ร่างกฎหมายปฏิรูปสีกากีค้างเติ่ง เสียงติง 'ปล่อยวิ่งเต้นเหมือนเดิม'


เพิ่มเพื่อน    

     การประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา นอกจากการพิจารณาญัตติขอให้รัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับสามารถกระทำได้หรือไม่แล้วนั้น

            ยังมีเรื่องสำคัญยิ่งยวดอีกเรื่องหนึ่ง คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

            เกี่ยวเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่บังคับใช้อยู่ ให้ทำการปฏิรูปตำรวจ โดยมีหัวใจหลักคือ การทำให้การโยกแยกแต่งตั้งตำแหน่งตำรวจเป็นไปอย่างยุติธรรม โปร่งใส เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาใช้เงินมหาศาลวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งจนทำให้ตำรวจเก่ง ดี แต่ไม่มีเงิน พลาดโอกาสเจริญเติบโตในหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น

            รวมทั้งการให้ความคุ้มครองงานสืบสวนของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปด้วยความสุจริตโปร่งใส ปราศจากการครอบงำของผู้ใหญ่มากอิทธิพลและบารมี

            โดยขณะนี้วาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ยังค้างอยู่ เพราะกลางดึกเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ฝ่ายค้านเสนอให้นับองค์ประชุม แต่ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ควบคุมการประชุมอยู่ขณะนั้น สั่งปิดประชุมหนีการนับองค์ประชุม และให้เลื่อนการพิจารณาออกไปในคราวหน้าแทน

            อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว สมาชิกรัฐสภาทั้งในฝ่าย ส.ส.และ ส.ว. ส่วนใหญ่ลุกขึ้นท้วงติงเกี่ยวกับข้อยกเว้นในการแต่งตั้งโยกย้าย ทำให้ยังมีเด็กเส้นวิ่งเต้นได้เหมือนเดิม!!!

            “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทน ครม.ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง สรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมายสีกากีว่า มีอยู่ 8 ประเด็นหลัก อาทิ 1.การแบ่งแยกกลุ่มสายงานออกเป็น 5 กลุ่มอย่างชัดเจน ประกอบด้วย กลุ่มอำนวยการ กลุ่มธุรการและงานสนับสนุน กลุ่มสืบสวน กลุ่มป้องกันและปราบปราม และกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในกลุ่มสืบสวนจะต้องมีคุณสมบัติและประสบการณ์ โดยตำรวจสายสืบสวนสามารถย้ายไปกลุ่มงานอื่นได้ แต่กลุ่มงานอื่นๆ 4 กลุ่มจะย้ายมากลุ่มสืบสวนได้ค่อนข้างยาก

            “การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจตามรัฐธรรมนูญต้องคำนึงหลักอาวุโส ความรู้ความสามารถ ความประพฤติ ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้นำหลักอาวุโสมาประเมินตำรวจ โดยตั้งแต่ตำรวจชั้นผู้น้อยถึงรองผู้บังคับการ ใช้หลักอาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์ ผู้บังคับการถึงผู้บัญชาการ ใช้หลักอาวุโส 50 เปอร์เซ็นต์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจถึงรองผู้บัญชาการตำรวจ อาวุโส 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าจะมีข้อยกเว้นโดยเหตุจำเป็นพิเศษก็มีได้ แต่ต้องอาศัยความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ด้วยเสียงเอกฉันท์ ซึ่งการได้เสียงเอกฉันท์ไม่ใช่เรื่องง่าย”

            นอกจากนี้  “อ.วิษณุ” กล่าวอีกว่า ครั้งนี้เราได้ยุบรวมคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และ ก.ตร. เป็น ก.ตร. 1 ชุด นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมของข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) จำนวน 7 คน โดยมีหน้าที่รับร้องทุกข์ตำรวจที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่ง เป็นต้น

            เมื่อรองนายกฯ รายงานสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแล้ว ได้เปิดให้ ส.ส.และ ส.ว.สลับกันแสดงความคิดเห็น

                คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว. อภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ชัดเจนในการจะทำให้งานสอบสวนสืบสวนอันเป็นต้นน้ำแห่งกระบวนการยุติธรรมดีขึ้น รวมถึงไม่ได้เป็นการป้องกันการวิ่งเต้นหาตำแหน่ง

            นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงหลักของการแต่งตั้งโยกย้าย ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง (4) คำนึงถึงทั้งอาวุโสและความรู้ความสามารถควบคู่กัน มีความหมายอย่างไร

            “นักกฎหมายเห็นว่า ในคนหนึ่งคนต้องมีความรู้และความสามารถ ไม่เหมือนกับในปัจจุบันที่แบ่งกอง มีทั้งคัดตามหลักอาวุโสอย่างเดียว ส่วนอีกกองคือ ในคนคนเดียวต้องมีทั้งอาวุโสและความรู้”

            ขณะที่ “เฉลิมชัย เฟื่องนคร” ส.ว. กล่าวว่า มาตรา 69 วรรคสาม เป็นการร่างที่น่ารังเกียจ เพราะเขียนข้อยกเว้นการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ว่า “กรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ก.ตร. จะมีมติลดระยะเวลา การดำรงตำแหน่งในการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับผู้บังคับการขึ้นไปเฉพาะบุคคลใดเป็นกรณีๆ ไป เป็นการเฉพาะให้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งก็ได้ มติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์”

                “อยากถามว่าตำรวจจะได้รับความเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ตกลงตำรวจตั้งแต่ผู้บังคับการต้องกลับไปวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งเช่นเดิม การวิ่งเต้นก็ต้องหาเงิน โดยการเปิดบ่อนผิดกฎหมาย เป็นวงเวียนชีวิตแบบนี้ตลอดไป เพราะเขียนยกเว้นให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง”

            มาตรา 80 กำหนดให้ ก.ตร.ไปออก กฎ ก.ตร.เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจให้ชัดเจน ซ้ำยังมีการยกเว้นไว้ว่า “ในกรณีเป็นประโยชน์ต่อ สต. ก.ตร.จะมีมติเป็นเอกฉันท์ แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงข้าราชการตำรวจ แตกต่างไปจากหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ก็ได้“

            ตนอยากบอกว่า อย่าลืม รัฐธรรมนูญต้องการให้เขียนไว้ในกฎหมาย ไม่ใช่เขียนให้ไปออกเป็นกฎของ ก.ตร.ที่แก้ไขง่ายแบบนี้ 

            อยากถามว่า ถ้าวางหลักเกณฑ์ไว้เช่นนี้ ตำรวจไม่มีเงิน ไม่มีพวกฟ้อง จะได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายได้อย่างไร

            นอกจากนี้ ในฝั่งของ ส.ส.ฝ่ายค้านยังวิพากษ์วิจารณ์  มาตรา 65 การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจชั้นพลตำรวจ ชั้นประทวน และชั้นสัญญาบัตร ให้บรรจุจากบุคคลผู้ได้รับคัดเลือกหรือสอบแข่งขันได้ ว่า เป็นการเปิดช่องให้บรรจุเด็กเส้นโดยผ่านช่องทางการคัดเลือก และขอให้ตัดช่องทางการบรรจุเหลือเพียงสอบแข่งขันเท่านั้น

            ดูท่าแล้ว “ปฏิรูปตำรวจ” ไม่มีอยู่จริง!!!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"