.พ.บิ๊กเบิ้ม


เพิ่มเพื่อน    

 

รอดไปได้อีกเฮือก! อัยการนัดสั่งคดี “รุ้ง-ไมค์” กับพวก ม.112-ข้อหาอื่น 8 มี.ค.นี้ ปากกล้าขาสั่นหากไม่ได้ประกันตัว สุดท้ายก็ได้กลับออกมาแน่ ยันไม่มีใครคิดลี้ภัย เด็กมธ.ผู้ต้องหา ม.112 โวยมหาวิทยาลัยไม่คืนค่าเทอม แต่จะจัดให้มีการเรียนการสอนในเรือนจำทดแทน

    เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ แกนนำกลุ่มราษฎร กับพวกแนวร่วม เดินทางมาตามนัดที่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม นัดส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ คดีร่วมกันชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์-สนามหลวง ที่มีการแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ป.อาญา ม.112, ยุยงปลุกปั่นฯ ม.116 และข้อหาอื่นๆ หลังก่อนหน้านี้ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายอานนท์ นำภา, นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข 4 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ถูกสั่งฟ้องและไม่ได้รับการประกันตัวต้องเข้าเรือนจำไปแล้ว  
    บรรยากาศบริเวณสำนักงานอัยการสูงสุด มีผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรและคนใกล้ชิดผู้ต้องหาจำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจในการเข้ารายงานตัว อีกทั้งมีกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยและ ส.ส.พรรคก้าวไกล เดินทางมาให้กำลังใจเตรียมยื่นประกันตัว โดยผู้ชุมนุมบางส่วนได้จัดกิจกรรมสกรีนเสื้อบนฟุตปาธด้านนอกสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งข้อความและรูปภาพบนเสื้อที่สกรีน แสดงออกถึงการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย ป.อาญา ม.112 ซึ่งทำแจกผู้สนใจไม่คิดราคา ตามแต่จะบริจาคเงิน ขณะที่ตำรวจได้วางกำลังรักษาความปลอดภัยโดยรอบสำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงบริเวณศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษกด้วย
    น.ส.ปนัสยาเปิดเผยว่า คงมีโอกาส 80 เปอร์เซ็นต์ที่จะไม่ได้รับการประกันตัว ถ้ามองจาก 4 คนที่เข้าไปก่อนหน้านี้ เป็นคดีเดียวกันและมาตราเดียวกัน แต่เราก็หวังอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ที่กระบวนการยุติธรรมจะอยู่บนหลักการความเป็นธรรม
    ด้านนายภาณุพงศ์ เปิดเผยถึงความรู้สึกหากต้องเข้าเรือนจำว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร ตัดผมรอแล้ว ถ้าใส่ชุดที่ออกจากคุกวันนั้นได้คงใส่มา แต่เคารพต่อศาล และไม่ฝากอะไรต่อผู้ชุมนุม เราต้องได้ออกไปอยู่แล้ว หรือถ้าไม่ได้ออกไป มวลชนรู้อยู่แล้วว่าต้องเดินหน้าต่อไปอย่างไร
    "แม่ของผมอาจจะขมขื่นใจในการพิจารณาวันนี้ แต่แม่บอกว่าภูมิใจที่ลูกยังอยู่ในสิ่งที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมที่ควรจะเป็น ไม่มีปัญหา ทุกคนโอเค เป็นกำลังใจที่ดีต่อกัน" ไมค์ ระยองกล่าว
    ขณะที่ น.ส.ปนัสยากล่าวเสริมว่า เชื่อว่าอย่างไรก็ได้ออกมา การเคลื่อนไหวของเรายังไม่ถึงจุดจบ ไม่หยุดเพียงเท่านี้ ทุกคนยังเรียกร้องออกมาอยู่ เพราะข้อเรียกร้องของเรายังไม่สำเร็จ
    เมื่อถามถึงการเคลื่อนไหวต่อไปหากไม่ได้ประกันตัว นายภาณุพงศ์ตอบว่า ตอนนี้ต่างจังหวัดหลายพื้นที่ติดต่อห้องพักเข้ามาแล้ว รอดูกันต่อไปว่าจะเบิ้มขนาดไหน ไม่ซีเรียสอะไร ทุกอย่างถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ เหมาะสมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ตอบโต้กระบวนการที่ไม่เป็นธรรม
    ถามถึงความเป็นห่วงเรื่องเหตุรุนแรงจะซ้ำรอยวันที่ 13 ก.พ. 2564 หรือไม่ น.ส.ปนัสยาชี้แจงว่า ได้มีการถอดบทเรียนกันว่าเกิดอะไรขึ้น ปัญหามีอะไรบ้าง การชุมนุมครั้งต่อไปการดูแลความปลอดภัยจะรัดกุมขึ้น คิดว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกหรือน้อยมาก
    ส่วนการชุมนุมวันที่ 20 ก.พ.2564 จะเป็นที่สนามหลวงแห่งเดียวหรือไม่ น.ส.ปนัสยากล่าวว่า ถ้าวันนี้เราไม่ได้ออกมาจะปล่อยให้เป็นเรื่องของทีมที่อยู่ต่อจะบอกอีกที
    ถามถึงจุดยืนของสถานทูตเป็นอย่างไรต่อ ม.112 ในปัจจุบัน และมีใครคิดจะลี้ภัยหรือไม่ แกนนำม็อบราษฎร 63 ผู้นี้ตอบว่า ไม่ทราบชัดเจนสถานทูตแต่ละที่คิดอย่างไร เราจะเห็นตามข่าวเหมือนทุกคน ส่วนเรื่องลี้ภัยไม่ได้ยินว่ามีใครคิดจะลี้ภัย
    ส่วนนายภาณุพงศ์กล่าวว่า เราเข้าใจความโกรธของมวลชนทุกคน เรารู้ทนไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราอยากจะบอกว่าทุกคนคือพวกของเรา ทุกอย่างเกิดจากความโกรธที่เจ้าหน้าที่รัฐริเริ่มก่อน เรานั่งคุยกันต่อไป ต้องมีทีมสันติวิธีในการควบคุมแนวข้างหน้า
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาภายหลังพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ส่งสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการคดีอาญาพิจารณาแล้ว ทางพนักงานอัยการได้นัดฟังคำสั่งคดีครั้งแรก ในวันที่ 8 มี.ค. เวลา 10.00 น.
    ก่อนหน้านี้ เกิดกระแสโดยทั่วไปทำให้เข้าใจผิดกันว่าการนัดวันที่ 17 ก.พ. เป็นการนัดของอัยการเพื่อส่งฟ้องคดีต่อศาลอาญา ทั้งที่ความจริงเป็นการนัดส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนของพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ให้กับพนักงานอัยการเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นตอนที่อัยการส่งฟ้องคดีต่อศาลแต่อย่างใด
    ผู้สื่อข่าวรายงานต่อมาว่า ภายหลังอัยการกำหนดนัดฟังคำสั่งเสร็จสิ้น แกนนำและผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรได้เดินจากสำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก มายังศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เพื่อยื่นคำร้องขอประกันตัว 4 แกนนำ และแนวร่วมกลุ่มราษฎรที่อยู่ในเรือนจำซ้ำอีกครั้ง
    นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ทีมทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 4 คนเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เคยยื่นไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว วันนี้ทีมทนายได้ยื่นคำร้องพร้อมกับประเด็นพิจารณาในอีกหลายประเด็น ซึ่งศาลพิจารณาคำร้องครั้งที่ 2 แล้ว ยังคงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 4 คน โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เคยยกคำร้องไปแล้วก่อนหน้านี้
    ด้าน น.ส.เบนจา อะปัญ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนวร่วมผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ซึ่งถูกดำเนินคดีตาม ป.อาญา มาตรา 112 จากเหตุการณ์ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ได้เข้าไปปรึกษาหารือกับทางคณะของตัวเองถึงมาตรการช่วยเหลือในกรณีที่ตัวของนักศึกษาถูกฝากขัง ซึ่งผลปรากฏว่า ทางคณะปฏิเสธที่จะคืนค่าเทอมให้หากจะพักการเรียน และได้เสนอกับตนว่าทางคณะจะจัดให้มีการเรียนการสอนในเรือนจำทดแทน โดยอ้างว่าจากกรณีที่นักศึกษาถูกฟ้องร้องจนส่งผลกระทบต่อการเรียนนั้น เป็นเรื่องที่นักศึกษาต้องรับผิดชอบตนเอง
    เธอบอกว่า ตนเองเป็นเพียงหนึ่งในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ เพราะยังมีนักกิจกรรมที่เป็นนักศึกษาอีกหลายคนจากต่างคณะ เช่น เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และคนอื่นๆ รวม 9 คน ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะนี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยในขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องมาตรการช่วยเหลือนักศึกษาที่ถูกฟ้องร้องแต่อย่างใด
    นอกจากปัญหาเรื่องมาตรการช่วยเหลือนักศึกษาที่ถูกแจ้งข้อหาที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังมีท่าทีที่ล่าช้าในประเด็นการคืนค่าเทอม และมาตรการการเยียวยาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในส่วนของการคืนค่าเทอมนั้น ได้มีกลุ่มนักศึกษาจัดทำโครงการล่ารายชื่อนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการการคืนค่าเทอมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1,500 บาท จำกัดเฉพาะปริญญาตรี และต้องการให้มหาวิทยาลัยคืนค่าเทอมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ทุกระดับการศึกษา โดยมีนักศึกษารวมถึงบุคลากรในมหาวิทยาลัยสนใจร่วมลงชื่อกว่า 8,000 คน ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ยังไม่สามารถหาเวลาว่างเพื่อพบปะหารือกับตัวแทนองค์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มนักศึกษาที่ทำโครงการล่ารายชื่อดังกล่าวได้
    วันเดียวกันนี้ นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวถึงกรณีที่เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องให้ กทม.ร้องทุกข์กล่าวโทษกลุ่มผู้ชุมนุม หรือบุคคลที่เป็นผู้สั่งการ ให้รื้อถอนทำลายต้นไม้ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ว่าจากการตรวจสอบพบว่าไม้ดอกไม้ประดับได้รับความเสียหายจนไม่สามารถนำมาประดับตกแต่ง หรือนำมาอนุบาลได้ใหม่จำนวน 59,680 ต้น จากที่ปลูกไว้ 81,670 ต้น จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ศ.2535     
    ขณะเดียวกันได้จัดเก็บไม้ดอกไม้ประดับที่เสียหาย และไม่สามารถใช้ตั้งประดับตกแต่งได้ออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้ว ส่วนไม้ดอกไม้ประดับที่ยังมีสภาพดี เตรียมนำไปประดับตกแต่งไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตามเดิม พร้อมทำความสะอาดและปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้กลับมาเป็นดังเดิม
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีรายงานว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้จัดกำลังตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) จากตำรวจภูธรภาค 1-9 จำนวน 69 กองร้อย สนับสนุนภารกิจตามคำร้องขอของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เพื่อรองรับสถานการณ์การชุมนุมระหว่างวันที่ 18-22 ก.พ.
    โดย พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. เปิดเผยว่า ทาง บช.น. เตรียมกำลังตำรวจ คฝ. ไว้จำนวน 12 กองร้อย เพื่อรับการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ในวันที่ 20 ก.พ. ซึ่งคาดว่าทางกลุ่มจะไปรวมตัวกันใน 2 จุดคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และที่รัฐสภา แยกเกียกกาย สำหรับกำลังที่ขอสนับสนุนไปทาง ตร. จะเรียกเมื่อจำเป็นเท่านั้น ซึ่งต้องดูสถานการณ์ 1-2 วันนี้ก่อน หากไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ 12 กองร้อยถือว่าเพียงพอ.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"