ทรัมป์รอดมติถอดถอน แต่ไม่รอดวิบากกรรมการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

    นี่คือพาดหัวประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่ง
    ประวัติศาสตร์บันทึกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกและคนเดียวที่ถูกไต่สวนเพื่อถอดถอน (Impeachment) สองครั้ง
    และรอดทั้งสองครั้ง
    แต่รอดพร้อมรอยตำหนิที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต
    ครั้งที่สองที่เพิ่งลงมติไปเมื่อเช้ามืดวันอาทิตย์ (เวลาบ้านเรา) นั้นคือ 57-43 
    โดยมีสมาชิกวุฒิสภาฝั่งรีพับลิกัน 7 คนแปรพักตร์มายกมือไม่เอาทรัมป์กับฝ่ายเดโมแครต
    ถือเป็นปรากฏการณ์หยามหน้าทรัมป์อย่างเปิดเผย
    แต่ "งูเห่า" เพียง 7 ตัวไม่พอที่จะ "ถอดถอน" ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญการจะปลดประธานาธิบดีได้ต้องได้เสียง 2  ใน 3 ของสภาสูง
    ขาดไปอีก 10 เสียงจากฝั่งรีพับลิกัน
    แต่ก็สร้างความแตกแยกในพรรคนี้ได้อย่างรุนแรงพอสมควร
    ทีมทนายของทรัมป์เสนอหลักฐานสู้คดี ใช้เวลาเพียง 3  ชั่วโมงเศษๆ ในการแย้งข้อกล่าวหาทั้งๆ ที่มีโควตาถึง 16  ชั่วโมง 
    ในช่วง 2 วันก่อนหน้านี้ ส.ส.พรรคเดโมแครตเสนอข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะคำปลุกเร้าของทรัมป์บนเวทีผู้ชุมนุมในวันที่ 6 มกราคม 
    ส.ส.ผู้กล่าวหายืนยันว่า วาทะร้อนแรงของทรัมป์เป็นสาเหตุที่ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนบุกเข้ายึดอาคารรัฐสภาในขณะที่วุฒิสภาสหรัฐฯ กำลังดำเนินกระบวนการรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่
    วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน 3 คน คือ ลินด์ซีย์ แกรห์ม จากรัฐเซาท์แคโรไลนา, เท็ด ครูซ จากรัฐเทกซัส และไมค์  ลี จากรัฐยูทาห์ ซึ่งมีหน้าที่เป็นสมาชิกคณะลูกขุนในการไต่สวนคดีนี้ ได้ร่วมประชุมกับทีมทนายของทรัมป์ ซึ่งออกจะเป็นเรื่องที่ไม่ปกตินัก
    หนึ่งในทนายของทรัมป์อ้างว่า ส.ว.ทั้งสามต้องการเพียงแต่จะช่วยอธิบายให้คณะทนายคุ้นเคยกับกระบวนการต่างๆ  ก่อนเข้าร่วมการไต่สวนในวันศุกร์เท่านั้นเอง
    มีข่าวหลุดออกมาว่าทรัมป์ไม่ค่อยพอใจกับการทำงานของทนายชุดนี้ ซึ่งเข้ามาทำงานต่อจากทนายชุดแรกที่มีปัญหาจนต้องขอไขก๊อกก่อนการไต่สวนจะเริ่มขึ้นด้วยซ้ำ
    อัยการที่มีหน้าที่ยื่นเรื่องถอดถอนต่อสมาชิกวุฒิสภาในวันพฤหัสบดี ตั้งประเด็นกล่าวหาว่ามีหลักฐานที่ "ชัดแจ้งและมากมายหลากหลาย" บ่งชี้ว่าทรัมป์จงใจปลุกระดมให้เกิดจลาจล ด้วยการยุยงส่งเสริมให้ผู้สนับสนุนตนบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาเพื่อเผชิญหน้ากับสมาชิกรัฐสภา 
    ทั้งๆ ที่สมาชิกรัฐสภากำลังปฏิบัติหน้าที่รับรองผลการเลือกตั้งที่ชี้ว่า ทรัมป์แพ้โจ ไบเดน ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
    หนึ่งใน ส.ส.ที่ชื่อ เจมี แรสกิน จากรัฐแมริแลนด์ ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าทีมยื่นเรื่องถอดถอนแถลงปิดว่า 
    วุฒิสมาชิกทั้ง 100 คนที่ทำหน้าที่เป็นลูกขุนในคดีนี้ควรใช้ "สามัญสำนึกพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้น" 
    และย้ำว่าทรัมป์ "นิ่งเฉยเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง" โดยไม่ทำอะไรให้สถานการณ์ยุติ หลังเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนของตนออกร่วมเดินขบวน 
    จนเปิดทางให้ผู้บุกรุกเหล่านั้นบุกเข้ามาในอาคาร  ทุบกระจกหน้าต่าง รื้อค้นสิ่งของในห้องที่ทำงานต่างๆ และปะทะกับตำรวจ 
    เหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่า "การก่อการร้ายในประเทศ" วันนั้นจบลงด้วยการเสียชีวิตของคน 5 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำอาคารรัฐสภา 1 นาย
    ส.ส.แรสกินและสมาชิกทีมถอดถอนอีก 8 คน ซึ่งเป็นสมาชิกสภาล่างสังกัดพรรคเดโมแครตทั้งหมดใช้เวลาราว 12  ชั่วโมงตลอดช่วง 2 วัน นำเสนอข้อมูลและหลักฐานเอาผิดทรัมป์อย่างละเอียด
    เช่น โพสต์ทวิตเตอร์ของทรัมป์หลายสิบข้อความที่ออกมาก่อนการเลือกตั้ง 
    เป็นข้อความที่ทรัมป์ยืนยันตอกย้ำว่า ถ้าตนแพ้ไบเดนก็จะมีเหตุผลเดียว นั่นคือมีการทุจริตการเลือกตั้ง 
    ที่ดูเหมือนจะสร้างความฮือฮาเพิ่มเติมไม่น้อยคือ วิดีโอคลิปที่แสดงให้เห็นภาพผู้ก่อจลาจลบุกเข้ามาในพื้นที่อาคารรัฐสภา และมีบางตอนที่มีเสียงตะโกนให้ "จับ (อดีตรอง ปธน.ไมค์) เพนซ์ แขวนคอซะ" ด้วย 
    อีกทั้งผู้ก่อเหตุบางรายถึงกับบุกเข้าไปในห้องที่ทำงานของประธานสภาล่าง แนนซี เพโลซี โดยมีการกล่าวหาว่าอาจจะมีเป้าประสงค์เพื่อหวังจะสังหารเธออีกด้วย
    ทีมทนายความของทรัมป์โต้ว่า วาทะของอดีตผู้นำสหรัฐฯ บนเวทีผู้ชุมนุมในเช้าวันที่ 6 มกราคมที่ว่า "Fight  like Hell" (ให้สู้ยิบตา) เป็นเพียงวาทะทางการเมืองที่ย่อมได้รับการปกป้องภายใต้บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ  ฉบับที่ 1 เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น
    หาใช่การยั่วยุเพื่อให้เกิดความรุนแรงแต่ประการใด
    ท้ายที่สุดเมื่อมีการลงมติ ทรัมป์ก็รอด...แต่รอดอย่างไม่รอด เพราะเขายังต้องเผชิญวิบากกรรมเรื่องคดีต่างๆ รวมถึงการถูกประณามหยามเหยียดจากประชาชนหลายกลุ่มหลายเหล่าอีกต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"