ติดตั้งทุ่นกักขยะ (BOOM) วัดจากแดง ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในคุ้งบางกะเจ้า ส่วนใหญ่เป็นขยะที่ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเป็นการระบายน้ำจากคลองบางนา บริเวณข้างวัดบางนานอก คลองบางอ้อ คลองพระโขนง และขยะจากเรือลากจูงทราย เรือขนส่งที่มาจอดหยุดพักรอน้ำขึ้น – น้ำลง ซึ่งขยะที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากมาจากการที่คนไม่รู้ว่าขยะนั้นมีประโยชน์ เพื่อเป็นการช่วยลดปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ทช.) และวัดจากแดง ดำเนินการโครงการศึกษาและบริหารจัดการขยะลอยน้ำบริเวณปากแม่น้ำ โดยทุ่นกักขยะ (BOOM) ณ วัดจากแดง ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โดยได้ติดตั้งทุ่นฯ มีความยาว 25 เมตร
โครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดขยายจุดวางทุ่นกักขยะและศึกษาข้อมูล พร้อมทดสอบการจัดเก็บขยะ อาทิ ช่วงเวลาการจัดเก็บขยะ, ปริมาณขยะที่เก็บได้, ประเภทของขยะในแม่น้ำ ฯลฯ ในระยะแรกจัดเก็บ 3 ครั้งติดต่อกัน จากนั้นจัดเก็บสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยข้อมูลที่ได้จะนำมาเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการขยะลอยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชุมชนอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้แม่น้ำได้นำไปใช้ได้ต่อไป
พระทิพากร อริโย พระสิ่งแวดล้อม วัดจากแดง กล่าวว่า วัดจากแดง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ โดยได้ที่ร่วมวางทุ่นกักขยะบริเวณหน้าวัด เพื่อจะได้นำข้อมูลที่ได้มา แยกจำนวนพร้อมจัดทำเป็นข้อมูล ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้นทางของการมีขยะ คือการที่เรานั้นสร้างสิ่งที่ไม่สามารถเก็บมาใช้ได้ เพราะถ้าวันนี้เราข้อมูลที่มีขยะประเภทใดจำนวนเท่าไหร่ จะเป็นตัวเลขที่สะท้อนกลับไปยังผู้ผลิตได้ทำการคิดพิจารณาว่า จะทำอย่างไรให้ขยะเหล่านี้ลดลง และขยะที่เก็บมาแล้วจะใช้ประโยชน์อะไรได้ นอกจากเอาไปทิ้งฝังกลบ เป็นภาระให้กับคนอื่น
สำหรับขยะนำขึ้นมาจากแม่น้ำสามารถใช้กระบวนการจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์ เพื่อลดปริมาณขยะได้ เช่น Reduce การลดปริมาณขยะ โดยลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์สิ้นเปลืองReuse การนำมาใช้ซ้ำ เช่น ขวดแก้ว กล่องกระดาษ กระดาษพิมพ์หน้าหลัง เป็นต้น และ Repair การซ่อมแซมแก้ไขสิ่งของต่างๆ ให้สามารถใช้งานต่อได้ ส่วนขยะที่นำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ไม่ได้แล้ว ก็จะคัดแยกเป็นวัสดุให้ความร้อน หรือเรียกว่า RDF ก็คือเอาไปเผา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในวันนี้วัดจากแดง ได้นำขยะเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อลดปริมาณการทิ้ง อาทิ นำขวดพลาสติกมาไปแปรรูปเป็นผ้าไตรจีวร ถุงแกงในวัด แปรรูปเป็นน้ำมัน และแปรรูปโฟม เป็นหินเทียม เป็นต้น
การจัดเก็บข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะได้นำมาเป็นต้นแบบในการดำเนินงานครั้งต่อไปแล้ว ยังนำมาใช้เป็นแนวทางในการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน ในการดูแลแม่น้ำ และทิ้งขยะลงสู่แหล่งน้ำ รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนริมน้ำได้ด้วย