เผือกร้อนต่ออายุปปช. สนช.ลังเลยื่นตีความหวั่นเข้าเนื้อศาลรัฐธรรมนูญ


เพิ่มเพื่อน    

สนช.ลังเลยื่นศาล รธน.ตีความปมต่ออายุป.ป.ช.ขัดรัฐธรรมนูญ หลัง "มีชัย" สะกิด "พรเพชร" แต่ไม่โต้แย้ง แฉเหตุ สนช.ยึกยัก หวั่นศาล รธน.ลำบากใจหากวินิจฉัยว่าขัดจะย้อนกลับมาที่การต่ออายุตัวเอง 5 คนขัด รธน.เช่นกัน แต่หากชี้ว่าไม่ขัดอาจถูกมองว่าผลประโยชน์ทับซ้อน เผย กรธ.กังวลสุ่มเสี่ยงขัด รธน. ผ่านไปถึงขั้นตอนทูลเกล้าฯ ถวายอาจเป็นเรื่องมิบังควร   ขณะที่สำนักวุฒิฯ ช่วยปกปิดรายชื่อสมาชิกลงมติ อ้างอยากได้ทำหนังสือมา
    เมื่อวันพฤหัสบดี มีรายงานจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่าภายหลังที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.....นั้น เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในประเด็นการต่ออายุให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ชุดปัจจุบัน เพราะ สนช.ได้ยกเว้นลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แก่ประธานและกรรมการ ป.ป.ช. 
    ล่าสุด แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ป.ป.ช.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่โต้แย้ง แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ห่วงใยในประเด็นดังกล่าว ประกอบกับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 ยังเปิดช่องให้สมาชิก สนช. 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิก สนช.เท่าที่มีอยู่ สามารถเข้าชื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น 
    ขณะนี้มีรายงานว่า สมาชิก สนช.บางส่วนมีความเคลื่อนไหวจะเข้าชื่อเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว แต่ก็มีความคิดเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งมองว่าจะเป็นการฟอกตัวเอง ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าควรยื่นเพื่อให้ปัญหาสะเด็ดน้ำ ซึ่งทำให้สมาชิกจำนวนดังกล่าวกำลังชั่งน้ำหนักว่าจะเคลื่อนไหวต่อหรือไม่ อย่างไร
    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ (รธน) 002/2561 ถึงประธาน สนช. เรื่องร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. … ใจความตอนหนึ่งระบุว่า กรธ.ประชุมปรึกษาหารือกันเมื่อวันที่ 4 ม.ค.แล้วเห็นว่า ผู้แทน กรธ.ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้ชี้แจงแถลงเหตุผลและข้อห่วงกังวลของ กรธ. เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 185 แห่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้ชัดเจนแล้วว่า ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รวมทั้งในชั้นการพิจารณาของ สนช.ในวาระที่ 2 และ 3 แต่ สนช.มีมติเสียงข้างมากว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 1/2560 ดังนั้น กรธ.จึงไม่มีความเห็นเพิ่มเติม 
    "อย่างไรก็ตาม กรธ.ยังคงมีความห่วงกังวลอย่างมากว่าบทบัญญัติดังกล่าวอาจมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2560 นั้น ไม่ครอบคลุมถึงการยกเว้นลักษณะต้องห้ามในบทหลักตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่การที่จะวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นหน้าที่และอำนาจโดยตรงของศาลรัฐธรรมนูญ กรธ.จึงไม่โต้แย้ง โดยเป็นดุลยพินิจของ สนช.ที่จะพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีต่อไป" หนังสือของนายมีชัยระบุ 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุผลที่สมาชิก สนช.ยังลังเลไม่ตัดสินใจจะยื่นหรือไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจาก 1.กังวลว่าจะเป็นการฟอกตัวเองให้บริสุทธิ์ เพราะหากเกิดปัญหาในอนาคต สนช.จะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ 2.หากยื่นไปแล้วก็เกรงจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรู้สึกอึดอัด หากตัดสินว่าการต่ออายุให้ ป.ป.ช.โดยยกเว้นลักษณะต้องห้ามไม่ขัดรัฐธรรมนูญ อาจเกิดความไม่สง่างาม เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเองก็ได้รับการยกเว้นและได้ต่ออายุเช่นเดียวกัน ทั้งที่บางคนก็มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ และ 3.สนช.ยังเห็นว่าหากยื่นไปจะเป็นการซ้ำเติมภาพลักษณ์ของ ป.ป.ช. ที่สังคมมองว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลและ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งมายังไม่เคยชี้มูลความผิดบุคคลใน คสช.
    อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่สังเกตว่าภายหลังที่ สนช.เห็นชอบวาระ 3 ของร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ในวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยปกติจะต้องมีการติดประกาศอย่างเปิดเผยเพื่อให้สาธารณชนได้ตรวจสอบผลการลงมติการลงคะแนนและรายชื่อของ สนช. โดยเฉพาะในประเด็นบทเฉพาะเรื่องการต่ออายุ ป.ป.ช.ว่าเป็นเช่นไร แต่ปรากฏว่าเมื่อตรวจสอบกลับไม่พบการประกาศดังกล่าว และได้สอบถามยังสำนักงานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ สนช. ได้ชี้แจงว่าได้ติดและนำออกไปแล้ว แต่หากต้องการประกาศดังกล่าว ให้ทำหนังสือแจ้งความต้องการมาเป็นลายลักษณ์อักษร
    ขณะที่แหล่งข่าวจากรัฐสภาอีกรายเปิดเผยเช่นเดียวกันว่า กรณีที่ กรธ.ไม่มีความเห็นแย้งไปยัง สนช. เพียงแต่แสดงข้อห่วงใยนั้น เพราะเกรงว่าเรื่องดังกล่าวถ้ามีการส่งให้กับศาลรัฐธรรมนูญตีความจะสร้างความลำบากให้กับศาลรัฐธรรมนูญเอง เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อครั้งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุม สนช.ได้มีมติต่ออายุให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนอยู่ต่อจนครบ 9 ปี หากมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยประเด็นเรื่องการต่ออายุของกรรมการ ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญจะกล้ารับเรื่องหรือไม่ หากรับแล้วจะวินิจฉัยเช่นไร เพราะอาจถูกมองเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้
    "เหมือนเป็นการสร้างความลำบากใจให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะมีคนย้อนว่า การต่ออายุให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นกัน ก็มีอันต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือถ้าวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะถูกมองในผลประโยชน์ทับซ้อนได้" แหล่งข่าวระบุ
    แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม สนช. ในวาระ 3 แล้ว คาดว่าคงไม่มีการตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย เพราะ กรธ.เองก็ไม่ได้ขอให้แก้ไขอะไรตามที่นายมีชัยมีหนังสือถึงประธาน สนช.ไปว่าไม่ได้ติดใจอะไร แต่มีความเป็นกังวลอย่างมากเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงทาง กรธ.เองมีความไม่สบายใจอย่างมาก เพราะหากกฎหมายฉบับนี้ที่มีเนื้อหาสุ่มเสี่ยงว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญผ่านไปถึงขั้นตอนทูลเกล้าฯ ถวายอาจเป็นเรื่องมิบังควร
    ทั้งนี้ ปมปัญหาดังกล่าวที่มีการถกเถียงกันคือ  มาตรา 178 ของร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ซึ่งต่อมาปรับแก้เป็นมาตรา 185 ที่กำหนดให้ ป.ป.ช. ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อจนครบวาระ 9 ปี หรืออายุครบ 70 ปี ตามกฎหมายเดิม แม้ปัญหาโต้แย้งที่มีอยู่เดิม ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้ว่า สนช.มีอำนาจทำได้ก็ตาม แต่ข้อที่เพิ่มเติมให้ยกเว้นข้อต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่าหากเคยเป็นกรรมการองค์กรอิสระหรือข้าราชการการเมืองยังไม่ครบ 10 ปี ต้องห้ามมิให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. เท่ากับเขียนกฎหมายลูกยกเว้นกฎหมาย แม่คือรัฐธรรมนูญ เป็นการเขียนกฎหมายเพื่อตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.26 วรรคสอง 
         ด้าน ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สมาชิก สนช.ที่เคยอภิปรายคัดค้านร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ..... ควรทำหน้าที่ของตนเองให้ครบถ้วน โดยการเข้าชื่อส่งร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่า สมาชิก สนช.เป็นผู้ที่มีหลักการและมีอิสระในการทำหน้าที่ ไม่เช่นนั้นสังคมจะสงสัยได้ว่า ในเมื่อก่อนหน้านี้ สมาชิก สนช.ส่วนหนึ่งเคยอภิปรายคัดค้านร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวอย่างดุเดือด แต่พอตอนนี้มีช่องทางให้สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ แล้วทำไมจึงไม่ทำหน้าที่ต่อให้จบ หรือว่ามีใบสั่งให้ปล่อยผ่านเรื่องนี้กันแน่ ควรสร้างความชัดเจนให้สังคมเห็นด้วย เพื่อความโปร่งใสของกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว และประชาชนจะได้เห็นว่าสมาชิก สนช.มีความเป็นตัวของตัวเองด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"