![](https://storage.thaipost.net/main/uploads/photos/big/20210215/image_big_602a311eb5a67.jpg)
สถานการณ์ระบาดของโควิด 19 บ้านเราเริ่มคลี่คลาย มีมากกว่า50 จังหวัด ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อนานเกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งน่าจะทำให้บรรยากาศการเดินทางของผู้คนเริ่มดีขึ้น หรือถ้าใครอยากจะไปเที่ยวในพื้นที่ไม่แออัด ก็ยังพอทำได้ และวันนี้อยากมาแนะนำอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งในวันนี้ ถ้ายังไม่พร้อมจะไป ก็เก็บไว้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการเดินทางในวันต่อไปได้
สถานที่ที่ว่านี้ก็คือ" เขากระโดง"จังหวัดบุรีรัมย์ ที่นี่มีดี ไม่เหมือนที่อื่นตรงที่มีเป็นปากปล่องภูเขาไฟที่สูงจากระดับน้ำทะเล 230 เมตร เป็น 1 ใน 6 ภูเขาไฟที่ดับแล้ว ของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งภูเขาไฟ "เขากระโดง" เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ เพราะได้รับการยกระดับเป็น“วนอุทยานภูเขาไฟเขากระโดง” มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย ให้สามารถเดินทางเข้าถึงและชื่นชมความงามตามธรรมชาติได้ถึงปากปล่องภูเขาไฟ สมกับคอนเฃ็ปต์ความตั้งใจของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะทำให้"เขากระโดง" เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ตรงกับความหมายที่ว่า “ไม่ว่าใครก็เที่ยวได้”
![](https://storage.thaipost.net/main/uploads/photos/big/20210215/image_big_602a312dd2228.jpg)
ป่าเขากระโดงมีเนื้อที่กว่า 8,000 ไร่ ชาวบ้านเรียกว่า “พนมกระดอง” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ภูเขากระดอง (เต่า)” ตามรูปลักษณ์ของภูเขาที่คล้ายกระดองเต่า ต่อมาจึงเพี๊ยนเป็น “กระโดง” ในอดีตเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ ที่ชาวบ้านนำสัตว์มาเลี้ยง ต่อมาปี 2521 จังหวัดบุรีรัมย์ จึงเสนอให้ป่าเขากระโดง ในท้องที่ตำบลเสม็ดและตำบลสวายจีก เนื้อที่ 1,450 ไร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองราว 6 กิโลเมตร ขึ้นเป็นวนอุทยาน เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2521 กรมป่าไม้ประกาศให้เขากระโดงเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า อีกปีถัดมา มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง” เพื่อให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูเขาไฟกระโดง
สภาพของภูเขาแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงเนินเขา เป็นป่าเต็ง-รัง มีเนินเขาขนาดเล็ก 2 ลูกติดกันสูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ 85 เมตร ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เนินทางทิศใต้เรียกว่า “เขาใหญ่” ส่วนเนินทางทิศเหนือเรียกว่า “เขากระโดง” หรือ “เขาน้อย” ความสำคัญของผืนป่าแห่งนี้เสมือนเป็นธนาคารอาหารป่า เพราะอุดมไปด้วยพืชอาหารและสมุนไพรนานาประเภทกว่า 100 ชนิด มีเห็ดกินได้กว่า 20 ชนิด นกน้ำและนกป่ากว่า 100 ชนิด สัตว์ที่พบบ่อยคืองูหลาม กระต่ายป่า ไก่ป่า กระรอกบินจิ๋วท้องขาว กระรอกหลากสี นกขุนแผนสีน้ำเงินนกบั้งรอกใหญ่ และนกกระรางหัวหงอก เป็นต้น
"เขากระโดง" เป็น 1 ใน 6 ภูเขาไฟในบุรีรัมย์ ที่ดับมอดมานานนับแสนปี จึงรับรองได้ว่าปลอดภัย ทุกวันนี้ คงเหลือไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของธรรมชาติและป่าไม้ มีพันธุ์ม้หายากอย่าง "ต้นโยนีปีศาจ" หรือที่คนพื้นเมืองเรียกว่า"ต้นหีผี" และอีกหลายๆชื่อ เช่น ต้นมะกอกเผือก ต้นมะกอกโคก โดยภาษาเขมรจะเรียกต้นนี้ว่า ต้นกะนุยขมอย เป็นที่ตั้งของปราสาทหินเขากระโดง สร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย เดิมเป็นปรางค์หินทรายก่อบนฐานศิลาแลงองค์เดียวโดดๆ ฐานสี่เหลี่ยมขนาด 4x4 เมตร มีช่องทางเข้า 4 ด้าน ต่อมาหินดังกล่าวได้พังลง จึงได้มีผู้นำหินมาเรียงขึ้นใหม่แต่ไม่ตรงตามรูปเดิม ต่อมาตระกูลสิงห์เสนีย์ ได้สร้างพระพุทธบาทจำลองมาประดิษฐานไว้ในปราสาท และสร้างมณฑปครอบทับไว้บนปราสาท พร้อมประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
![](https://storage.thaipost.net/main/uploads/photos/big/20210215/image_big_602a314173a52.jpg)
ที่นี่ยังมีจุดชมวิว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐสถานของพระสุภัทรบพิตรจำลององค์ใหญ่ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ ณ จุดชมวิว ให้ผู้คนได้ชมทั้งทิวทัศน์ความงามของเมืองบุรีรัมย์ในมุมสูง และยังได้กราบสักการะพระภัทรบพิตร องค์พระขนาดใหญ่มีหน้าตักกว้าง 12 เมตร ฐานกว้าง 14 เมตร ภายในเศียรบรรจุพระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุ ประทับอยู่ขอบปากปล่องภูเขาไฟ รูปจันทร์เสี้ยว หันหน้าไปทางทิศเหนือเข้าเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล
ไฮไลท์ของเขากระโดง คือ การขึ้นไปถึงปากปล่องภูเขาไฟ แต่เพื่อให้เขาแห่งนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยว"ไม่ว่าใครก็เที่ยวได้"จริงๆ ทางเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ และจังหวัดบุรีรัมย์ได้สร้างสะพานแขวน ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมปากปล่องภูเขาไฟได้อย่างใกล้ชิด และล่าสุดองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้มองเห็นศักยภาพความเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเขากระโดง ยังได้หารือร่วมกับจังหวัดบุรีรัมย์ องค์กรภาคีเครือข่ายในจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ อาทิ ชมรมทูตอารยสถาปัตย์จังหวัดบุรีรัมย์ / ทกจ.บุรีรัมย์ / พมจ.บุรีรัมย์ / ททท. สำนักงานบุรีรัมย์และสำนักงานสุรินทร์ / สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ / สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ / และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูเขาไฟกระโดง เพื่อกำหนดแผนพัฒนา ให้พื้นที่แห่งนี้ เป็น"พื้นที่ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All)" ซึ่งเป็นไปตามแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้
ใครที่มาบุรีรัมย์ นอกจากการเที่ยวชมความงามของปราสาทหินพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ หรือชมความยิ่งใหญ่ของสนาม ‘ช้างอารีน่า’ นักท่องเที่ยวที่แม้ไม่ใช่คอบอล ไม่ควรพลาด แวะไปสัมผัสบรรยากาศ "เขา กระโดง" หรือเยี่ยมเยียน อีกหลายแหล่งท่องเที่ยว ที่หลากกิจกรรม ตามชุมชนต่างๆ ซึ่งจะได้อิ่มเอมกับ อัตลักษณ์และวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนสินค้า และบริการของชุมชนซึ่งจะประทับใจ จนอยากมาอีก.
![](https://storage.thaipost.net/main/uploads/photos/big/20210217/image_big_602c93129d40a.jpg)
![](https://storage.thaipost.net/main/uploads/photos/big/20210215/image_big_602a3162d67a9.jpg)