ระเบิดศึกซักฟอก ฝ่ายค้านขู่เปิดแผลรัฐบาล ลาก 3 ป.ขึ้นเขียงรอถล่ม


เพิ่มเพื่อน    

            ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญประจำปีครั้งที่สองเป็นพิเศษ ตั้งแต่วันอังคารที่ 16 ก.พ.ถึงวันศุกร์ที่ 19 ก.พ. จะเป็นการประชุมสภาเพื่อพิจารณาเรื่องด่วน

            “ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล”

            ของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ จำนวน 208 คน เป็นผู้เสนอ ที่ได้ยื่นญัตติขอซักฟอกรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันรวม 10 ชื่อดังนี้

            1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

            2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

            3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข

            4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

            5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

            6.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ

            7.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

            8.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

            9.นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย

            10.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์      

            และภายหลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลงจะมีการนัดประชุมสภาเพื่อลงมติ "ไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ” ในวันเสาร์ที่ 20 ก.พ.ต่อไป

            นับถอยหลังก่อนวันเปิดสนามดวลแข้งทำศึกซักฟอกพบว่า ทางฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างเตรียมพร้อมกันเต็มที่ เพราะฝ่ายพลเอกประยุทธ์และ 9 รมต. ที่ก็คือในนามรัฐบาล คงไม่ยอมให้ตัวเองโดนฝ่ายค้าน "เรียงหน้าสับ" จนเละเป็นโจ๊ก-กลายเป็นลูกไล่ให้ฝ่ายค้านถลุงเล่นกลางสภาสี่วันสี่คืน จนเสียเครดิต หมดอนาคตทางการเมือง หากโดนต้อนกลางสภาแล้วชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านไม่ได้จะทำให้กลายเป็นชนักติดหลัง เสียเครดิตทางการเมืองได้ เสี่ยงอาจกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จนเกิดกระแสสังคมไม่ยอมรับ จนอาจนำไปสู่การถูกปรับ ครม. ยิ่งหากข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านซัดเป้า-ทิ่มตรงเข้าไปที่เรื่อง

            “ทุจริตประพฤติมิชอบ-ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง-ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”

            โดยการอภิปรายของฝ่ายค้านมีข้อมูลน้ำหนักน่าเชื่อถือ แล้วรัฐมนตรีที่โดนกล่าวหาชี้แจงไม่ขึ้น ประชาชนฟังแล้วเชื่อน้ำหนักการอภิปรายของฝ่ายค้านมากกว่ารัฐมนตรีคนดังกล่าว ก็เสียหายทางการเมืองได้

            ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องรัดกุมพอสมควรในการทำศึก เพราะเรื่องเสียงในสภาตอนนี้ถือว่าหายห่วง รัฐบาลหมดปัญหาเสียงปริ่มน้ำไปแล้ว เสียง ส.ส.รัฐบาลเกินกึ่งหนึ่งมาหลายสิบเสียง ถือว่ามีความเข้มแข็งอย่างมาก ผนวกกับด้วยเรื่องเงื่อนไขทางการเมือง ที่แนวทางการเมืองของฝ่ายค้านกับรัฐบาลต่างกันสุดขั้ว และไทม์มิงยังไม่เหมาะที่พรรคร่วมรัฐบาลจะแตกคอกันเอง จึงยิ่งทำให้การโหวตเสียงไว้วางใจในพรรคร่วมรัฐบาลไม่น่าจะมีการแตกหักกันในพรรคร่วมรัฐบาล แย่สุดก็คงแค่อาจมีรัฐมนตรีบางคนที่ได้คะแนนเสียงไว้วางใจน้อยกว่ารัฐมนตรีคนอื่นเท่านั้น

            การเตรียมพร้อมของรัฐบาลก่อนขึ้นทำศึก ก็มีการติวเข้มอย่างเป็นทางการไปแล้วหนึ่งวัน กับการสัมมนารัฐมนตรีและ ส.ส.รัฐบาล ที่จัดขึ้นช่วง 13-14 ก.พ. ที่โรงแรมแมริออท สุขุมวิท โดยวันอาทิตย์ที่ 14 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสุดท้าย จะเริ่มในเวลา 09.00 น.เป็นต้นไปจนถึงช่วงเย็น 

            ด้านพรรคร่วมฝ่ายค้าน “สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน-แกนนำหลักในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้” ชี้ชัดๆ ว่า การอภิปรายครั้งนี้ ข้อมูลของฝ่ายค้านบนหน้าตักที่เห็น ดูแล้วรัฐมนตรีบางคนอาการน่าเป็นห่วงไม่น้อย ขณะที่สามแกนนำรัฐบาลที่เกาะกลุ่มเหนียวแน่นกันมาตั้งแต่รัฐบาล คสช. คือ พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย หรือที่แวดวงการเมืองเรียกขาน "3 ป. แกนนำรัฐบาล” ที่สังคมจับตามองว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่ยาวหรือไปก่อนเวลา ก็อยู่ที่ 3 ป. จึงเป็นธรรมดาที่ฝ่ายค้านหากต้องการทุบรัฐบาลให้ตัวเขียว ก็ต้องพุ่งเป้าไปที่การถล่ม 3 ป.ให้หนักหน่วง

            ทาง "ประธานวิปฝ่ายค้าน" ได้ย้ำว่า รอบนี้ 3 ป.จะถูกฝ่ายค้านอภิปรายหนักหน่วงกว่ารอบที่แล้ว เพราะคราวที่แล้วตอนอภิปรายเมื่อปี 2563 ยังไม่หนักเท่าไหร่ แต่รอบนี้หนัก อย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีข้อมูลและประเด็นการอภิปรายเยอะมาก เพราะโดยหลักนายกฯ ต้องรับผิดชอบหลักอยู่แล้ว กับการไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศของรัฐบาล ฝ่ายค้านจะอภิปรายให้เห็นว่าสาเหตุที่ทำไมการบริหารงานถึงไม่มีประสิทธิภาพ ที่เริ่มตั้งแต่วิธีคิดของนายกรัฐมนตรีที่มันผิดเพี้ยน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลว การอภิปรายจะชี้ให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีคิดยังไงถึงทำให้การบริหารประเทศของรัฐบาลผิดพลาด หรือเรื่องของทัศนคติที่มีต่อประเทศชาติ ประชาชน เพื่อนร่วมชาติ

            "เรื่องของการทุจริต เอื้อพวกพ้องก็มี การขาดจริยธรรมก็มี เรื่องของการไม่รับผิดชอบ เรื่องของจริยธรรมผู้นำประเทศที่บกพร่อง ทุจริตเยอะ เอื้อพวกพ้องก็เยอะ โดยสรุปแล้วก็คือมันคือความล้มเหลวที่พลเอกประยุทธ์เป็นผู้นำมา 7 ปี แล้วมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยืนยันว่าสำหรับนายกฯ รอบนี้หนักกว่ารอบที่แล้ว เพราะความผิดมันสะสมมานาน"

            “สุทิน” บอกว่า ขณะที่บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร สำหรับรายนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัด แต่ก็เป็นความผิดจากการกำกับดูแล แม้อาจไม่ได้เกี่ยวโดยตรง แต่เป็นเรื่องของการให้เกิดเรื่องราวไม่เป็นผลดีต่อการบริหารประเทศและทางการเมือง ไปบิดเบือนโครงสร้างระบบบริหารราชการบางอย่าง ขณะที่พลเอกอนุพงษ์ก็มีหลายเรื่องที่จะถูกอภิปราย ที่เป็นเรื่องของการทุจริตชัดเจน เอื้อพรรคพวก

            “เราอภิปรายเพื่อจะเปิดแผล ถึงกระทั่งว่าอภิปรายจบแล้ว รัฐบาลจะทนพิษบาดแผลไม่ไหว” ประธานวิปฝ่ายค้านระบุก่อนทำศึกซักฟอก

            แน่นอนว่า ผลพวงการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่สามารถทำให้รัฐนาวาบิ๊กตู่ล้มลงได้ เพราะด้วยจำนวนเสียง ส.ส.ในสภาที่มากกว่าฝ่ายค้าน แต่การสู้กันทางการเมืองครั้งนี้ 1 นายกฯ-9 รมต. ก็ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนด้วย เพราะหากข้อมูลของฝ่ายค้านที่อภิปรายกล่าวหารัฐมนตรีมีน้ำหนัก ทำให้ประชาชนเห็นด้วยคล้อยตาม โดยรัฐมนตรีบางคนไม่สามารถชี้แจงได้ แล้วไม่ถูกปรับออก มันก็อาจทำให้ประชาชนขาดการยอมรับในตัวรัฐบาลตามมาได้ เพราะแม้รัฐบาล-รัฐมนตรีชนะเสียงโหวตไว้วางใจในสภา แต่หากไม่ชนะใจประชาชน มันก็ยากที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปแบบยาวๆ ได้แบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว.

....................................................................................

ล้อมกรอบสกรีนพื้น

เปิดข้อกล่าวหาซักฟอก3ป.

-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

            บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรม จริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ไร้จิตสำนึกและความรับผิดชอบ มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง ท่ามกลางภาวะที่ประชาชนดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก และมีการระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว ทั้งหมดเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดของตนเอง มีการใช้อำนาจแลกผลประโยชน์ทำให้การทุจริตแพร่กระจายไม่ต่างจากโรคระบาด จนได้ชื่อว่าเป็นยุคที่การทุจริตเฟื่องฟู เบ่งบานมากที่สุด ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง ไม่มีความรอบคอบ ระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ มุ่งประโยชน์แต่การสร้างความนิยมชมชอบให้กับตนเอง โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ สร้างความแตกแยกในสังคม ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และทำลายผู้เห็นต่าง ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน ปล่อยปละละเลยให้มีบ่อนการพนันกระจายไปทั่ว

            ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง ละเมิดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และสิทธิมนุษยชน ทำลายระบบคุณธรรมในระบบราชการ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดินของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง

-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

            ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับตนเอง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและพวกพ้อง ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

-พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

            บริหารราชการแผ่นดินโดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม แต่กลับใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง ใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อวางแผนในการทุจริตอย่างเป็นระบบและแยบยล ปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง ใช้อำนาจด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เสียสละ ไม่เปิดเผย แต่กลับปกปิดการกระทำความผิดของตนและบุคคลแวดล้อม ไม่ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่องอย่างร้ายแรง ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"