ชาวเมารีแห่งนิวซีแลนด์


เพิ่มเพื่อน    

          การประชุมสภาผู้แทนราษฎรของบ้านเราในปัจจุบันสามารถแต่งชุดประจำกลุ่มชาติพันธุ์ ชุดชาวเขาประยุกต์ หรือชุดตามสมัยนิยมเข้าประชุมและลุกขึ้นกล่าวอภิปรายได้ แต่ในนิวซีแลนด์ สมาชิกผู้ทรงเกียรติของพวกเขาที่ไม่ได้ผูกเนคไทกลับถูกประธานสภาไล่ออกจากห้องประชุม

            เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา “ราวีรี ไวตีตี” หัวหน้าพรรคเมารี ส.ส.นิวซีแลนด์ ผู้มีรอยสักแบบเมารีอยู่เต็มใบหน้า ถูก “เทรเวอร์ มัลลาร์ด” ประธานสภา ห้ามไม่ให้กล่าวอภิปรายในห้องประชุมด้วยเหตุผลที่เขาไม่ได้ผูกเนคไท ข้อบังคับการประชุมของสภานิวซีแลนด์ระบุชัดว่า “ไท” คือส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายที่เหมาะสม

            หัวหน้าพรรคเมารีสวมสร้อยหยกบ่งบอกความเป็นชาวเมารีแทนการผูกไท หลังจากเพื่อน ส.ส.กล่าวกับประธาน สนับสนุนให้เขาได้พูด “ไวตีตี” ก็ลุกขึ้นอีกครั้ง ผลลัพธ์เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือถูกท่านประธานไล่ออกจากห้องประชุม

            ขณะเดินออกได้ยินเสียงเขาพูดชัดเจนโดยไม่ต้องใช้ไมโครโฟนว่า “It’s not about ties, it’s about cultural identity mate ไม่เกี่ยวกับไทหรอก มันคืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่างหากล่ะพวก”

            ไวตีตีให้สัมภาษณ์หลังออกจากห้องประชุมว่า “โพอุนามุ” หรือสร้อยหยกนิวซีแลนด์คือไทของเครื่องแต่งกายแบบเมารี “นี่คือไทของผม นี่คือไทของชาวเมารี”

            ปีที่แล้วเขาเคยผูกไท (จริงๆ) ของชาวตะวันตกเข้าประชุม ลุกขึ้นใช้มือข้างหนึ่งดึงไทสีเลือดหมูขึ้นให้ดูคล้ายลักษณะคนถูกแขวนคอหรือถูกล่าม กล่าวอภิปรายว่า “มันคือบ่วงของนักล่าอาณานิคม”

            สภาของนิวซีแลนด์ (มีสภาผู้แทนสภาเดียว ไม่มีวุฒิสภา) ชุดปัจจุบัน โดยภาพรวมแล้วมีลักษณะความหลากหลายสูงมาก มีสมาชิกสุภาพสตรี 48 เปอร์เซ็นต์ สมาชิกที่มีความหลากหลายทางเพศสภาพ 11 เปอร์เซ็นต์ สมาชิกชาวเมารี 21 เปอร์เซ็นต์ ชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก 8.3 เปอร์เซ็นต์ และชาวเอเชีย 7 เปอร์เซ็นต์ มีการเรียกร้องให้สามารถแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมของตัวเอง และสำหรับสมาชิกสุภาพบุรุษแล้วก็ไม่ต้องผูกไท ทว่าท่านมัลลาร์ด ประธานสภา (บรรพบุรุษมาจากอังกฤษ) เคยบอกว่าสมาชิกส่วนใหญ่ได้มีจดหมายถึงท่านให้คงระเบียบเดิมไว้

            ฝ่าย “จาซินดา อาร์เดิร์น” นายกรัฐมนตรี กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ฉันไม่คิดว่าชาวนิวซีแลนด์จะสนใจเรื่องเนคไท”

            อีก 2 วันหลังจาก ส.ส.เมารีถูกไล่ออกจากห้องประชุมสภาได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับประเด็นการแต่งกายนี้โดยเฉพาะ คณะกรรมาธิการไม่สามารถมีมติออกมาได้ แต่ส่วนสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าควรปลด “ไท” ออกไปจากระเบียบการแต่งกายที่เรียกว่า appropriate business attire

            ท่านมัลลาร์ดจึงกล่าวว่า “ในฐานะประธานสภา ผมได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมาธิการให้ประกาศว่า “ไท” ไม่ได้ถูกบังคับให้เป็นส่วนหนึ่งของการแต่งกายที่เหมาะสมอีกต่อไปแล้ว” เป็นอันว่าจากนี้ไป ส.ส.นิวซีแลนด์ไม่จำเป็นต้องผูกไทเข้าประชุมสภา

            รู้จักชาวเมารีในนิวซีแลนด์

            ชาวเมารีนั้นไม่เหมือนชาวอะบอริจินัลในออสเตรเลียที่อยู่บนดินแดนเดิมของพวกเขามาอย่างน้อย 5 หมื่นปี ชาวเมารีมีบรรพบุรุษอยู่บนเกาะไต้หวัน และได้เดินทางออกหาดินแดนใหม่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เมื่อประมาณ 5 พันปีก่อนสู่หมู่เกาะเมลานีเซีย จากนั้นไปตั้งรกรากอยู่ตามเกาะต่างๆ ในหมู่เกาะโพลีนีเซียที่กระจัดกระจายอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ซามัว ตองกา ฮาวาย เกาะอีสเตอร์ เป็นต้น

            ประมาณปี ค.ศ.1280 ถึง 1320 ชาวเมารีกลุ่มแรกล่องเรือคานูขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “วากา” มายังเกาะเหนือของนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน ไม่มีหลักฐานพบอารยธรรมอื่นอยู่ก่อนหน้านั้น หลักฐานทางโบราณคดีและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ชี้ว่าการอพยพตั้งรกรากหลักๆ ครั้งแรกเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1230-1350 ตรงกับถ้อยคำบอกเล่ารุ่นต่อรุ่นอันเป็นวิถีของชาวเมารี วันเวลาผ่านไปหลายศตวรรษพวกเขาได้มีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ภาษา ศิลปะด้านต่างๆ งานฝีมือ และอื่นๆ จนมีความโดดเด่นในตัวเองแยกจากกลุ่มโพลีนีเซียนดั้งเดิมที่ยังอยู่ตามเกาะเล็กเกาะน้อย

            ชาวเมารีมีอยู่หลายเผ่า แต่ละเผ่าแยกออกเป็นตระกูลครอบครัว บางครั้งเป็นมิตร ร่วมไม้ร่วมมือกันดี แต่บางครั้งก็แย่งชิง และต่อสู้กัน พวกเขาดำรงชีพด้วยการหาปลา ล่าสัตว์บกและสัตว์ปีก สัตว์บางชนิดถูกพวกเขาล่าจนสูญพันธุ์ เช่น นกโมอา สัตว์ปีกขนาดใหญ่ที่บินไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานความโหดร้ายป่าเถื่อนถึงขั้นฆ่าคนต่างเผ่าและเอาเนื้อมากินเป็นอาหาร

            ปี ค.ศ.1642 “อาเบล แทสมัน” ยอดนักเดินเรือชาวดัตช์มาถึงดินแดนแห่งนี้ ก่อนจะตั้งชื่อว่า Nieuw-Zeeland ตามชื่อแคว้น Zeelandในฮอลแลนด์ เมื่อเป็นภาษาอังกฤษก็เรียกว่า New Zealand ส่วนภาษาเมารีเขียนด้วยอักษรโรมันว่า Nu Tireni ปัจจุบันใช้ชื่อ Aotearoa

            การมาถึงของนักเรือชาวดัตช์ครั้งนั้น ลูกเรือของแทสมันถูกชาวเมารีฆ่าไป 4 คน ขณะที่ชาวเมารีตายไป 1 คน หลังจากนั้นอีกกว่าร้อยปีถึงได้มีชาวยุโรปเดินทางมาถึงอีกครั้ง นั่นคือ “กัปตัน เจมส์ คุก” ในปี ค.ศ.1769 โดยได้เดินเรือทำแผนที่จนครบรอบเกาะ ต่อมามีนักเดินเรือจากยุโรปและอเมริกาเหนือเดินทางมากันอีกเป็นระยะเพื่อล่าปลาวาฬ ล่าแมวน้ำ และค้าขายกับชาวเมารี

            สินค้าสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ต่อชาวเมารีคือปืนคาบศิลา เพราะชาวเมารีนั้นต่อสู้ระหว่างเผ่ากันเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เมื่อมีอาวุธที่ก้าวหน้าอย่างปืนคาบศิลาก็ทำให้พวกเขายิ่งรบกันมากกว่าเดิม พวกเขายอมแลกข้าวของมากมายกับปืนกระบอกเดียว และเผ่าที่ไม่มีปืนก็ถูกฆ่าหรือถูกจับเป็นทาสเป็นจำนวนมาก กว่าจะมีปืนกันทั่วทุกเผ่าจนทำให้อำนาจมีความสมดุลระหว่างกัน ชาวเมารีทั้งหลายตายไปประมาณ 3-4 หมื่นคนในช่วง 40 ปีแรกของคริสต์ทศวรรษที่ 19 จากการรบพุ่งกันมากกว่า 600 ครั้ง เรียกสงครามยาวนานนี้ว่า “สงครามปืนคาบศิลา” หรือ Musket Wars

                ความขัดแย้งและสงครามกับนักล่าอาณานิคม

            ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเมารีและผู้เข้ามาตั้งรกรากจากอังกฤษในช่วงแรกๆ ไม่ค่อยถึงขั้นเอาชีวิตกันมากนัก กระทั่งปี ค.ศ.1809 เรือขนาดใหญ่ชื่อ Boyd แล่นจากออสเตรเลียหมายเข้าไปหาไม้ซุงในนิวซีแลนด์ ถูกชาวเมารีฆ่าตายไปราว 60 คน นำไปสู่การแก้แค้นกันไปมาหลังจากนั้น

            อย่างไรก็ตาม เป็นฝ่ายหัวหน้าเผ่าต่างๆ ของชาวเมารีที่ร้องขอไปยังพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 แห่งอังกฤษให้เป็นผู้ปกป้องนิวซีแลนด์ด้วยเหตุผลว่ามีนักเดินเรือเข้ามามากและสร้างความวุ่นวายไม่จบสิ้น บริษัท New Zealand Company มีแผนจะตั้งเขตอิสระขึ้นที่เวลลิงตัน รวมถึงฝรั่งเศสก็กำลังจะเข้าตั้งรกรากในเกาะใต้ ทางอังกฤษจึงตั้ง “เจมส์ บัสบี” ให้เป็นตัวแทนรัฐบาล บัสบีสนับสนุนให้ชาวเมารียืนยันอำนาจของพวกเขา ทำให้หัวหน้าเผ่าต่างๆ ร่วมลงนามประกาศเอกราชของตัวเองในปี ค.ศ.1835 มีมิชชันนารีและพ่อค้าอังกฤษลงชื่อเป็นพยาน จากนั้นส่งไปให้กษัตริย์อังกฤษรับรอง

            ต้นปี ค.ศ.1840 อังกฤษและชาวเมารีลงนามใน “สนธิสัญญาไวตังกี” อังกฤษประกาศอำนาจการปกครองเหนือดินแดนนิวซีแลนด์ทั้งหมด ชาวเมารีได้สิทธิ์ครอบครองที่ดิน ป่าไม้ การทำประมง เพื่อแลกกับการเป็นพลเมืองของอังกฤษ ฝ่ายอังกฤษก็สามารถสกัดการตั้งอาณานิคมของฝรั่งเศส ได้รับสิทธิ์ในการซื้อที่ดินจากชาวเมารีเป็นพวกแรก จากนั้นก็ได้สนับสนุนให้ประชาชนชาวอังกฤษเดินทางไกลมาตั้งรกรากในนิวซีแลนด์เป็นจำนวนมาก จนประชากรของพวกเขามีถึงประมาณ 5 แสนคนในนิวซีแลนด์เมื่อถึงปี ค.ศ.1881

            ความต้องการที่ดินที่มากขึ้นทำให้เกิดความขัดแย้งกัน เริ่มจากเหตุการณ์ที่เรียกว่า Wairau Affray ในปี ค.ศ.1843 แล้วก็นำไปสู่สงครามการต่อสู้ระหว่างกันที่ยาวนานหลายปี เรียกกันในภายหลังว่า New Zealand Wars (ค.ศ.1845-1872)

            ช่วงแรกๆ ของสงคราม ฝ่ายเมารีดูจะได้เปรียบเพราะกำลังของอังกฤษยังมีไม่มาก ชาวเมารีชำนาญพื้นที่และมีความสามารถในการรบเป็นทุนอยู่แล้ว แต่เมื่อถึงช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1860 ฝ่ายล่าอาณานิคมได้เรียกกำลังเสริมมาจากทุกทิศ จนถึงเวลาหนึ่งมีกำลังรวมกันสูงสุดถึงประมาณ 18,000 คน ประกอบด้วยกองกำลังจากอังกฤษ จากออสเตรเลีย จากรัฐบาลนิวซีแลนด์ ชาวอาณานิคมอาสาช่วยรบ และฝ่ายเมารีเองที่ปันใจไปช่วยรัฐบาลนิวซีแลนด์ ขณะที่ฝ่ายเมารีมีกำลังรบมากสุดอยู่ที่ประมาณ 5,000 คน

            การสู้รบครั้งนองเลือดที่สุดเรียกว่า “การบุกไวกาโต” ผู้ว่าการนิวซีแลนด์ในเวลานั้นนาม “เซอร์จอร์จ เกรย์” ส่งหนังสือไปขอกำลังจากสำนักงานอาณานิคมในกรุงลอนดอน 10,000 นาย โดยนายพล “เซอร์ดังเคิน แคเมรอน” เป็นผู้นำทัพ เขาได้สร้างถนนยาว 18 กิโลเมตรไปยังเขตไวกาโตของชาวเมารี (ใกล้ๆ เมืองโอ๊กแลนด์) “เซอร์เกรย์” ได้ประกาศเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1863 ให้ชาวเมารีระหว่างโอ๊กแลนด์ถึงไวกาโตยอมเปล่งวาจาแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ไม่เช่นนั้นจะถูกขับไล่ออกไปจากดินแดน ชาวเมารีไม่ปฏิบัติตามการโจมตีจึงเกิดขึ้นและกินเวลานานหลายเดือน

            “เซอร์แคเมรอน” ได้จำนวนผู้ร่วมทัพสูงสุดราว 14,000 คน รวมทั้งเรือรบหลายลำสำหรับใช้ในแม่น้ำไวกาโต ฝ่ายเมารีมีนักสู้ประมาณ 4,000 คน การรบครั้งนี้จบลงในเดือนเมษายน 1864 ฝ่ายอังกฤษตายไปถึงประมาณ 700 คน ฝ่ายเมารีสังเวยไปมากกว่าที่ราวๆ 1,000 คน พวกเขาต้องถอยหนีเข้าไปยังเขตกันดารชั้นในของเกาะเหนือ และถูกยึดที่ดินไปประมาณ 12,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ

            ท้ายสุดแล้วฝ่ายเมารีไม่อาจต้านทานได้ ถือว่าแพ้พ่ายในสงคราม เสียชีวิตไปรวมกันมากกว่า 2,100 คน ฝ่ายอังกฤษตายไปราว 800 คน มากไปกว่านั้น ชาวเมารีทั้งที่เป็นศัตรูและภักดีต่อฝ่ายอังกฤษโดนยึดที่ดินรวมกันประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตร

            การมีส่วนร่วมทางการเมืองของชาวเมารี

            การเลือกตั้งทั่วไปในนิวซีแลนด์เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1853 หลังจากรัฐสภาอังกฤษผ่านกฎหมายให้นิวซีแลนด์ปกครองตนเองได้ การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรจัดให้มีขึ้นทุกๆ 3 ปี ชาวเมารีได้รับโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมครั้งแรกในการเลือกตั้งปี ค.ศ.1868 ซึ่งกำหนดไว้ 4 เขต สำหรับ 4 ที่นั่งที่เป็นของชาวเมารีโดยเฉพาะจากทั้งหมด 70 ที่นั่งทั่วประเทศ ในเขตอื่นๆ ไม่มีสิทธิ์โหวต หรือไม่ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งไม่ได้เป็นเมารี ต่อมาแม้จะมีสิทธิ์ลงคะแนน แต่กฎหมายกำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้นที่มีสิทธิ์ โดยกรรมสิทธิ์ในที่ดินของชาวเมารีนั้นเป็นของชุมชน ทำให้ 1 ชุมชนมีชาวเมารีออกเสียงได้แค่ 1 คนเท่านั้น

            ชาวเมารีเริ่มมีพรรคการเมืองของพวกเขาเองในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่สุดท้ายมักจะถูกกลืนหรือผนวกเข้ากับพรรคการเมืองใหญ่ ชาวเมารีสามารถลงสมัครเป็นผู้แทนนอกเขตเมารีได้ในปี ค.ศ.1967 และในปี ค.ศ.1975 พวกเขาสามารถเลือกได้ว่าจะออกไปใช้สิทธิ์ในเขตเมารีหรือเขตอื่น

            เวลาผ่านไปมีนักการเมืองชาวเมารีเข้าไปสังกัดในพรรคการเมืองกระแสหลักมากขึ้น เช่น พรรคเนชันแนล และพรรคแรงงาน ทำให้มี ส.ส.ชาวเมารีในสภามากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อระบบปาร์ตี้ลิสต์ถูกนำมาใช้ในการเลือกตั้งปี ค.ศ.1996 และในช่วงเวลานี้ได้เกิดพรรคการเมืองของชาวเมารีขึ้นใหม่หลายพรรค เพราะพวกเขามองว่าการเข้าไปอยู่ในพรรคใหญ่ไม่สามารถผลักดันประเด็นการต่อสู้เรียกร้องของชาวเมารีได้ตามความต้องการ

            ในปัจจุบันยังคงมีเขตเลือกตั้งสำหรับชาวเมารีโดยเฉพาะเพิ่มขึ้นเป็น 7 เขต สำหรับ 7 ที่นั่ง (จากทั้งหมด 120 ที่นั่งในสภา) ทว่าผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งจะมาจากเชื้อชาติใดก็ได้ โดยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 17 ตุลาคมปีที่แล้ว มี ส.ส.ที่เป็นชาวเมารีรวมกันในสภาถึง 25 คน คิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ของ ส.ส.ทั้งหมดในสภา ขณะที่ทั้งประเทศมีประชากรเมารีเพียง 16.5 เปอร์เซ็นต์ จากประชากรทั้งหมดของประเทศราว 5 ล้านคน

            อย่างไรก็ตาม นอกจากจำนวนตัวเลขผู้แทนในสภาแล้ว สภาพความเป็นอยู่ทั่วไปของชาวเมารียังคงไม่สู้ดีนัก ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงานมากเกือบเป็น 2 เท่าของอัตรารวมทั้งประเทศ จำนวนนักโทษในเรือนจำเป็นชาวเมารีเสียครึ่งหนึ่งของทั้งหมด

            อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของนิวซีแลนด์ในเวลานี้คือ มีผู้ไร้บ้านจำนวนมาก แม้ว่าบางคนจะมีงานทำแต่ไม่สามารถหาบ้านอยู่ได้ เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลา 10 ปี (ค.ศ.2008-2018) ทำให้นิวซีแลนด์ในปัจจุบันมีคนไร้บ้านประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด หรือราวๆ 5 หมื่นคน เป็นอัตราส่วนที่มากที่สุดในบรรดาประเทศร่ำรวย 35 ชาติแรกของโลก

            ในจำนวนประมาณ 5 หมื่นคนที่ไร้บ้านนี้ มีชาวเมารีอยู่ถึง 48 เปอร์เซ็นต์.

 

********************

 

อ้างอิง :

 

- nzhistory.govt.nz/politics/parliaments-people/maori-mps

 

- en.wikipedia.org/wiki/M%C4%81ori_politics

 

- en.wikipedia.org/wiki/New_Zealand_Wars

 

- en.wikipedia.org/wiki/M%C4%81ori_people

 

- en.wikipedia.org/wiki/History_of_New_Zealand

 

- en.wikipedia.org/wiki/M%C4%81ori_electorates

 

- teara.govt.nz/en/torangapu-maori-and-political-parties

 

- borgenproject.org/homelessness-in-new-zealand/

 

- theguardian.com/world/commentisfree/2019/nov/22/on-every-issue-important-to-maori-this-government-is-failing

 

- theguardian.com/world/2021/feb/11/new-zealand-male-mps-no-longer-have-to-wear-ties-after-maori-mp-ejected

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"