ปัญหาคอร์รัปชันที่ประเทศเรามีขณะนี้พูดไปมีแต่คนส่ายหน้า รู้สึกขยะแขยง และอับอาย ที่ส่ายหน้าเพราะเป็นปัญหาที่ไม่มีใครอยากฟัง แต่เป็นความจริงในสังคมที่ปฏิเสธไม่ได้ ที่ขยะแขยงก็เพราะขนาดหรือความโหดร้ายของปัญหานับวันจะมากขึ้นๆ เพราะคนที่ทุจริตคอร์รัปชันกล้าโกงแบบไม่เกรงกลัวกฎหมายไม่อายฟ้าดิน และที่น่าอับอายก็เพราะผู้ที่มีอำนาจ มีหน้าที่แก้ไขปัญหากลับไม่ทำหน้าที่ และ/หรืออาจมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจเสียเอง ปัญหาจึงไม่มีการแก้ไข มีแต่จะหนักขึ้นๆ
ล่าสุด องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) ได้ออกรายงานผลสำรวจการจัดอันดับความโปร่งใส โดยดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index หรือ CPI) สำหรับปี 2020 สำรวจจาก 180 ประเทศทั่วโลก จัดทำทุกปี ผลคือ ในปี 2020 ประเทศไทยได้ 36 คะแนน จากคะแนนเต็มร้อยเท่ากับปี 2019 อยู่อันดับ 104 ของโลก แย่ลงกว่าปี 2019 ที่อยู่ในอันดับที่ 102 ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดคือ เดนมาร์กและนิวซีแลนด์ ได้ 88 คะแนนเท่ากัน สำหรับเอเชียคะแนนสูงสุดคือสิงคโปร์ ได้ 85 คะแนน เป็นอันดับสามของโลก ของไทยได้ 36 คะแนน เป็นอันดับห้าของอาเซียนเท่ากับเวียดนาม
ตัวเลขเหล่านี้ถ้าดูเผินๆ คนส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกอะไร เพราะไม่เข้าใจว่าคะแนน 36 ดีไหม ตำแหน่ง 104 ของโลกแย่แค่ไหน ดังนั้นถ้าจะเข้าใจว่าปัญหาคอร์รัปชันของประเทศเราแย่แค่ไหน คงต้องย้อนกลับไปดูตัวเองในอดีตเพื่อนำมาเปรียบเทียบ และดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิด ซึ่งเทียบกับอดีตปัญหาคอร์รัปชันในบ้านเรามีพัฒนาการที่คนไทยต้องรู้อยู่สามเรื่อง
หนึ่ง ในปี 2001 หรือ 19 ปีที่แล้ว คะแนน CPI ของไทยอยู่อันดับที่ 61 ของโลก เทียบกับปัจจุบันที่อยู่อันดับ 104 คือเราแย่ลง 43 อันดับในช่วง 19 ปี และถ้าดูแนวโน้มช่วง 19 ปีที่ผ่านมา (ดูรูปประกอบ) สถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศเราแย่ลงต่อเนื่องจนเกือบเป็นเส้นตรง เคยดีสุดปี 2005 ที่อยู่อันดับ 59 จากนั้นแย่ลงตลอดคืออันดับ 80 ปี 2008 อันดับ 102 ปี 2013 อันดับ 101 ปี 2016 และปี 2019 และล่าสุดอันดับ 104 ปี 2020 เห็นได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเดียวที่เลวลงตลอด ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล และปีที่แล้วที่ไทยอยู่อันดับที่ 104 พูดได้ว่าเป็นปีที่แย่สุดในรอบยี่สิบปี
ที่สำคัญถ้าเราดูอันดับของประเทศต่างๆ เทียบไปด้วย เช่น ปี 2001 ที่ไทยอยู่อันดับที่ 61 ในปีนั้น หลายประเทศในเอเชียมีอันดับแย่กว่าไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย (อันดับที่ 71) เวียดนาม (อันดับที่ 71) และอินโดนีเซีย (อันดับที่ 88) แต่ 20 ปีต่อมาอันดับของประเทศเหล่านี้ดีกว่าไทยเกือบทั้งหมด คือ ปี 2020 ไทยอยู่อันดับ 104 อินเดียอันดับที่ 86 ดีกว่าไทย อินโดนีเซียอันดับที่ 102 ดีกว่าไทย และเวียดนามอันดับที่ 104 เท่ากับไทย ใครที่เดินทางต่างประเทศบ่อยและคุ้นเคยกับประเทศเหล่านี้ คงจะรู้สึกเลยว่าเป็นภาพลักษณ์ประเทศเราเรื่องคอร์รัปชันที่น่าอับอายมาก แม้อินเดียและอินโดนีเซีย ขณะนี้ก็ดูดีกว่าเรา
สอง 20 ปีที่ผ่านมา การทุจริตคอร์รัปชันในบ้านเราได้พัฒนาขึ้นมาเป็นระบบทำมาหากินและการหาเลี้ยงชีพที่ได้กลายเป็นลักษณะปกติของสังคมไปแล้ว ในสายตานักลงทุนต่างประเทศ ไทยเป็นประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชันมาก และเกิดขึ้นกว้างขวาง ไม่ว่าจะในภาคราชการ ภาคการเมือง และภาคธุรกิจ เราถูกมองว่าเป็นประเทศที่ไม่โปร่งใส จะติดต่ออะไรต้องมีเส้นสาย และต้องพร้อมใช้เงิน เป็นประเทศที่มีต้นทุนแอบแฝงสูงในการทำธุรกิจ มีความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะถ้าธุรกิจนั้นเกี่ยวข้องกับภาครัฐ ที่สำคัญอำนาจเงินมีอิทธิพลได้แม้ในระดับนโยบายที่การตัดสินใจต้องมาจากระดับสูงสุด ผลคือมีความไม่เสถียรของนโยบายมาก คือ นโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญของการทำธุรกิจในประเทศไทย
นอกจากนี้ การประมูลในโครงการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐมักถูกร้องเรียนว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้ประเทศต้องซื้อของในราคาที่แพงเกินจริง หรือได้ของที่ไม่สมราคาหรือใช้งานไม่ได้ ชื่อเสียงเหล่านี้ทำให้บริษัทต่างชาติที่มีชื่อจะไม่เข้าร่วมประมูลงานในประเทศไทย เพราะไม่มีใครอยากยุ่งหรือเสียเวลากับการประมูลที่มักเป็นการจัดฉากเพื่อหาประโยชน์ให้บริษัทพวกพ้อง เราจึงไม่ได้สิ่งที่ควรได้ ขณะที่ภาคธุรกิจของประเทศไม่มีการพัฒนา ไม่มีนวัตกรรม ไม่มีการแข่งขัน
สาม ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันได้มาถึงจุดที่เศรษฐกิจของประเทศเดินต่อไม่ได้ จากที่ประเทศไม่มีการลงทุนต่อเนื่องมากว่า 20 ปี เพราะนักลงทุนต่างประเทศเลือกที่จะไปลงทุนประเทศอื่น และนักธุรกิจในประเทศเองก็ไม่ลงทุน ที่จะมีบ้างก็คือธุรกิจขนาดใหญ่ที่ "อยู่เป็น" กับการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองและระบบข้าราชการ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศถดถอยต่อเนื่อง ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น
ในประเด็นนี้อย่าลืมว่าคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่นั้นไม่มีอำนาจเงิน ไม่มีอำนาจที่มากับตำแหน่งหน้าที่ที่จะทุจริตคอร์รัปชัน คือไม่มีโอกาสที่จะทำได้ ปัญหาคอร์รัปชันที่ประเทศมี จึงเป็นผลผลิตของกลุ่มคนที่มีเงิน มีธุรกิจ มีตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งเป็นคนระดับบนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ข้าราชการประจำ และนักการเมือง นี่คือที่มาของปัญหาคอร์รัปชันในบ้านเรา
มองไปข้างหน้าถ้าสถานการณ์โควิดยังยืดเยื้อและอยู่กับเราต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปีอย่างที่มีการวิเคราะห์กัน ชัดเจนว่าปัญหาคอร์รัปชันที่ประเทศเรามีก็จะยังไม่ดีขึ้น ช่วงสองปีข้างหน้า ตรงกันข้ามปัญหาคงจะยิ่งแย่ลง เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอ รายได้ที่หดหายจะเป็นแรงกดดันให้ปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงขึ้น ความรุนแรงของคอร์รัปชันที่มากขึ้นก็จะส่งผลย้อนกลับทำให้การแก้ไขการระบาดของโควิด-19 มีข้อจำกัดและไม่ประสบความสำเร็จ
เรื่องนี้องค์กรโปร่งใสระหว่างประเทศได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจในรายงานล่าสุด และก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน คือ การทำผิดกฎหมายเช่นเรื่องบ่อนพนัน การนำเข้าแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย ที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชันของข้าราชการประจำ ส่งผลให้การระบาดปะทุขึ้นอีกรอบ นอกจากนี้ก็มีกรณีการทุจริตหาประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น โครงการเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง หรือการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องดำเนินการโดยเร็ว ก็เกิดช่องโหว่ที่ไม่มีการตรวจสอบเท่าที่ควร นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างที่เป็นข่าว
ถึงวันนี้ คำถามคือคอร์รัปชันในประเทศเราจะแก้ได้หรือไม่ และถ้าจะแก้ต้องทำอะไรบ้าง
ในเรื่องนี้คำตอบของผมคือ คอร์รัปชันประเทศเราแก้ได้ แต่ที่ยังแก้ไขไม่ได้เพราะคนที่ควรต้องแก้ปัญหา หรือหยุดคอร์รัปชันยังไม่ทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐบาล ข้าราชการ หรือภาคธุรกิจ เมื่อคนที่ควรแก้ปัญหาไม่ทำหน้าที่และ/หรืออยู่ในสมการคอร์รัปชันเสียเอง ปัญหาก็ไม่มีการแก้ไข และก็รุนแรงขึ้นอย่างที่เห็น
เรื่องนี้อยากเล่าให้ผู้อ่านที่เกิดไม่ทันฟังว่า ย้อนอดีตกลับไปห้า 60 ปีก่อน หลายประเทศในเอเชียไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง หรือแม้แต่สิงคโปร์ รวมถึงอีกหลายประเทศที่ยากจน ตอนนั้นต่างก็มีปัญหาคอร์รัปชันที่รุนแรงด้วยกันทั้งสิ้น แต่ถึงวันนี้ชัดเจนว่าประเทศเหล่านี้ล้วนแก้ไขหรือลดทอนปัญหาคอร์รัปชันได้ สิงคโปร์อยู่อันดับ 3 ในปี 2020 ฮ่องกงอันดับ 11 ไต้หวัน 28 และเกาหลีใต้ 33 ไทยอยู่ที่ 104 ที่สำคัญประเทศเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศพร้อมกันไปด้วย จนก้าวข้ามเป็นประเทศที่มีรายได้สูงที่ประชาชนมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี และระดับรายได้ต่อหัวสูงกว่าประเทศไทยหมด
สิ่งที่ได้เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ จึงชี้ว่า หนึ่ง ปัญหาคอร์รัปชันแก้ไขได้ ลดทอนได้ แม้ปัญหาจะมากและรุนแรง สอง คอร์รัปชันที่ลดลงมีส่วนอย่างสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ สาม เมื่อเศรษฐกิจเติบโต ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ระบบการศึกษาของประเทศดีขึ้น ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ พฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชันของคนในสังคมก็จะลดลงโดยปริยาย
ในบริบทนี้ประเทศไทยเราจึงเหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ที่พลวัตของการทุจริตคอร์รัปชันและการเติบโตของเศรษฐกิจทำงานตรงกันข้าม คือของเรา การทุจริตคอร์รัปชันนับวันจะรุนแรง ไม่มีการแก้ไข ความรุนแรงของคอร์รัปชันกระทบการลงทุน และการเติบโตของเศรษฐกิจ จนประเทศไทยขณะนี้เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตต่ำสุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค และเมื่อประเทศไม่มีการเติบโตของรายได้ เราก็ไม่มีทรัพยากรที่จะไปลงทุนยกระดับคุณภาพการศึกษา ปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ และสร้างสมรรถนะให้กับประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยี ความไม่มีเหล่านี้กดดันให้ปัญหาคอร์รัปชันยิ่งรุนแรงมากขึ้น นี่คือพลวัตของประเทศเรา ที่สวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น
ถึงจุดนี้ ผู้อ่านหลายคนคงมีคำถามในใจว่า แล้ว 4 ประเทศที่พูดถึงนี้คือ ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ แก้ไขปัญหาของเขาอย่างไร เรื่องนี้เท่าที่ศึกษาดู ที่ 4 ประเทศนี้ทำได้ เพราะเขาทำเหมือนกันสองอย่างที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา
อย่าง แรก คือ จับปลาใหญ่ หมายถึงคนที่ทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะอยู่ในระดับที่สูงแค่ไหนในสังคม ไม่ว่าเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการประจำ ถ้าโกงทุจริตต้องถูกจับถูกลงโทษไม่เว้นหน้า ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพราะถ้าการจับกุมลงโทษไม่เกิดขึ้น คือ คนใหญ่โตในสังคมยังลอยหน้าลอยตาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ออกทีวี ได้รับตำแหน่งใหญ่โต ทั้งๆ ที่รู้ว่าทุจริต สังคมก็จะไม่เชื่อว่าปัญหาคอร์รัปชันที่ประเทศมีแก้ไขได้ การแก้ไขปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น ตรงกันข้าม ถ้ามีการจับปลาใหญ่และลงโทษให้เห็นจริงจัง คนก็จะเชื่อว่ามีการเอาจริง ปัญหาคอร์รัปชันก็จะแก้ไขได้ เพราะพฤติกรรมของคนในสังคมจะเปลี่ยน
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นคนระดับรัฐมนตรี ประธานาธิบดี ประธานบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ประเภทเจ้าสัว ถูกจับติดคุก หรือฆ่าตัวตายด้วยความอับอายเพราะถูกจับได้เรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เช่น กรณีเกาหลีใต้และไต้หวัน จีนก็กำลังใช้วิธีนี้แก้ปัญหา คือ จับหมดไม่ว่า เสือ หรือแมลงวัน ถ้าทุจริตคอร์รัปชัน
สอง เมื่อประชาชนเห็นว่าการแก้คอร์รัปชันมีการเอาจริง แม้คนใหญ่โตก็ถูกจับประหารชีวิต ไม่มีลดโทษหรือได้อภัย ประชาชน สื่อมวลชน ภาคประชาสังคมก็จะร่วมมือแสดงพลังเป็นหูเป็นตา สอดส่องเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงปกป้องระบบยุติธรรมของประเทศให้ทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระตรงไปตรงมา เพื่อเอาคนทุจริตคอร์รัปชันมาลงโทษ เรื่องนี้เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่ดีที่พลังของภาคประชาสังคมกดดันให้นักการเมืองต้องยอมรับกฎกติกา และปล่อยให้ระบบยุติธรรมของประเทศทำหน้าที่อย่างอิสระ จนนำไปสู่การเอาผิดลงโทษประธานาธิบดี และประธานบริษัทใหญ่ระดับเจ้าสัวเรื่องการให้สินบน นี่คือพลังของภาคประชาชนที่นำไปสู่ความร่วมมือแก้ไขปัญหา
สองเรื่องนี้จับปลาใหญ่ และพลังของภาคประชาสังคม จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศเกิดขึ้น แต่สองเงื่อนไขนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราได้ผู้นำที่เอาจริง คือ กล้าที่จะแก้ไขปัญหา สนับสนุนด้วยภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ไม่ยอม และไม่พร้อมที่จะยอมรับ หรือ compromise กับความไม่ถูกต้องต่างๆ
น่าเสียดายที่ทั้งสองเงื่อนไขนี้เรายังไม่มีในสังคมของเรา ทำให้การแก้ไขปัญหาจึงยังไม่เกิดขึ้น แต่สำหรับอนาคตเป็นเรื่องที่บอกไม่ได้ เพราะอย่างที่เราทราบสถานการณ์มักจะสร้างผู้นำขึ้นมาเอง ที่จะนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |