ความหวั่นไหวของคนพม่า : ตำรวจมา ‘ฉกตัว’ ยามวิกาล


เพิ่มเพื่อน    

        การประท้วงที่พม่าทำท่าจะบานปลายโดยไม่เห็นทางรอมชอมระหว่างกองทัพกับฝ่ายพลเรือน

                เป็นการเผชิญหน้าระหว่างพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย และอองซาน ซูจี อีกครั้งหนึ่งที่มีประเทศชาติเป็นเดิมพัน

                การต่อต้านด้วยวิธีอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement หรือ CDM) เป็นมาตรการของประชาชนที่ต้องการแสดงออกอย่างสันติ ปราศจากอาวุธ

                เพราะไม่มีทางต่อรองวิธีอื่นกับผู้ถืออาวุธ

                กองทัพเดินหน้ากดดันและปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างเป็นระบบ

                นอกจากการพยายามจะตัดระบบอินเทอร์เน็ตแล้วก็ยังยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลที่เป็นหัวใจของการสร้างกระบวนการประชาธิปไตยหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 5 ปีก่อน

                คำประกาศจากกองทัพเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมายกเลิกมาตราสำคัญๆ ที่ทำให้ทหารมีอำนาจ

                -ควบคุมตัวได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ

                -ตรวจค้นบ้านโดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ของชุมชนมาร่วมสังเกตการณ์

                -สามารถติดตามผู้คนได้ด้วยวิธีการต่างๆ

                -สามารถสั่งให้ผู้ให้บริการมือถือส่งข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้

                -สามารถกักตัวผู้ต้องสงสัยเกินกว่า 24 ชั่วโมง

                ทั้งหมดนี้ไม่ต้องสงสัยว่าเป็นการกลับไปสู่ยุคมืดของการปกครองแบบเผด็จการทหารของพม่า

                หลายคืนที่ผ่านมามีตำรวจและทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบใช้ความมืดในยามวิกาลเข้าประกบ, ข่มขู่และจับกุมผู้ที่ทางการเห็นว่าเป็นแกนนำของการประท้วง

                ทำให้เกิดการรวมตัวของชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ในหลายๆ เมือง เพื่อร่วมกันสกัดไม่ให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นกระทำการ ”ฉก” ตัวผู้ร่วมกิจกรรมการเมืองในลักษณะของการใช้อำนาจอย่างผิดทำนองคลองธรรม

                หลายชุมนุมในย่างกุ้งส่งข้อความถึงข้างนอกว่าพวกเขาและเธอไม่เป็นอันหลับอันนอน เพราะกลัวว่าตำรวจจะซ่อนตัวในความมืดเพื่อ “อุ้ม” ผู้นำชุมชน

                สกัดไม่ให้มีส่วนในการนัดหมายและจัดให้มีการประท้วงอย่างที่เกิดขึ้นมาตลอดทุกวัน ตั้งแต่วันยึดอำนาจ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

                อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ที่ผิดปกติหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ หลังจากที่นายพลมิน อ่อง หล่าย ประกาศให้อภัยโทษปล่อยคนออกจากคุกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากว่า 23,000 คน

                เหตุการณ์ที่เข้าข่ายน่าสงสัยว่านักโทษบางคนที่ได้รับการปล่อยตัวนั้นมีส่วนในการทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เช่น จุดไฟเผาบ้าน หรือแอบใส่ยาพิษในแหล่งน้ำ รวมถึงการสร้างเรื่องโกลาหลโดยคนแปลกหน้าในหมู่บ้านและเมืองต่างๆ หรือไม่

                ที่เกิดข้อสงสัยเช่นนี้ เพราะเคยมีตัวอย่างมาแล้วในอดีต

                นั่นคือหลังการปราบปรามนักศึกษาและปัญญาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างหนักในปี 1988 กองทัพพม่าก็ประกาศอภัยโทษครั้งใหญ่เหมือนกับครั้งนี้

                และครั้งนั้นก็มีการใช้นักโทษเหล่านี้ก่อเหตุร้ายต่างๆ เพื่อบั่นทอนความเคลื่อนไหวของประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลเช่นกัน

                การที่นายพลมิน อ่อง หล่าย ออกมาเตือนให้พนักงานของรัฐที่ผละงานเพื่อร่วมอารยะขัดขืนกลับไปทำงานทันทีนั้น ก็เท่ากับเป็นการข่มขู่คุกคามประชาชนอีกรูปแบบหนึ่ง

                มิน อ่อง หล่าย อ้างว่าคนพม่าต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ว่า หากไม่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน บ้านเมืองก็จะระส่ำระส่าย และ “ประชาธิปไตย” ก็เกิดไม่ได้

                ประหนึ่งว่าคำนิยามของ “ประชาธิปไตย” แบบทหารนั้นจะกลายเป็น “ความปกติใหม่” หรือ New Normal ของสังคมพม่าที่การยึดอำนาจโดยกองทัพกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยเสียแล้ว

                แนวโน้มที่เห็นอยู่ขณะนี้ชี้ไปในทิศทางที่กองทัพจะเดินหน้าปราบปรามด้วยวิธีการที่หนักหน่วงรุนแรงขึ้น

                นั่นเป็นสิ่งที่น่ากลัวว่าความขัดแย้งรอบใหม่ของเพื่อนบ้านของเราประเทศนี้จะนำไปสู่การนองเลือด และอาจนำไปสู่การปิดประเทศอีกครั้งหนึ่ง

                หากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับคนพม่าที่ได้ทนทุกข์ทรมานกับระบบการปกครองแบบเผด็จการทหารมากว่า 50 ปี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

                เพิ่งได้สัมผัสกับเสรีภาพและความหวังว่าจะพ้นจากขวากหนามแห่งการเมืองด้านมืดมาได้ 5 ปี ก็จะต้องดำดิ่งไปสู่ความมืดมนของการเมืองแบบเก่าๆ อีก

                สำหรับคนพม่าทุกรุ่นทุกวัยที่ผ่านชีวิตการเมืองอย่างนี้มา การออกมาเรียกร้องสิทธิอย่างสันติจึงเป็นเรื่องที่มิอาจจะหลีกเลี่ยงได้จริงๆ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"