สถานการณ์ของผู้ชุมนุมในนามกลุ่ม “ราษฎร” หรือชื่ออื่นก่อนหน้านี้ตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา เข้าสู่โหมดแห่งความยากลำบากอย่างแท้จริง จนอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงขาลง เช่นเดียวกับผู้ชุมนุมในฮ่องกงที่เรียกร้องประชาธิปไตย ในเมื่อยังไม่อาจไปสู่ชัยชนะตามเป้าหมายได้ ก็กลายเป็นต้องเผชิญกับคดีความจำนวนมหาศาลที่เจ้าหน้าที่รัฐจัดเต็มให้หลากหลายข้อหาเพิ่มขึ้นแทบทุกครั้งที่จัดชุมนุม ขีดเส้นชะตากรรมให้แกนนำบางรายต้องเข้าเรือนจำ ซ้ำร้ายผู้ชุมนุมที่โกรธแค้น หรือรวมไปถึงมือที่สาม ที่ลุกขึ้นก่อปฏิบัติการใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวจนสูญเสียสันติวิธีไปในที่สุด
จากปฏิบัติการของมือระเบิดทั้งในม็อบย่อยเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2564 ที่จามจุรีสแควร์ ลามมาจนม็อบใหญ่เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2564 ที่เดินไป สน.ปทุมวัน และเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2564 ที่เดินไปศาลหลักเมือง กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อชีวิต เมื่อมีระเบิดแทรกซ้อนเข้ามาทุกครั้ง ซึ่งการเคลื่อนไหวของม็อบใหญ่ในนามราษฎรมีเหตุจากที่ศาลไม่ให้ประกันตัว “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์” “อานนท์ นำภา” “หมอลำแบงค์-ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม” และ “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” ในคดีชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2564 และศาลอุทธรณ์ก็ไม่ให้ประกันตัวอีกเช่นเดียวกัน ในวันที่ 15 ก.พ.2564 ทำให้ทั้งสี่ยังต้องติดคุกต่อไป อันจะนำไปสู่การชุมนุมที่กลุ่มราษฎรนัดอีกครั้งวันที่ 20 ก.พ.2564
ถึงแม้ว่า “อานนท์” จะทิ้งจดหมายข้อความสั้นๆ ฝากถึงมิตรสหายร่วมอุดมการณ์ก่อนเข้าคุกว่า “ขังฝนเม็ดเดียว เขาจะเจอกับห่าฝน” ก็ตาม แต่ห่าฝนนั้นกลับไม่มาตามที่เขาคาดหวัง ณ เวลานี้ ที่ผู้ชุมนุมราษฎรมีจำนวนลดน้อยลง ต่างกับการเคลื่อนไหวในปี 2563 อย่างสิ้นเชิงเห็นได้ชัด เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยทั้งภายนอก-ภายในขบวนการเคลื่อนไหว สามารถเห็นอะไรหลายอย่างที่ย่อมเป็นผลกระทบอันสำคัญ จนนำไปสู่การถดถอยและห่างไกลจากชัยชนะออกไป
ปัจจัยที่ก้ำกึ่งทั้งภายนอกและภายใน ไม่พ้นเรื่องระเบิดและสิ่งของต่างๆ นานาที่ขว้างปาเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจขณะมีการปะทะดังที่กล่าวมา จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งบุคคลเหล่านี้หากเป็นมือที่สามที่เข้ามาก่อกวนสร้างสถานการณ์ ปลอมตัวเป็นผู้ชุมนุมคอยยั่วยุขว้างปาสิ่งของ ก็ถือเป็นปัจจัยภายนอก หรือหากเป็นพวกเดียวกันที่เคลื่อนไหวด้วยความโกรธแค้นอยากปะทะ ก็ถือเป็นปัจจัยภายใน ที่ย่อมสร้างความหนักอกหนักใจให้แก่แกนนำและแนวร่วมที่ไม่สามารถควบคุมสั่งการให้คนเหล่านี้หยุดการใช้อาวุธเข้าปะทะได้ จนสูญเสียภาพการเคลื่อนไหวแบบสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ และเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น ย่อมเป็นธรรมดาที่ผู้ชุมนุมจะลดลงด้วยความกลัวเหตุปะทะ
ปัจจัยภายนอกอื่น ก็ไม่พ้นเรื่องสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นอยู่ ย่อมเป็นอีกหนึ่งเหตุที่คนจะไม่มาชุมนุมด้วยความกลัวโรค และยังเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากนี้หากสังเกตตามสื่อโซเชียลมีเดีย ก็พบปรากฏการณ์ของขบวนการไอโอและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ที่ขยันขันแข็งมากขึ้นในการโพสต์ การแชร์ การกดไลค์เนื้อหาของฝ่ายตนเองอย่างมากมายกว่าที่เคยเป็นมาอีกด้วยบนสมรภูมิไซเบอร์ขณะนี้
อย่างไรก็ตาม จะโทษแต่ปัจจัยภายนอกที่ทำให้ผู้ชุมนุมราษฎรต้องตกอยู่ในสภาพเพลี่ยงพล้ำขนาดนี้ไม่ได้ ปัจจัยภายในที่มีปัญหาย่อมเป็นส่วนที่สำคัญมาก ตั้งแต่ข้อเรียกร้อง 1.ไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แม้มีถึง 3 ข้อ แต่สิ่งที่ถูกเน้นย้ำในการเคลื่อนไหวกลับกลายเป็นการ “หมกมุ่น” อยู่กับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มากจนเกินไปอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่รัฐบาลเองก็มีเรื่องลบให้พูดถึงไม่น้อย อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน กลับแทบไม่ได้รับการเอ่ยถึงในที่ชุมนุม ท่องแต่คาถายกเลิก 112 เมื่อประเด็นการเคลื่อนไหวถูกขับเน้นเข้าสู่มุมแคบลง การขยายแนวร่วมก็ย่อมลำบาก ซ้ำร้ายยังเกิดการทะเลาะกันเอง ทัวร์ลงกันเองในโซเชียลมีเดียหลายต่อหลายครั้งที่เห็นต่างกัน ทำเอาหลักการ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” เสียหายย่อยยับไปตามกาลเวลา
เนื้อหาการปราศรัยและกิจกรรมที่กระทำ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ไม่อาจทำให้ขบวนการราษฎรก้าวหน้าไปได้ เมื่อแกนนำและผู้ปราศรัยยังไม่อาจยกระดับคุณภาพของการปราศรัยให้นำเสนอเนื้อหาสาระ พยานหลักฐานอันเป็นประโยชน์ที่จะจูงใจให้ผู้คนคล้อยตามข้อเรียกร้องเพิ่มขึ้นได้ กลับมีลักษณะการปราศรัยที่เน้นระบายอารมณ์ บางรายใช้ถ้อยคำก้าวร้าวหยาบคาย ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กอายุ 13 ปีก็ขึ้นไปปราศรัย ลักษณะเช่นนี้บนเวที เนื้อหาที่ใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังนั้นได้เพียงความสะใจกันเอง แต่ไม่อาจดึงดูดใจให้คนที่ต้องการสาระและสันติวิธีจริงๆ ซึ่งเป็นประชาชนจำนวนมากให้มาเห็นด้วยได้เลย
สำหรับกิจกรรมเช่นเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2564 ยังมีลักษณะที่ซ้ำรอยเดิม โดยเฉพาะการรื้อกระถางต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งทำให้เกิดภาพความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติที่มาจากภาษีประชาชน และเป็นสิ่งที่เคยทำมาแล้วในการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2563 ส่วนการนำผ้าคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เคยเกิดขึ้นแล้วสมัยการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 และม็อบเฟสต์เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2563 สำหรับการเคลื่อนขบวนไปใกล้พระบรมมหาราชวังก็เคยเกิดขึ้นในกิจกรรมส่งจดหมายถึงกษัตริย์เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2563 ทำให้ทั้งหมดเกือบจะเหมือนภาพยนตร์เรื่องเดิม ไม่อาจสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติมได้
สุดท้าย วันที่ 17 ก.พ.2564 นี้ แกนนำและแนวร่วมม็อบราษฎรมีนัดส่งฟ้องคดีต่อศาล ที่อาจเกิดเหตุซ้ำรอยไม่ได้รับการประกันตัวเช่นเดียวกับ 4 คนก่อนหน้า ต้องติดคุกเพิ่มขึ้นอีก จะส่งผลหรือไม่อย่างไรต่อการชุมนุมวันที่ 20 ก.พ.2564 ที่ต้องติดตาม ในสถานการณ์ระทึกอีกครั้งของบ้านเมือง.
นายชาติสังคม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |