ระเบิดศึกซักฟอก หวังเปิดแผลรัฐบาล


เพิ่มเพื่อน    

 ศึกซักฟอก หวังเปิดแผลรัฐบาล เป้าใหญ่รอถล่ม 3 ป.กลางสภา  

            การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลรวม  10 คน ที่รวมถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะระเบิดศึกกลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้านี้ 16-19 ก.พ. และลงมติในวันเสาร์ที่ 20 ก.พ. แม้ก่อนหน้านี้จะมีความเคลื่อนไหวของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นำโดยไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่จะเคลื่อนไหวเสนอญัตติให้ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ มีมติยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยญัตติของฝ่ายค้าน ที่มีการระบุถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมสภาสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้มีการพิจารณาญัตติดังกล่าวแต่อย่างใด

            ความพร้อมของพรรคร่วมฝ่ายค้านในศึกซักฟอกรอบนี้ โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำฝ่ายค้าน สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน-แกนนำหลักในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ย้ำว่า ภาพรวมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ ฝ่ายค้านจะอภิปรายแบบกระชับ ทั้งกระชับเรื่องตัวบุคคลที่จะอภิปรายและกระชับเนื้อหา แต่ให้ได้สาระและเป้าหมาย อีกทั้งจำนวน ส.ส.ที่จะอภิปรายจะลดลงจากการอภิปรายรอบที่แล้วเมื่อปี 2563 แต่เนื้อหาการอภิปรายไม่ไว้วางใจยืนยันได้ว่าไม่น้อย ซึ่งเมื่อจำนวน ส.ส.ที่จะอภิปรายลดลง ก็จะทำให้ผู้อภิปรายแต่ละคนมีเวลาการอภิปรายมากขึ้น หลังจากรอบที่แล้วฝ่ายค้านใช้ผู้อภิปรายเยอะ แต่ได้เวลาการอภิปรายคนละไม่มาก ทำให้เนื้อหาการอภิปรายเป็นเบี้ยหัวแตก แต่รอบนี้ ส.ส.ฝ่ายค้านแต่ละคนได้เวลาการอภิปรายกันพอเหมาะ อย่างน้อยได้คนละไม่ต่ำกว่า 30 นาที ก็ทำให้การอภิปรายได้คุณภาพ ส่วนรูปแบบอาจมีการปรับบ้าง เช่นจากเดิมครั้งที่แล้วมีการมอบหมายให้ผมเป็นคนอภิปรายสรุปปิดท้าย แต่ครั้งนี้ให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เป็นผู้กล่าวสรุปปิดอภิปราย

            การอภิปรายจะเปิดด้วยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภา ที่จะอ่านญัตติการอภิปรายทั้งหมด จากนั้นก็จะโปรยประเด็นไว้เล็กน้อย  แล้วผมก็จะลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนที่ 2 ถัดจากผู้นำฝ่ายค้าน โดยจะเป็นการอภิปรายแบบขยายความ เป็นลักษณะภาพรวมเนื้อหาการอภิปรายทั้งหมด เน้นชี้เป้าเป็นจุดๆ  เป็นประเด็นๆ แล้วจากนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านแต่ละคนก็อภิปรายขยายความ จนถึงวันสุดท้ายที่ นพ.ชลน่านจะอภิปรายสรุปปิด

                "เปรียบเทียบให้เห็นก็คือ ผมจะเป็นเหมือนกับเครื่องบิน คอยบินชี้เป้า จากนั้นจะมีฝูงบินต่ำเข้าถล่มเก็บรายละเอียด แล้ววันสุดทายหมอชลน่านก็เก็บกวาด สำหรับตัวผมจะสรุปประเด็นจากเพื่อนทุกคนในฝ่ายค้าน เอามาร้อยเรียงเป็นสตอรี ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวด้านต่างๆ จนนำมาสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และสาเหตุของความล้มเหลว ที่อยู่กับตัวนายกฯ และ รมต. 9 คน แต่ละคนมีความล้มเหลวอย่างไร อะไรคือสาเหตุ-จุดอ่อนรัฐมนตรีแต่ละคน เช่น รัฐมนตรีคนนี้ทุจริต แล้วทุจริตเรื่องอะไร จะชี้ให้เห็น  รัฐมนตรีคนนี้บกพร่อง ทำงานไร้ประสิทธิภาพ จะบอกให้ประชาชนเห็นว่าไร้ประสิทธิภาพอย่างไร จะชี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมเป็นเคสๆ"

            โดยเนื้อหาการอภิปรายภาพรวมก็คือ ความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะความล้มเหลวในการบริหารงานเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งจริงๆ ก็ล้มเหลวทุกด้าน เรื่องสังคมด้วยก็ชัดเจน การเมืองก็ชัดเจน และความล้มเหลวเรื่องการรับมือกับโควิด-19

            สำหรับกรอบเวลาในการอภิปราย ฝ่ายค้านเราตกลงกับวิปรัฐบาลว่าขอให้เราอภิปราย 42 ชั่วโมง นอกเหนือจากนั้นรัฐบาลจะใช้เวลาอภิปรายเท่าไหร่ก็เชิญ แต่ก็คุยกันเบื้องต้นว่าน่าจะจบภายใน 4 วัน แล้วโหวตวันเสาร์ที่ 20  ก.พ.

            ส่วนของพรรคเพื่อไทยกับการเตรียมพร้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ พรรคเพื่อไทยจะมี ส.ส.ลุกขึ้นอภิปรายประมาณ 15 คนบวกลบ โดยมีทีมบริหารสถานการณ์อยู่ 5 ทีม 1.ทีมวอร์รูม พวกทีมวิชาการ ทีมที่ปรึกษา 2.ทีมผู้อภิปราย ทีมนักรบ 3.ทีมประท้วงตอบโต้ ตัดเกม 4.ทีมคอยแถลงข่าว ขยายความ 5.ทีมโซเชียลมีเดีย โดยทั้ง 5 ทีมจะประจำการที่รัฐสภาตลอด 5 วันของการอภิปรายและลงมติ

                -3 แกนนำรัฐบาล หรือ 3 ป. การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้เป็นอย่างไร ข้อมูลที่จะใช้ซักฟอกแต่ละคน?

            คิดว่าหนัก คราวที่แล้วยังไม่หนักเท่าไหร่ แต่รอบนี้หนัก หนักที่สุดในทัศนะเรา แต่ทัศนะคนอื่นไม่แน่ใจ อย่าง  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พบว่ามีข้อมูลและประเด็นการอภิปรายเยอะมาก  เพราะโดยหลักนายกฯ ต้องรับผิดชอบหลักอยู่แล้ว กับการไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศของรัฐบาล ฝ่ายค้านจะอภิปรายให้เห็นว่า สาเหตุที่ทำไมการบริหารงานถึงไม่มีประสิทธิภาพ ที่เริ่มตั้งแต่วิธีคิดของนายกรัฐมนตรีที่มันผิดเพี้ยน ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลว การอภิปรายจะชี้ให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีคิดยังไง ถึงทำให้การบริหารประเทศของรัฐบาลผิดพลาด หรือเรื่องของทัศนคติที่มีต่อประเทศเทศชาติ ประชาชน เพื่อนร่วมชาติ

            "เรื่องของการทุจริต เอื้อพวกพ้องก็มี การขาดจริยธรรมก็มี เรื่องของการไม่รับผิดชอบ เรื่องของจริยธรรมผู้นำประเทศที่บกพร่อง ทุจริตเยอะ เอื้อพวกพ้องก็เยอะ  โดยสรุปแล้วมันก็คือความล้มเหลวที่พลเอกประยุทธ์เป็นผู้นำมา 7 ปี แล้วมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยืนยันว่าสำหรับนายกฯ รอบนี้หนักกว่ารอบที่แล้ว  เพราะความผิดมันสะสมมานาน"

            ส่วน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สำหรับรายนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัด แต่ก็เป็นความผิดจากการกำกับดูแล แม้อาจไม่ได้เกี่ยวโดยตรง  แต่เป็นเรื่องของการทำให้เกิดเรื่องราวไม่เป็นผลดีต่อการบริหารประเทศและทางการเมือง ไปบิดเบือนโครงสร้างระบบบริหารราชการบางอย่าง ขณะที่ พลเอกอนุพงษ์  เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็มีหลายเรื่องที่จะถูกอภิปราย  ที่เป็นเรื่องของการทุจริตชัดเจน เอื้อพรรคพวก

            ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การที่ฝ่ายค้านยื่นซักฟอกทั้งนายกรัฐมนตรีและ รมต.ร่วมรัฐบาลอีก 9 คนดังกล่าว ก่อนหน้านี้พรรคร่วมฝ่ายค้านแต่ละพรรคเก็บข้อมูลกันมานานหลายเดือนมาก จนเมื่อใกล้ช่วงยื่นญัตติ เราก็สำรวจข้อมูลที่แต่ละพรรคมีว่ามีประเด็นอะไรบ้าง มีกรรมการไปกลั่นกรองมาตามลำดับ รายชื่อรัฐมนตรีที่เห็นว่าควรอภิปรายก็มีลดลงบ้างเพิ่มขึ้นบ้าง ช่วงแรกๆ ก็ยังไม่นิ่ง จนสุดท้ายก็นิ่งที่นายกฯ กับ 9 คนดังกล่าว

            ...อย่างบางคนที่ไม่เคยเป็นข่าวมาก่อนแล้วมีชื่อ เช่น  ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ก็เพราะมี ส.ส.ฝ่ายค้านพรรคอื่นเขาติดตามอยู่ ซึ่งจริงๆ เรื่องในกระทรวงคมนาคมมีเยอะ เช่นเรื่องการต่อสัญญาโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ ก็ไปเก็บไปตามข้อมูล จนได้ประเด็นมา บางเรื่องอาจไม่เคยเป็นข่าวมาก่อน ก็ยืนยันได้ว่าในส่วนของกระทรวงคมนาคมประเด็นข้อมูลเข้มข้น ส่วน ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ การอภิปรายอาจมีข้อมูลบางเรื่องที่เป็นข้อมูลเดิมที่เคยอภิปรายรอบที่แล้ว เพราะฝ่ายค้านได้เตือนได้บอกให้ไปปรับปรุงแก้ไข แต่ก็ยังทำต่อเนื่อง ก็ต้องอภิปรายอีกในเคสเดิม แต่การกลับมาพูดประเด็นนั้นอีกไม่ใช่การพูดซ้ำ แต่เป็นการติดตามว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว อาจดูเหมือนมีเรื่องเก่า แต่เรื่องใหม่ก็เยอะ  เพราะของเขามีทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่ผสมกัน เรื่องเก่าแต่พฤติกรรมไม่เปลี่ยนก็ต้องอภิปราย ขณะที่ ณัฏฐพล  ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ฝ่ายค้านก็พบหลายเรื่อง  เช่นกรณีที่ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาไม่คืบหน้า รวมถึงบางอย่างที่กฎหมายชี้และบังคับให้ทำ-ก็ไม่ทำ และยังมีเรื่องของเอื้อพวกพ้อง การใช้กระทรวงไปทำฐานการเมือง ก็มี ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คนจะอภิปราย รมว.ศึกษาธิการ

                -ข้อกล่าวหาตามญัตติของฝ่ายค้านที่ว่าหนักหน่วงรุนแรง ยืนยันได้ว่าข้อมูลที่จะอภิปรายแน่นหนา  ไม่ได้ตั้งขึ้นมาแบบลอยๆ ทุกเรื่องมีใบเสร็จ?

            แม้ไม่มีใบเสร็จ แต่อภิปรายแล้วคนจะเชื่อได้ว่าเป็นจริง แต่ส่วนที่มีใบเสร็จก็มี แต่ใบเสร็จบางอย่างมันไม่ได้เป็นแบบใบเสร็จที่มีรูปเล่ม แต่เป็นใบเสร็จของสถานการณ์  ผลพวงมรรคผลของการบริหาร ที่ชี้ให้เห็นว่าสิ่งนี้คือใบเสร็จของการบริหารงานของรัฐบาลที่ผิดพลาด

                -การยื่นญัตติซักฟอกรอบนี้ มีรัฐมนตรีที่เป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในส่วนของประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยรวมอยู่ด้วย จะทำให้เกิดการต่อรองกันในพรรคร่วมรัฐบาลตอนโหวตเสียงไว้วางใจหรือไม่?

            การต่อรองอะไรก็เป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาล แต่ว่าการจะมาต่อรองอะไรกันได้ มันก็มีมูลเหตุอยู่ เพราะคุณ (รัฐมนตรี) อ่อนแอ ถึงมีการต่อรอง การทำงานของฝ่ายค้านเราไม่ได้มองเรื่องกลเกมการเมืองอะไร แต่เราหวังว่าเมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้นลง มันควรได้เกิดประโยชน์กับบ้านเมือง เพราะการจะไปล้มรัฐบาล มันล้มไม่ได้ เพราะเสียง ส.ส.รัฐบาลเขาเยอะ แต่ก็หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นบ้าง สิ่งที่ต้องการเห็นก็คือ  อย่างเบาที่สุดรัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการมองปัญหา  ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหาร หลังอภิปรายเสร็จสิ้นลง ก็หวังให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น เพราะหากเกิดขึ้นมันก็มีความหวังต่อประเทศ

            อันที่สอง เราก็คิดว่าอย่างน้อยต้องมีการปรับเรื่องตัวบุคคลในคณะทำงานฝ่ายรัฐบาล ที่ก็คือการปรับคณะรัฐมนตรี เราจึงจะชี้ให้เห็นว่าควรปรับใครบ้าง ก็มีอยู่ด้วยกัน 9 คน เราก็จะชี้ให้เห็นว่าไม่ไหว อย่างน้อยที่สุดตัวรัฐมนตรีก็ควรต้องปรับออก แล้วประเทศชาติจะดีขึ้น ส่วนระดับสูงสุดก็คือเปลี่ยนรัฐบาล

            คนก็มองว่าฝ่ายค้านไม่ฉลาด ทำไมไม่อภิปรายนายกรัฐมนตรีคนเดียว จะได้ทำให้มันดูหนักแน่นขึ้น ซึ่งก็ใช่  หากคิดจะล้มอย่างเดียวก็ต้องทำแบบนั้น แต่เราคิดว่าเมื่อล้มไม่ได้ก็ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง อย่างน้อยที่สุดก็คือการปรับ ครม. เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการบริหารประเทศมันดีขึ้น แล้วประชาชนก็จะอบอุ่นใจได้ว่าการทำงานของฝ่ายค้านมีผล เราควบคุมกำกับตรวจสอบได้อย่างมีผล

เชื่อโหวตไว้วางใจมีเสียงแตก

            สุทิน-แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน วิเคราะห์สถานการณ์ต่อไปว่า ข้อมูลการอภิปรายของฝ่ายค้านน่าจะทำให้ ส.ส.รัฐบาลด้วยกันเองหนักใจ งานนี้ที่แน่ๆ รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทั้งหมดไม่มีทางได้คะแนนเท่ากัน เสียงการลงคะแนนที่จะออกมาจะมีนัยสำคัญว่า ส.ส.รัฐบาลเขาไม่ไว้ใจใคร โดยแม้คะแนนการโหวตจะออกมาโดยรัฐมนตรีผ่านการไว้วางใจ แต่คะแนนจะสื่อให้เห็นว่าเขาไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ดังนั้นคะแนนจะออกมาไม่เท่ากัน กระจัดกระจายแน่ บางคนเสียงไว้วางใจจะหายไปเยอะเลย เพราะเราอภิปรายเพื่อจะเปิดแผล ทำให้ประชาชนได้เล็งเห็น ทำให้รัฐบาลได้รู้ตัว ได้ปรับปรุงแก้ไข จนถึงกระทั่งว่าอภิปรายจบแล้วรัฐบาลจะทนพิษบาดแผลไม่ไหว ก็ตายเลย เพราะการอภิปรายรอบนี้ดูแล้วหนักกว่าปีที่แล้วแน่นอน

            หลังการอภิปรายจบสิ้นลง รัฐมนตรีคนใดที่เข้าข่ายการทุจริตหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ฝ่ายค้านจะรวบรวมพยานหลักฐานยื่นต่อองค์กรต่างๆ เช่น คณะกรรมการ  ป.ป.ช., ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา หรือศาลรัฐธรรมนูญ โดยหลังอภิปรายเสร็จสิ้น ฝ่ายค้านจะมาดูกันอีกรอบหนึ่งว่าจะไปช่องทางไหน เช่นอาจยื่น ป.ป.ช.เลยก็ได้ โดยก็ต้องดูคำชี้แจงของรัฐมนตรีคนนั้นด้วย หากเขาชี้แจงได้ก็อาจไม่ยื่น  แต่ถ้าไม่เคลียร์ก็ต้องยื่น

            ขณะที่เรื่องการประสานงานระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ผ่านมาก็ถือว่าดี เพราะอย่างรอบที่แล้วต้องยอมรับว่าเราอ่อนประสบการณ์ในเรื่องนี้ อย่างเพื่อไทยก็เป็นฝ่ายค้านน้องใหม่ ฝ่ายค้านหัดขับ เช่นเดียวกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ ก็ฝ่ายค้านหัดขับป้ายแดงหมดเลย ส่วนกรณี ส.ส.งูเห่าในฝ่ายค้าน เมื่อก่อนรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ ก็มีการซื้อ ตลาดงูเห่าก็คึกคัก แต่ตอนนี้เสียงรัฐบาลเกินกึ่งหนึ่งมาเยอะแล้ว ทำให้ตลาดงูเห่าก็ซบเซา ก็อาจมีอยู 1-2 ตัวเดิมที่เราก็รู้อยู่แล้ว เราก็ไม่นับกัน ส่วนการลงโทษหากมีใครไม่ปฏิบัติตามมติพรรค ก็มีอยู่แต่ต้องยอมรับว่าหากไปลงโทษทางการเมือง มันก็จะไปเข้าทางฝ่ายรัฐบาล เตะหมูเข้าปากหมา หากไล่ออกทันที มันก็ไปอยู่กับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเราก็จะขาดทุน ก็เลยมีการคาดโทษกันภายใน ซึ่งดูอาจเบาแต่จริงๆ ไม่ได้เบา

                -ถ้าฝ่ายค้านอภิปรายข้อมูลหนักแน่น ประชาชนขานรับ แต่ไม่มีการปรับ ครม. หรือบางคนที่ชี้แจงไม่ถูกปรับออก จะเป็นอย่างไร?

            แบบนั้นนายกรัฐมนตรีก็ต้องไปเอง ถึงตอนนั้นจะไปลงที่นายกฯ หากนายกฯ ไม่กล้าตัดแขนตัดขา ตัดนิ้วร้ายออก ก็จะตัดคอนายกรัฐมนตรีเลยทีนี้ ก็คือวิกฤติศรัทธาก็จะมาที่ตัวนายกฯ ประชาชนจะบอก โอ้โห ขนาดนี้แล้วยังมาคอยอุ้มกัน คนเขาคิดได้ คนเขามีความรู้สึก

                -เรื่องโควิดรัฐบาลมักบอกเป็นผลงานในการป้องกัน และหลายประเทศก็ชื่นชม เมื่อเร็วๆ นี้ต่างประเทศก็บอกไทยได้อันดับ 4 ในการป้องกันควบคุมโควิด ถ้าเรื่องนี้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ดีจะโดนย้อนกลับได้หรือไม่?

            คงไม่ เพราะถ้าเราเป็นรัฐบาลเราอาจทำได้ดีกว่านี้ก็ได้ เราอาจทำให้ประเทศไทยได้อันดับที่ดีกว่า ได้อันดับ 3  อันดับ 2 ของโลก เพราะเรื่องนี้การอภิปรายจะบอกให้เห็นถึงว่ามันมีต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เรื่องโควิดระบาดรอบสอง ต้นน้ำของปัญหามันเกิดจากรัฐบาลหรือไม่ มันเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ หรือเป็นความผิดพลาด อ่อนแอ หรือเจตนา จนทำให้เกิดระบาดรอบสอง ส่วนกลางน้ำก็คือ การแก้ปัญหาโควิดถึงตอนนี้ทำได้ผลหรือไม่ ทั้งการควบคุม  การเยียวยา ทำไมตัวเลขการติดเชื้อต่างๆ ไม่เห็นมันลด  แล้วปลายน้ำก็คือ จะมีหลักประกันอะไรให้คนไทยหรือไม่ว่าอนาคตต่อไปจะรอด

            การระบาดโควิดในขณะนี้มาจากใคร มันไม่ได้เป็นเหตุสุดวิสัย มันเกิดจากการที่รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้คนทุจริต ให้คนหากิน รัฐบาลหากินจากเบี้ยบ้ายรายทาง จนทำให้แรงงานเถื่อนทะลัก แล้วก็ยังปล่อยให้มีการเปิดบ่อนการพนัน บ่อนเลยกลายเป็นตัวแพร่เชื้อโควิด เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องของประชาชน แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลเป็นต้นเหตุเพราะหละหลวม เป็นต้นน้ำ และในอนาคตอะไรจะเป็นหลักประกัน อย่างเรื่อง วัคซีน เมื่อไหร่คนไทยจะได้วัคซีนมาฉีดกัน และจะได้หรือไม่ได้

            ประธานวิปฝ่ายค้าน ย้ำในตอนท้ายว่า อยากบอกกับประชาชนว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมาก เพราะเป็นระบบการตรวจสอบกลางสภาที่ฝ่ายค้านจะแสดงให้ประชาชนเห็น การตรวจสอบด้วยระบบดังกล่าวจะทำให้ไม่ว่าใครก็ตามที่จะมาเป็นรัฐบาลได้รู้ว่า คุณจะไปแอบทำอะไรไม่ชอบมาพากลไม่ได้ จะไปคิดทำอะไรตามใจตัวเองก็ไม่ได้ เพราะสักวันหนึ่งเขาจะมาขึงพืดคุณกลางสภา อีกทั้งจะทำให้รัฐบาลต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานตลอดเวลา  ประชาชนก็ได้ประโยชน์

            ประชาชนอย่าเพิ่งไปคิดว่าฝ่ายค้านที่เก่งต้องล้มรัฐบาลให้ได้อย่างเดียว อย่าไปคาดหวังอย่างนั้น ฝ่ายค้านยุคนี้เราคิดว่าเราไม่ได้คิดว่าเราค้านเพื่อจะไปล้มเขา แต่เราค้านเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ดี ซึ่งแน่นอนการเปลี่ยนแปลงที่ดีก็คือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ไม่ได้หมายถึงจะต้องมุ่งไปยังจุดนั้นจุดเดียวจนหลับหูหลับตา และอยากให้ประชาชนเปลี่ยนรสนิยมการเมืองเล็กน้อย  จากเดิมการอภิปรายต้องดุเดือดเลือดท่วมจอ ฮาร์ดคอร์ทั้งหลาย ยุคนี้อาจไม่ใช่ เราจะอภิปรายด้วยข้อมูลพยานหลักฐาน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน อาจไม่ใช่อย่างที่เคยเห็น แต่จะหนักแน่นด้วยข้อมูลและการกดดันที่หนักแน่น เกิดการเปลี่ยนแปลงได้แน่นอนแม้อาจไม่ดุเดือดเลือดท่วมจอ

            ...ส่วนเรื่องการลงคะแนนเสียงที่จะออกมา ก็อย่าไปคาดหวังมาก เพราะมันไม่ใช่ตัวชี้วัดที่หวังได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมเชื่อว่าข้อมูลที่ออกมา การรับรู้จากประชาชนจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้  รัฐบาลอาจจะยกมือชนะในสภา แต่ในอดีตรัฐบาลที่ชนะในสภาหลายครั้งก็ไปไม่รอด เช่น ส.ป.ก.4-01 หรือเรื่องการโกงเงินแบงก์บีบีซี ที่บางครั้งชนะในสภา แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดเพราะเกิดวิกฤติศรัทธา

 

ล้มแก้ รธน.ระวังคนลุกฮือ

            นอกจากนี้ สุทิน-ประธานวิปฝ่ายค้าน ยังกล่าวถึงกรณีมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อ 9 ก.พ.ที่ให้ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  มาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยระบุว่า การส่งเรื่องดังกล่าวทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อจากนี้มีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะหากส่งไปแล้วศาลรัฐธรรมนูญเกิดรับคำร้อง อาจทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุด ทำให้ความตึงเครียดทางการเมืองก็จะเกิด จนล่อแหลมที่อาจนำไปสู่การล้มกระดาน จนทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจบข่าว จนการเคลื่อนไหวการเมืองบนท้องถนนอาจกลับมาได้ ถ้าถึงตอนนั้นก็ไม่รู้เป็นใครจะมาบ้าง อาจไม่ใช่กลุ่มเดิม เพราะประชาชนก็มีความหวังในเรื่องนี้ หลังมีการนำการแก้ไข รธน.เข้าสู่ระบบ แต่พอระบบล้มก็ไม่ต้องใช้ระบบแล้ว

            ...หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัย อาจทำให้การโหวตวาระต่างๆ ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เช่นวาระสามที่อาจจะเคยนัดประชุมโหวตกัน สุดท้ายอาจหยุดลงเพราะไม่มีใครกล้าโหวต หรือที่ประชุมอาจจะโหวตให้ร่างแก้ไข รธน.ตกไป แต่การทำให้ร่างแก้ไข รธน.ตกไป ดูแล้วศาลรัฐธรรมนูญมีเกราะกำบัง  เพราะหากจะทำให้ร่าง รธน.ตกไปในวาระสาม พวก ส.ส.หากใจไม่ด้านพอก็ทำไม่ได้ มันต้องฝืนมติมหาชน ต้องใจด้านพอ

            ...จริงๆ รัฐบาลเขาก็ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว  แต่ไม่อยากฝืนกระแสสังคม แต่เมื่อมีช่องทางที่ทำให้ปฏิเสธได้ เขาก็จะปฏิเสธ หากดูสถานการณ์แล้วมันโล่ง  เราก็เดาใจศาล รธน.ไม่ได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจอดก่อนถึงการโหวตวาระสามก็ได้ หรืออาจไปร่วงตอนโหวตวาระสามก็ได้ มันยังมีความสุ่มเสี่ยง มีหลุมพรางอีกเยอะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเต็มไปด้วยขวากหนาม และไว้วางใจไม่ได้ทุกเวลานาที

            ...อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายทุกอย่างผ่านไปได้  เรื่องกรอบเวลาการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการอยู่หรือไม่อยู่ของรัฐบาล บิ๊กตู่จะอยู่ได้นานหรือไม่นาน ไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าแก้ไข รธน.ไปแล้ว รัฐบาลจะทำผิดพลาดขนาดไหนก็อยู่ได้-ก็ไม่ใช่ เพราะการอยู่ต่อของรัฐบาลมันมีตัวชี้วัดอีกเยอะ เช่นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง การแก้ปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ แล้วมีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กระบวนการก็เดินไป รัฐบาลจะอยู่หรือไม่อยู่ก็ไม่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส.ส.ร.ก็ทำงานไป หากมีการยุบสภา เลือกตั้ง ก็รอให้สภาชุดใหม่เข้ามาดำเนินการต่อ

                "การเมืองต่อจากนี้ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยง เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจไม่ได้มีความสุ่มเสี่ยงมาก แต่มันก็อาจจะเป็นประเด็นที่ไปสมทบกับวิกฤติรัฐธรรมนูญ ถ้าทุกอย่างออกมาไม่ดี ก็จะไปรวมกันได้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจทำให้คนเสื่อมศรัทธากับรัฐบาลอย่างมาก และจะไปบวกกับเรื่องวิกฤติรัฐธรรมนูญเข้าอีก จะเกิดปัญหาขึ้นมาได้ ปัญหาก็คือการขับไล่รัฐบาลอาจจะกลับมาอีกเป็นรอบใหญ่" ประธานวิปฝ่ายค้านระบุ.

 

                   โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

 

“””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"