15ก.พ.64- ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงแห่งหนึ่งของโลก ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่อยู่บนเส้นศูนย์สูตร และสภาพอากาศร้อนชื้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืชหลากหลายสายพันธุ์ ทำให้ที่ผ่านมาไทย มีการค้นพบพืช หรือราแมลง ชนิดใหม่ๆเรื่อยๆ และในปี 2563 โดยนักวิจัยจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ค้นพบราแมลงสายพันธุ์ใหม่ 47 ชนิด ซึ่งเป็นการค้นพบที่มากที่สุดเท่าที่มีการสืบค้น วิจัยราแมลงในช่วง 25ปีที่ผ่านมา ซึ่งริเริ่มโดย ดร.ไนเจล โจนส์ (Dr. Nigel L.H. Jones) ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติซึ่งเป็นนักกีฏวิทยา ได้สำรวจพบราแมลง Hirsutella citriformis (เฮอร์ซูเทลลา ซิตริฟอร์มิส) ก่อโรคบนเพลี้ยกระโดดในแปลงนาข้าวครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ หลังจากนั้นจึงต่อยอดแนวคิดการศึกษาความหลากหลายของราแมลง
"ราแมลง "คืออะไร ราแมลง คือเชื้อราที่ก่อโรคในแมลงและแมง โดยราจะเข้าไปอาศัยในตัวแมลงเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร ราจะค่อยๆ เจริญเติบโตจนแมลงเจ้าบ้านตายในที่สุด และจะพัฒนาโครงสร้างที่ใช้ในการสืบพันธุ์ที่เต็มไปด้วยสปอร์งอกบนซากของแมลง สปอร์รา ที่มีการพัฒนาสมบูรณ์แล้วก็พร้อมเข้าทำลายแมลงเจ้าบ้านตัวใหม่ต่อไป ราแมลงสามารถพบได้ทั้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ และพื้นที่การเกษตรที่ปลอดสารเคมี
ปัจจุบันทีมวิจัยเกี่ยวกับราแมลง ได้ร่วมมือกับนักวิจัยจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมหาวิทยาลัยต่างๆ สำรวจความหลากหลายของราแมลงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่ามีราแมลงมากกว่า 400 ชนิด ทำให้ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของราแมลงมากแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งจากการศึกษาวิจัยพบว่า ราแมลงบางชนิดมีคุณสมบัติในการสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพระดับห้องปฏิบัติการ และสามารถนำมาขยายผลใช้ประโยชน์ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการแพทย์
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า ในการศึกษาวิจัยและค้นพบราแมลง ประเทศไทยนับว่ามีการรวบรวมจำนวนเก็บไว้ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ทางสภาพแวดล้อม ป่าไม้ ทำให้มีความหลากหลายของราแมลง หรือแมลงชนิดต่างๆ ซึ่งราแมลงเหล่านี้จะมีการนำไปทดสอบเพื่อใช้ประโยชน์ในการนำไปกำจัดแมลงศัตรูพืช และดูว่าเป็นอันตรายกับคนหรือไม่ เมื่อนำไปใช้จะได้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
Metarhizium flavum ราแมลงอีกหนึ่งตัวที่โดดเด่น
ดร.เจนนิเฟอร์ เหลืองสอาด ทีมนักวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร (APMT) กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ไบโอเทค ให้ข้อมูลว่า จากการค้นพบราแมลงชนิดใหม่ในปีนี้รวม 47 สปีชีส์ แบ่งเป็นสกุลใหม่ 8 สกุล ถือเป็นการค้นพบราแมลงชนิดใหม่จำนวนมากของโลก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีการค้นพบน้อยกว่านี้ การค้นพบราแมลงชนิดใหม่ สะท้อนถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย โดยราแมลงเปรียบเสมือนเป็นตัวควบคุมสมดุลของระบบนิเวศ ไม่ให้แมลงมีมากเกินไป และไม่มีผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ราแมลงยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นชีวภัณฑ์เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช แทนการใช้สารเคมีได้อีกด้วย
นักวิจัย กล่าวว่า ตัวอย่างความหลากหลายและความโดดเด่นของราแมลงชนิดใหม่ที่พบ เช่น ราในสกุลเมตาไรเซียม พบสปีชีส์ใหม่มากถึง 21 สปีชีส์ และราสกุลบิวเวอเรีย ที่พบสปีชีส์ใหม่ คือ บิวเวอเรีย มิโมสิฟอร์มิส (Beauveria mimosiformis) ซึ่งรากลุ่มนี้สามารถนำมาพัฒนาเป็นสารชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืช (biocontrol) ที่ผ่านมาไบโอเทค สวทช. ได้มีการศึกษาคัดเลือกราแมลงสายพันธุ์ บิวเวอเรีย บาสเซียน่า (Beauveria bassiana) มาพัฒนาเป็นสารชีวภัณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชหลายชนิด โดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง
Petchia siamensis ราแมลงสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่ค้นพบในไทย
ดร.เจนนิเฟอร์ กล่าวเสริมอีกว่า ยังมีเชื้อราในสกุลเมตาไรเซียม (Metarhizium) เป็นกลุ่มราแมลงที่สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ โดยในระยะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ราสร้างสปอร์สีเขียวขึ้นคลุมตัวแมลงเจ้าบ้าน แต่ในระยะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศจะสร้างก้านรางอกจากตัวแมลง มีความสามารถก่อโรคบนแมลงได้หลายชนิด เช่น หนอนผีเสื้อ หนอนด้วง ด้วงตัวเต็มวัย ตัวอ่อนจักจั่น จักจั่นตัวเต็มวัย และเพลี้ยกระโดด ดังนั้นการค้นพบราเมตาไรเซียม และราบิวเวอเรียชนิดใหม่จำนวนมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะค้นหาสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการพัฒนาสารชีวภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ควบคุมแมลงได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการใช้สารเคมีในทางการเกษตร ไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิต และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภค
"ราแมลงที่ค้นพบคราวนี้ มีที่เด่นๆ 2 ตัวก็คือ ราบิวเวอเรีย และราเมตาไรเซียม ทั้งสองชนิดสามารถกำจัดแมลงได้แบบวงกว้าง คือ สามารถกำจัดแมดงได้หลายชนิด ซึ่งจะมีการนำไปศึกษาเพิ่มเติม ราแมลงบางชนิดสามารถสร้างสารสำคัญ ที่ช่วยยับยั้งเชื้อก่อโรคได้ ต้องศึกษากันต่อไป "นักวิจัยกล่าว
Blackwellomyces calendulinus
อย่างไรก็ตาม ราแมลงยังมีอีกหนึ่งสปีชีย์ จีเบลลูลา พิกเมนโตสินัม (Gibellula pigmentosinum) ที่ค้นพบใหม่ สามารถสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต้านการสร้างไบโอฟิล์มของแบคทีเรีย ซึ่งมีศักยภาพอาจนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น ใช้เป็นยาปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มของแบคทีเรีย เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ในอนาคต อีกทั้งยังค้นพบราแมลงชนิดใหม่ในสกุลแบล็กเวลโลไมซีส (Blackwellomyces) และคอร์ไดเซปส์ (Cordyceps) สร้างก้านราสีสดออกจากตัวแมลง พบได้ตามเศษซากใบไม้และขอนไม้ผุ ก่อโรคกับหนอนด้วงและหนอนผีเสื้อ โดยราบางชนิดในสกุลคอร์ไดเซปส์นี้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์แผนจีน (CTM : Chinese Traditional Medicine)
ตัวอย่างราแมลงสกุลใหม่ในประเทศไทย นักวิจัย กล่าวว่า เป็นกลุ่มที่พบได้ค่อนข้างน้อยคือ ราสกุลนีโอทอร์รูบีเอลลา (Neotorrubiella) ค้นพบใหม่ 1 สปีชีส์ ได้แก่ นีโอทอร์รูบีเอลลา ชิงกริดิโคลา (Neotorrubiella chinghridicola) และในสกุลเพตเชีย (Petchia) อีก 1 สปีชีส์ ได้แก่ เพตเชีย ไซแอมเมนสิส (Petchia siamensis) ที่สำคัญยังมีการค้นพบเชื้อรา บิวเวอเรีย มาลาวิเอนสิส(Beauveria malawiensis ) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และพบระยะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของเชื้อรา บิวเวอเรีย เอเชียติกา (Beauveria asiatica) เป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย ทั้งยังค้นพบแมลงเป้าหมายของเชื้อรา บิวเวอเรีย กริลโลทัลพิดิโคลา(B. gryllotalpidicola) เพิ่มเติม ได้แก่ หนอนผีเสื้อและด้วง นอกเหนือจากที่เคยศึกษาพบแต่เดิมคือ แมลงกระชอน ซึ่งยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพราะราแมลงบางชนิดสามารถสร้างสารสำคัญที่ช่วยยับยั้งเชื่อก่อโรคได้
สำหรับรายชื่อสกุลและสปีชีส์ของราแมลงที่ค้นพบใหม่ 47 สปีชีส์ ได้แก่ Metarhizium 21 สปีชีส์; Metarhizium biotecense, M. candelabrum, M. cercopidarum, M. cicadae, M. clavatum, M. culicidarum, M. eburneum, M. ellipsoideum, M. flavum, M. fusoideum, M. gryllidicola, M. huainamdangense, M. megapomponiae, M. niveum, M. nornnoi, M. ovoidosporum, M. phasmatodeae, M. phuwiangense, M. purpureonigrum, M. purpureum และ M. sulphureum Purpureomyces 2 สปีชีส์; Purpureomyces maesotensis และ P. pyriformis Blackwellomyces 4 สปีชีส์; Blackwellomyces aurantiacus, B. roseostromatus, B. calendulinus, B. minutus
และ Cordyceps 5 สปีชีส์; Cordyceps brevistroma, C. inthanonensis, C. neopruinosa, C. parvistroma, C. araneae Neotorrubiella 1 สปีชีส์; Neotorrubiella chinghridicola Petchia 1 สปีชีส์; Petchia siamensis Beauveria 1 สปีชีส์; Beauveria mimosiformis Gibellula 4 สปีชีส์; Gibellula cebrennini, G. fusiformispora, G. pigmentosinum และ G. scorpioides Akanthomyces 3 สปีชีส์; Akanthomyces noctuidarum, A. pyralidarum, และ A. tortricidarum Ophiocordyceps 5 สปีชีส์; Ophiocordyceps campes, O. longistromata, O. phuwiangensis, O. krachonicola, O. kobayasii
ทีมวิจัยราแมลงจากไบโอเทค สวทช.