อุทธรณ์ไม่ผ่าน ศาลยกคำร้องประกันตัว 4 แกนนำ 3 นิ้ว ย้ำพฤติกรรมปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย หากปล่อยตัวน่าเชื่อว่าจะหลบหนี "ชาญวิทย์-นิธิ" นำทีม 255 นักวิชาการจาก 31 สถาบัน จี้ศาลคืนเสรีภาพ อ้างกลัว "เพนกวิน" เรียนไม่ทัน ถ้าให้ประกันตัวจะไม่มีความขัดแย้ง
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ, รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร, ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์พร้อมรายชื่อนักวิชาการ 255 รายชื่อ 31 สถาบัน ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ขอให้ศาลคืนสิทธิในการได้รับการประกันตัวระหว่างถูกดำเนินคดีแก่ผู้ถูกสั่งฟ้องจากการชุมนุม ทั้ง 4 คนเพราะเป็นสิทธิสากล และมีนักศึกษาที่กำลังเรียน จะมีผลต่ออนาคตหากอยู่ในเรือนจำจนกว่าคดีสิ้นสุด และเพื่อไม่ให้การชุมนุมมีความรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ ตัวแทนคณาจารย์ยังได้นำหนังสือและเอกสารการเรียนการสอนมามอบให้นายพริษฐ์เพื่อใช้อ่านระหว่างถูกจองจำด้วย หากไม่ได้ประกันอาจารย์ที่ร่วมเข้าชื่อครั้งนี้ก็จะเคลื่อนไหวต่อไป และวันพุธที่ 17 ก พ.นี้จะไปรอให้การช่วยเหลืออีก 14 ผู้ชุมนุมที่จะมีการส่งสำนวนฟ้องที่ศาลอาญา
อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 เรือนจำจึงอนุญาตเพียงทนายความให้เข้าไปเยี่ยม จากนั้นนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงเข้าไปเยี่ยมนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม แกนนำกลุ่มราษฎร 63 หลังจากทั้ง 4 คนถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงรูปคดีและการยื่นขอประกันตัว
สำหรับแถลงการณ์มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ขอให้ศาลพึงยึดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อน ว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาถึงที่สุด คำสั่งไม่ให้ประกันตัวที่วางอยู่บนการวินิจฉัยว่าจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นเสมือนการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ถูกสั่งฟ้องเป็นการกระทำผิด ทั้งๆ ที่กระบวนการไต่สวนยังไม่ได้เริ่มต้นและยังไม่มีคำพิพากษา เป็นการขัดกับหลักการและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
หากภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกสั่งฟ้องไม่ได้กระทำความผิด สิทธิและเสรีภาพที่ถูกพรากไปจากการถูกจองจำระหว่างดำเนินคดีก็ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ โดยเฉพาะนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งเป็นนักศึกษาอยู่ การถูกจองจำจึงหมายถึงศาลได้ลิดรอนสิทธิในการศึกษาของนายพริษฐ์ไปด้วย
รัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง จึงเป็นธรรมดาที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอย่างเกินกว่าเหตุ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่สถาบันตุลาการ จักต้องรักษาความเป็นอิสระและสมดุลของการปกป้องหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน การให้ประกันตัวผู้ชุมนุมในคดีทางการเมืองอย่างที่ผ่านมา ช่วยประคับประคองไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายได้ค่อนข้างดี ตรงกันข้ามการไม่ให้ประกันตัว มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายตัวรุนแรงยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อของคณาจารย์ 255 รายชื่อนี้นำโดย 1.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ ทั้งคู่ต่างเป็นผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และม็อบคณะราษฎร 63 มาอย่างแข็งขันต่อเนื่อง โดยเฉพาะนายชาญวิทย์ที่เป็นสมาชิกคณะก้าวหน้าด้วย
ต่อมาศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ ในคำร้องที่ ทนายความของ 4 จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวของศาลอาญา ในคดีที่กลุ่มจำเลยถูกพนักงานอัยการส่งฟ้องข้อหาความผิด ป.อาญา ม.112, ม.116, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ป.อาญา ม.215, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, กีดขวางทางสาธารณะฯ, ร่วมกันกีดขวางการจราจรฯ, ตั้งวางวัตถุบนถนนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายฯ, ทำลายโบราณสถานฯ, ทำให้เสียทรัพย์ฯ และร่วมกันโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ รวม 11 ข้อหา กรณีการชุมนุม 19-20 ก.ย. 63 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์-สนามหลวง ส่วนคดีหมายเลขดำ อ.286/2564 นายพริษฐ์ถูกฟ้องเพียงคนเดียวในข้อหาความผิด ป.อาญา ม.112 กรณีการชุมนุมม็อบเฟสต์ 14 พ.ย.63
ศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยว่าถูกกล่าวหาดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันในคดีอื่นอีก เมื่อพิจารณาประกอบคำคัดค้านของพนักงานอัยการโจทก์แล้ว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้ว จำเลยอาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่าจำเลยอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ยื่นคำร้องขอฝากขังนายจิตรกร แจคโคบี จูเนียร์, นายพรพรหม คงตระกูล, นายปัฐกรณ์ จาภรณ์, นายทองนพเก้า ใจไทย, นายธนเดช วรรณโพธิ์กลาง, นายอดิศักดิ์ ผาลา, นายชัยณรงค์ สมพลกรัง และนายปุรพล วงศ์เจียก ผู้ต้องหาที่ 1-8 ตามลำดับ เพื่อทำการสอบสวนกรณีผู้ต้องหาทั้งแปดร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.พ.64 (การชุมนุมของกลุ่มราษฎร) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลไต่สวนคำร้องขอฝากขังดังกล่าวผ่านระบบ Video Conference พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องและข้อคัดค้านของผู้ร้องทั้งแปดแล้ว จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งแปดได้ตามขอ
ต่อมานายประกันผู้ต้องหาทั้งแปดยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งแปด โดยมีค่าประกันในวงเงินคนละ 35,000 บาท ศาลได้แจ้งคำสั่งปล่อยชั่วคราวดังกล่าวและปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งแปดแล้ว
ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ว่าเป็นไปตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ดูเหมือนการชุมนุมจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นายกฯ ตอบว่า "ไปถามว่าทำไมถึงรุนแรงขึ้น แล้วใครเป็นคนทำล่ะ คนไทย ห่วงไหมล่ะ คนไทย"
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอฝากเตือนไปยังกลุ่มผู้ที่ก่อเหตุด้วย ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามพยานหลักฐานที่มีจำนวนมากในกล้องต่างๆ ที่ออกมาเห็นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามก็ขอร้องสื่อให้เสนอข่าวทั้ง 2 ทางว่ามีการปฏิบัติอย่างไรกับเจ้าหน้าที่ วันนี้ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วยที่ต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง อย่าลืมว่าทุกคนก็มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้ความรุนแรงตอบโต้กันไปมา รังแต่จะทำให้เกิดความรุนแรงต่อไป ซึ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศและประชาชนโดยรวม
เมื่อถามว่า มีรายงานข่าวว่ามีกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยต่อต้านรัฐประหารเมียนมาในไทยแฝงตัวร่วมชุมนุมในพื้นที่ปทุมวันและสนามหลวงช่วงที่ผ่านมา ได้กำชับให้หน่วยความมั่นคงดูแลเรื่องนี้อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมขอเตือนว่าให้ใช้ความระมัดระวังให้มากที่สุด ในฐานะมิตรประเทศและอาเซียน ต้องระมัดระวังทุกมิติและทุกประเด็น พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกแหล่งว่าจะดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด"
ทั้งนี้ ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยังได้รายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองว่าจะมีการจัดชุมนุมขนาดเล็กทั่ว กทม. โดยในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจจะจัดชุมนุมต่อเนื่อง โดยให้จับตา 3 จุดสำคัญ คือ ทำเนียบรัฐบาล, รัฐสภา และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกับประเมินว่าความเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภาจะเข้มข้นขึ้น ฝ่ายค้านจะเน้นสร้างกระแสสังคม เน้นเรื่องที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชน ส่วนในโซเชียลมีเดียจะสร้างกระแสเรื่องมาตรา 112 เรื่องการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล แสวงผลประโยชน์จากสถานการณ์ในเมียนมาโดยสอดแทรกเรื่องการเมืองไทยเข้าไปด้วย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมอีกครั้งวันที่ 20 ก.พ.นี้ว่า ทุกครั้งที่ปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่จะมีการประเมินด้านการข่าว เตรียมกำลังและความพร้อม แต่ถามว่าเตรียมอย่างไร ต้องทำไปตามยุทธวิธี อะไรที่ผ่านมาเป็นบทเรียนก็เอาไปดู แต่ไม่สามารถระบุในรายละเอียดได้ว่าเตรียมกำลังแบบไหนหรืออย่างไร
ผบ.ตร.แจงว่า ที่มีภาพเจ้าหน้าที่ทำร้ายผู้ชุมนุม ต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจ ทีมงานโฆษกต้องมีภาระที่มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อทำความเข้าใจ เอาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมานำเสนอให้ได้ เช่นเดียวกับภาพที่เจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายบุคลากรทางการแพทย์ก็ได้มีการชี้แจงไปแล้ว กระบวนการทั้งหมดจะต้องไปจบที่กระบวนการยุติธรรม ชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ ชั้นศาล ก็ต้องไปว่ากันตามกระบวนการ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ peace talk ว่า "สถานการณ์รอยต่อเหตุการณ์เมื่อ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา จะสะท้อนถึงปรากฏ 7 วันอันตรายและน่าจับตาอย่างยิ่ง เนื่องจากส่งผลถึงการชุมนุมตามนัดในช่วงบ่ายวันที่ 20 ก.พ. อาจถึงขั้น 'คลุ้งกลิ่นไอ คาวเลือดปน' เป็นสำนวนท่อนในเนื้อเพลงจากลานโพธิ์ถึงภูพาน ซึ่งนายวัฒน์ วรรลยางกูร เขียนขึ้นจากเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาใน ม.ธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลา 2519 จนต้องหนีขึ้นไปต่อสู้ในเทือกเขาภูพาน"
นายจตุพรกล่าวว่า "ตามประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว เชื่อว่าการชุมนุมขณะนี้อยู่ในช่วงปลายแล้ว เพราะเมื่อสันติวิธีถูกทำลาย จึงย่อมมองหาระยะยาวไม่ได้ เพียงแต่จะจบกันวันไหน อย่างไรเท่านั้น เนื่องจากทั้งสองฝ่ายทำผิดกันอย่างชัดเจน เหตุการณ์ชุมนุม 13 ก.พ. เมื่อเกิดความไม่พอใจกันขึ้นแล้ว ภาพการโยน ขว้างสิ่งของใส่กัน ย่อมเป็นภาพที่ปรากฏขึ้นทุกการชุมนุม ส่วนการทุบตีนั้น ตำรวจไม่มีสิทธิ์ทุบตีประชาชน".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |