17 ก.พ.64 - จากกรณีศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำม็อบราษฎร 4 คน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา ,นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) ,นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์) ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์คณาจารย์นิติศาสตร์ เรื่อง คำสั่งศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ระบุว่า หลักประกันสิทธิอันสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาคือการที่ศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ และด้วยเหตุดังกล่าวศาลจะพิพากษาจำเลยว่ามีความผิดได้ก็ต่อเมื่อศาลได้รับฟังพยานหลักฐานจนสิ้นข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ซึ่งกระบวนการรับฟังพยานหลักฐานนั้นต้องชอบด้วยกฎหมายทั้งในเชิงเนื้อหาและรูปแบบ
สิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้ถูกรับรองไว้อย่างชัดเจนในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อันเป็นหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศฉบับที่สำคัญที่สุด และไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และสิทธิดังกล่าวยังได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรค 2 และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227
สิทธิที่จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์มีขึ้นเพราะกฎหมายอาญาเป็นดาบสองคมที่รัฐอาจใช้ได้ทั้งเพื่อจัดการผู้กระทำความผิด และทิ่มแทงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งรวมทั้งประชาชนที่ใช้สิทธิตามกฎหมายไปในทางที่ขัดแย้งกับรัฐบาล ดังนั้นศาลในฐานะหนึ่งในเสาหลักแห่งอำนาจอธิปไตยจึงต้องเป็นผู้คุ้มครองสิทธิของประชาชน ซึ่งประชาชนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย แต่ยังรวมถึงประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดอาญาอีกด้วย
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิโดยอำนาจรัฐ หากศาลไม่ยึดถือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างเคร่งครัด แล้วใครเล่าจะเป็นผู้ปกป้องประชาชนจากรัฐบาล (who guards the guardians?) ศาลที่เป็นอิสระ (independence) และเที่ยงธรรม (impartiality) จึงต้องวางใจเป็นกลาง ไม่เชื่อหรือมีอคติตั้งแต่ต้นว่าจำเลยกระทำความผิดจนกว่าจะได้รับฟังพยานหลักฐานอย่างครบถ้วนจากทุกฝ่ายจนไม่มีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหา โดยไม่มีอำนาจหรือสิทธิที่จะกระทำเช่นนั้น
แม้ว่ารัฐจะมีหน้าที่พื้นฐานอีกประการ คือหน้าที่ในการสอบสวนและนำตัวผู้กระทำความผิดอาญามาลงโทษ แต่รัฐต้องหาสมดุลระหว่างหน้าที่พื้นฐานนี้กับหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ เพื่อให้รัฐสามารถดำเนินการเพื่อค้นหาและลงโทษผู้กระทำความผิดได้ โดยผู้ที่ถูกกล่าวหาต้องไม่ถูกกระทบสิทธิเกินสมควร ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าการควบคุมตัวจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีจึงเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่การควบคุมตัวต้องทำอย่างได้สัดส่วนและด้วยความจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น กล่าวคือ การคุมตัวในชั้นก่อนพิจารณาคดีและระหว่างพิจารณาคดีต้องทำในเวลาจำกัดไม่ปล่อยเนิ่นช้าจนเกินไป และต้องไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการควบคุมตัวจำเลยไว้ ทั้งนี้ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 และ 108/1 "จำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว"
โดย "การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อ” เหตุใดเหตุหนึ่งตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ บทบัญญัติกฎหมายนี้แสดงให้เห็นว่าการไม่ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นโดยหลักทำไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุผลตามที่มาตรา 108/1 กำหนด อันได้แก่การหลบหนี การไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน การไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือเป็นอุปสรรคการการสอบสวนหรือพิจารณาคดี จะเห็นได้ว่าเหตุทั้งห้าประการนี้ล้วนแล้วแต่เป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานบ่งชี้ว่าจำเลยจะไปทำอะไรในอนาคต ไม่ใช่เพราะจำเลยได้กระทำความผิดใดตามที่ได้ถูกกล่าวหา ความประพฤติของจำเลยที่พิสูจน์แล้วอาจนำมาใช้ชั่งน้ำหนักในการพิจารณาสั่งปล่อยตัวชั่วคราว เพียงในฐานะที่เป็นข้อบ่งชี้ประกอบถึงสิ่งที่จำเลยอาจจะไปทำสิ่งใดในอนาคตเท่านั้น
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งคำร้องที่ ปอ 61/2564 โดยมีการให้เหตุผลที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวส่วนหนึ่งว่า “การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยที่ 3 ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน” ซึ่งถ้อยคำลักษณะเดียวกันนั้นปรากฏในคำสั่งคำร้องที่ ปอ 62/2564 และ ปอ 63/2564 ที่ศาลได้อ่านในวันเดียวกันด้วย
การให้เหตุผลของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามว่า มีความสอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์เพียงใด เพราะการให้เหตุผลลักษณะดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่า ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามที่ถูกฟ้องไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่า 1. จำเลยทำจริงหรือไม่ 2. การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ และ 3. จำเลยมีอำนาจกระทำตามกฎหมายหรือไม่
เมื่อยังไม่ได้มีการพิจารณาสืบพยานจนสิ้นข้อสงสัย การวินิจฉัยการกระทำของจำเลยและหยิบข้อวินิจฉัยมาเป็นเหตุผลในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงขัดต่อหลักสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ขัดแย้งกับพันธกรณีที่ไทยมีต่อนานาประเทศ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และขัดแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันล้วนแต่เป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้น คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ดังมีรายนามแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอเรียกร้องให้ผู้พิพากษาทุกท่านได้ยึดมั่นในหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างเคร่งครัด ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักการของกฎหมายอย่างซื่อตรงและเป็นธรรม และเป็นเสาหลักที่มั่นคงในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสภาวะที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตรอบด้านและประชาชนจำนวนมากมองเห็นศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย
1.กนกนัย ถาวรพานิช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2.กรกนก บัววิเชียร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3.กรณ์ณเศรษฐ์ ชินมหาวงศ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
4.กรรภิรมย์ โกมลารชุน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
5.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
6.กฤษฎากร ว่องวุฒิกุล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
7.กิตติภพ วังคำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
8.จารุประภา รักพงษ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9.ณรงค์เดช สรุโฆษิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
10.ณัฏฐพร รอดเจริญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
11.ณัฐ สุขเวชชวรกิจ มหาวิทยาลัยพะเยา
12.ณัฐดนัย นาจันทร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
13.ณัฐวัฒน์ กฤตยานวัช มหาวิทยาลัยบูรพา
14.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
15.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
16.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
17.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
18.ธนรัตน์ มังคุด มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
19.ธีรวัฒน์ ขวัญใจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
20.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
21.นพร โพธิ์พัฒนชัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
22.นวพร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
23.นัทมน คงเจริญ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
24.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
25.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
26.ปรีญาภรณ์ อุบลสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
27.ผจญ คงเมือง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
28.พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
29.พรชัย วิสุทธิศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
30.พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
31.พัชร์ นิยมศิลป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
32.พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
33.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
34.มุกกระจ่าง จรณี มหาวิทยาลัยบูรพา
35.มุนินทร์ พงศาปาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
36.ยอดพล เทพสิทธา มหาวิทยาลัยนเรศวร
37.รณกรณ์ บุญมี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
38.วริษา องสุพันธ์กุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
39.ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
40.สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
41.สมชาย ปรีชาศิลปกุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
42.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
43.สุปรียา แก้วละเอียด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
44.สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
45.สุรินรัตน์ แก้วทอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
46.อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
47.เอื้อการย์ โสภาคดิษฐพงษ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
48.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |