จ่อปรับโซนคลายล็อกโควิด


เพิ่มเพื่อน    

 

ศบค.พบติดเชื้อใหม่ 72 ราย เล็งพิจารณาปรับโซนสีจังหวัดคลายล็อกเพิ่ม เผยคลัสเตอร์จุฬานิวาสติดแล้ว 22 ราย ยังรอผลตรวจอีกกว่า 200 ราย คณะแพทยศาสตร์ มธ. ตรวจเจอ นศ.เสี่ยง 47 ราย ผลตรวจไม่พบเชื้อ 42 ราย เหลือรอผล 5 ราย สธ.พร้อมให้บริการลงทะเบียนฉีดวัคซีนฟรีระยะแรกเริ่มตั้งแต่ มี.ค.นี้ บินไทยจับมือ สธ.ลุยขนส่งวัคซีนซิโนแวคล็อตแรก 2 แสนโดส ถึงสุวรรณภูมิ 5 โมงเช้า 24 ก.พ.      

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 16 กุมภาพันธ์ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ว่าวันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 72 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 69 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 3 ราย ทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 24,786 ราย ผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 680 ราย รวมหายแล้วสะสม 23,563 ราย ยังคงรักษาอยู่ 1,141 ราย โดยไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
     นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่ละจังหวัดประกอบด้วย จ.ปทุมธานี 48 ราย, จ.สมุทรสาคร 16 ราย, จ.สมุทรปราการ 2 ราย, จ.นครปฐม 1 ราย, จ.ขอนแก่น 1 ราย และจ.พระนครศรีอยุธยา 1 ราย โดยเฉพาะ จ.ปทุมธานี ซึ่งมีการเป็นการติดเชื้อในตลาดจำนวน 47 ราย แบ่งเป็นชาติไทย 26 ราย, เมียนมา 18 ราย, ลาว 2 ราย และกัมพูชา 1 ราย โดยพบเชื้อในคนไทยมากกว่าคนต่างชาติ เป็นประเด็นที่น่ากังวลว่าเชื้อจะกระจายไปได้มากกว่า เนื่องจากแม่ค้าในตลาดพบปะบุคคลจำนวนมากประชาชนจึงต้องเคร่งครัดในการรักษาสุขอนามัยส่วนตัว
    โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า สำหรับการกระจายของผู้ป่วยโรคโควิดคลัสเตอร์จุฬานิวาส หรือการติดเชื้อในกลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) เขตปทุมวัน ซึ่งตรวจพบผู้ติดเชื้อรวม 22 คน โดยผู้ป่วยคนแรก ตรวจพบเชื้อวันที่ 29 ม.ค.64 อายุ 56 ปี เป็นพนักงานส่งเอกสาร แพร่เชื้อไปติดกับญาติ กับแม่บ้านอีก 7 คน เพราะอยู่ในชั้น 12 ของอาคารเดียวกัน นอกจากนี้พบผู้ติดเชื้อในกลุ่ม รปภ. จากการทำงานด้วยกัน สแกนนิ้วที่เดียวกัน เข้ากิจกรรมรวมแถวของ รปภ. และรับประทานอาหารร่วมกัน นำเชื้อไปติดญาติอีก 5 คน และญาติยังนำเชื้อไปสู่คนในที่ทำงาน ซึ่งที่ประชุมศบค.ให้ความสำคัญแจ้งเตือนกิจกรรมสำคัญที่ต้องป้องกัน ได้แก่ พักอาศัยร่วมกัน ทำงานร่วมกัน มีกิจกรรมร่วมกันและรับประทานอาหารร่วมกัน โดยทีมสอบสวนโรคพบเชื้อที่จุดสแกนนิ้วสถานที่ทำงานที่มีพนักงานพักอยู่ร่วมกัน ต้องดูแลความสะอาด โดยเฉพาะจุดสัมผัสร่วม เครื่องสแกนนิ้วต้องเช็ดล้างทำความสะอาดบ่อยๆ
    นพ.ทวีศิลป์เผยถึงการประชุม ศบค.ชุดเล็ก ว่ามีหารือถึงข้อเสนอผ่อนคลายเปิดให้ทำกิจกรรมเพิ่มเติม เช่น แข่งขันกีฬาแบบมีผู้ชม หรือเปิดให้นั่งดื่ม โดย ศบค.ชุดเล็กมีความโน้มเอียงที่จะผ่อนปรนในรูปแบบการขยับเปลี่ยนโซนสีจังหวัด โดยในวันที่ 18 ก.พ.64 จะนำรายละเอียดเข้าสู่คณะกรรมการเฉพาะกิจ ก่อนนำเสนอต่อ ศบค.ชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 22 ก.พ.64 รวมถึงการขออนุมัติจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกเจ็ตสกีโปรทัวร์ด้วย
       ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าการควบคุมโรคที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนสำคัญ ได้แก่ กรณีเชื่อมโยง รปภ.จุฬานิวาส  ที่มีผู้ติดเชื้อรวม 22 ราย ซึ่งศูนย์บริการสุขภาพจุฬาฯ ได้ตรวจหาเชื้อแล้ว 862 ราย พบติดเชื้อ 22 ราย รอผลอีก 165 ราย ส่วนผู้ที่อยู่ในตลาดรอบจุฬาฯ มีการตรวจหาเชื้อแล้ว 434 ราย ไม่พบเชื้อ 334 ราย รอผลอีก 100 ราย โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในวงจำกัด
      ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ กทม.ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคระลอกใหม่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
     รศ.นพ.ศิลา ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออกแถลงการณ์กรณีนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ว่าในวันที่ 13 ก.พ.2564 ทางคณะแพทยศาสตร์รับแจ้งว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มารับบริการที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2564 และจากการสอบสวนมีบุคลากรคณะแพทยศาสตร์และนักศึกษาแพทย์ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยดังกล่าวรวม 7 ราย
     โดยทุกรายได้รับการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อที่ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พบว่า นักศึกษาแพทย์ 1 ราย มีผลตรวจพบเชื้อ ขณะนี้นักศึกษาคนดังกล่าวได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 นอกจากนี้เริ่มดำเนินการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดนักศึกษาที่ติดเชื้อดังกล่าวร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และให้คำแนะนำโดยจากการติดตามพบว่ามีผู้สัมผัสใกล้ชิด 47 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 20 ราย และสัมผัสเสี่ยงต่ำ 27 ราย โดยทั้งหมดได้รับการตรวจหาเชื้อ ซึ่งผลการตรวจไม่พบเชื้อ 42 ราย ส่วนอีก 5 รายรอผลตรวจ
     คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี    ออกประกาศมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 1 ไห้จัดตั้งสถานที่ป้องกันและควบคุมโรค เพื่อกักกันในกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงตามมาตรการป้องกันโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้ 1.อาคารพาณิชย์โดยรอบพื้นที่ตลาดพรพัฒน์ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี 2.อาคารพาณิชย์โดยรอบพื้นที่ตลาดสุชาติ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี 3.อาคารพาณิชย์โดยรอบซอยรังสิต-ปทุมธานี 17 อาคารพาณิชย์โดยรอบซอยรังสิต-นครนายก 19 อาคารพาณิชย์โดยรอบซอยรังสิต-นครนายก 21 อาคารพาณิชย์โดยรอบซอยรังสิต-นครนายก 23 อาคารพาณิชย์โดยรอบซอยรังสิต-นครนายก 25 อาคารโดยรอบซอยรังสิตนคร-นายก 27 อาคารพาณิชย์โดยรอบซอยรังสิตนคร-นายก 29 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี ทั้งนี้ ห้ามมีการชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมทั้งห้ามบุคคลใดที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าในพื้นที่ที่กำหนด
    ส่วนฉบับที่ 2 สั่งปิดสถานที่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคดังนี้ 1 ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวสถานที่พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นเวลา 9 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ได้แก่ 1.1 ตลาดสุชาติ รวมถึงอาคารพาณิชย์โดยรอบตำบลประชาธิปัตย์อำเภอธัญบุรี 1.2 ตลาดพรพัฒน์ รวมถึงอาคารพาณิชย์โดยรอบตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี 2. ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ตามข้อ 1 ออกจากที่พัก และให้กักตนเองเป็นเวลา 14 วัน
ที่โรงพยาบาลราชวิถี นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ตรวจเยี่ยมการทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรี ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้งานตรวจสอบและยืนยันสิทธิการรับวัคซีนผ่านทาง Line Official Account "หมอพร้อม"
  นายสาธิตกล่าวว่า วัคซีนถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค ช่วยลดอาการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต จากการตรวจเยี่ยมการทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของโรงพยาบาลราชวิถี ที่เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกรมการแพทย์ ได้มีการทดสอบระบบการฉีดวัคซีนโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ก่อนเข้ารับบริการ จะมีการคัดกรองความเสี่ยง วัดไข้ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล โดยขั้นตอนที่ 1 เป็นการลงทะเบียน (ทำบัตร) เพื่อยืนยันตัวตน จนถึงขั้นตอนที่ 8 จะมีการแสดงผล Dash Board จาก Line Official Account “หมอพร้อม” แสดงการประเมินผลความครอบคลุมทุกกระบวนการการบริการ การติดตามอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัย
    พล.อ.อ.เอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานในที่ประชุมคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทย ในฐานะสายการบินแห่งชาติ มีความยินดีที่กระทรวงสาธารณสุขมอบความไว้วางใจให้ปฏิบัติภารกิจขนส่งวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ล็อตแรกของประเทศไทย จำนวน 200,000 โดส จากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน มายังประเทศไทยด้วยเที่ยวบินขนส่งสินค้า (Cargo) เที่ยวบินที่ทีจี 675 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพฯ ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 ออกเดินทางจากจีนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 06.50 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงกรุงเทพฯ เวลา 11.05 น. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ บริษัทพร้อมปฏิบัติภารกิจสำคัญนี้อย่างครอบคลุมทุกด้าน ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก โดยบริษัท SGS (Thailand) เป็นผู้ทำการตรวจสอบและรับรอง.
    

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"