เครือข่ายศิลปินฯ บุกทำเนียบฯ เรียกร้องนายกฯ ระงับ กทม.ยึดคืนหอศิลป์ไปบริหารเอง ชี้ผิดข้อตกลงที่ลงนามกับเครือข่ายฯ เมื่อปี 48 “อัศวิน” ยอมถอย ปล่อยให้มูลนิธิบริหารจนครบสัญญาปี 64 ตามบันทึกความร่วมมือค่อยหาทางออกใหม่ เผยนายกฯ โทร.มาให้ทำตามใจ ปชช.
ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) เช้าวันอังคาร เครือข่ายศิลปินและภาคประชาสังคมศิลปวัฒนธรรม นำโดยนายจุมพล อภิสุข ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ระงับไม่ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยึดคืนหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครไปบริหารเอง
โดยนายจุมพลกล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ เห็นว่าหอศิลป์ได้ให้บริการด้านการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการและศิลปะกว่า 100 ครั้งต่อปี มีผู้เข้าร่วมมากกว่าปีละ 10,000 คน อีกทั้งยังสามารถจัดหางบประมาณในการจัดกิจกรรมได้เองนอกเหนือจากที่ กทม.ให้งบอุดหนุนปีละ 40 ล้านบาท ฉะนั้นการที่ กทม.จะยึดเอาหอศิลป์ไปบริหารเอง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และผิดข้อตกลงของปฏิญญาที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.ได้ลงนามร่วมกับเครือข่ายและภาคประชาชนเมื่อวันที่ 19 ส.ค.2548
นายจุมพลกล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีของการบริหารหอศิลป์โดยมูลนิธิมีความเจริญก้าวหน้า ในทางกลับกัน หน่วยงานของกรุงเทพฯ ไม่ได้มีศักยภาพและความรู้ที่จะมาบริหารองค์การด้านศิลปวัฒนธรรมใช่หรือไม่ ตามที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เคยกล่าวว่า ไม่มีความรู้เรื่องศิลปะ ส่วนที่มีข้อกังวลว่าพื้นที่หอศิลป์ถูกใช้เป็นพื้นที่ทางการเมืองอยู่บ่อยครั้งในระยะหลังนั้น ขอยืนยันว่ามูลนิธิไม่ได้มีส่วนสนับสนุนกลุ่มการเมืองใด การเคลื่อนไหวในแต่ละครั้งเป็นการแสดงออกของประชาชนที่มูลนิธิไม่มีอำนาจเข้าไปจัดการได้ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งระงับแนวคิดดังกล่าวของผู้ว่าฯ กทม.โดยด่วน และขอให้กรุงเทพฯ เคารพในปฏิญญาที่ได้มีความตกลงร่วมกัน
"แม้ พล.ต.อ.อัศวินได้ออกมากล่าวว่าจะยอมถอยในเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ทางเครือข่ายฯ ไม่อาจไว้วางใจหรือเชื่อมั่นใน พล.ต.อ.อัศวินได้ โดยจะรอฟังผลการประชุมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวของสภากรุงเทพฯ ในบ่ายวันเดียวกันนี้ เพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป ซึ่งหากไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจ เครือข่ายฯ จะมีการชุมนุมเพื่อต่อต้านเรื่องนี้อย่างแน่นอน" นายจุมพลกล่าว
ที่ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหาร กทม. กรณีการพิจารณาของ กทม.ในการเตรียมนำหอศิลป์กลับมาบริหารเองว่า ตนได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ถ้าพี่น้องประชาชนไม่เห็นด้วยกับการที่ กทม.จะเข้าปรับปรุงพื้นที่ภายในหอศิลป์ กทม.จะไม่ยุ่งเกี่ยว ซึ่งสาเหตุที่ กทม.จำเป็นต้องนำหอศิลป์กลับมาบริหารเอง เนื่องจากขัดต่อระเบียบบริหารราชการ กทม.นั้น ทาง กทม.จะยุติแนวคิดดังกล่าว และปล่อยให้การบริหารโดยมูลนิธิหอศิลปฯ เป็นตามบันทึกลงนามความร่วมมือที่จะครบกำหนดในปี 2564 ซึ่ง กทม.จะรอให้ถึงเวลาสิ้นสุดสัญญาการมอบสิทธิให้มูลนิธิบริหารก่อน แล้วค่อยหาแนวทางดำเนินการต่อไปในอนาคต ส่วนในเรื่องการบริหารเงินสนับสนุนว่า กทม.จะต้องให้เงินอุดหนุนแก่หอศิลป์ตามเอ็มโอยูหรือไม่นั้น ตนยังไม่เคยเห็นเอ็มโอยูดังกล่าวว่ามีเงื่อนไขอย่างไร
“ผมมีแต่ความคิดที่ดีๆ ต้องการให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ที่บอกว่าหอศิลป์ขาดทุนปีละ 80 ล้านบาทนั้น ผมไม่เคยพูด ไม่รู้ว่าไปเอาข้อมูลมาจากไหน บางครั้งข่าวเขียนกันไปเรื่อยเปื่อย ให้ไปหาหลักฐานมาว่าผมพูดตรงไหน อย่างไร เพราะนักข่าวก็อัดเสียงตลอดอยู่แล้ว แต่ผมไปพูดตอนไหน เอาไปเขียนกัน ซึ่งการจะขาดทุนหรือได้กำไร ไม่เกี่ยวกับ กทม. แต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการของมูลนิธิ ถ้าสังคมไม่เห็นด้วย ผมก็ชี้แจงต่อที่ประชุมให้สำนักวัฒนธรรมฯ ยุติการนำเสนอแนวทางดำเนินการให้ กทม.บริหารหอศิลป์ จนกว่าจะครบปี 2564 ค่อยหาทางออกกันใหม่ ตามที่ได้ยืนยันผ่านเฟซบุ๊กไปแล้วเมื่อวานนี้”
ผู้ว่าฯ กทม.บอกว่า ทราบว่าจะมีกลุ่มศิลปินเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งให้ผู้ว่าฯ กทม.ยุติเรื่องดังกล่าว เมื่อวานนี้ นายกฯ โทร.มาหาตนแล้วว่าอะไรที่ประชาชนไม่เห็นด้วย ขอให้ตามใจประชาชนแล้วกัน จากนั้นได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กทันที
เมื่อถามว่า การยุติดังกล่าวเพราะเกิดจากการเคลื่อนไหวของเหล่าศิลปินและประชาชนหรือไม่ พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า การดำเนินโครงการทุกอย่างต้องฟังเสียงประชาชน หากไม่เห็นด้วย ก็ต้องยุติ เพราะการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำเพื่อประชาชน ในเมื่อประชาชนไม่เห็นชอบ ก็ต้องหยุด ตนไม่ใช่คนดื้อดึง
ส่วนกระแสข่าวว่าการนำหอศิลป์กลับมาบริหารเองเพื่อเลี่ยงการจัดกิจกรรมทางการเมืองนั้น พล.ต.อ.อัศวิน ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะตนไม่ใช่นักการเมือง และไม่ได้มาจากการเมือง ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องดังกล่าวแม้แต่น้อย คำนึงเพียงจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ภายในอย่างไร เพราะครั้งที่ลงพื้นที่หอศิลป์ เห็นว่ามีพื้นที่ควรใช้สอยให้เกิดประโยชน์ อาทิ การจัดหาโต๊ะเก้าอี้ให้เด็กนั่ง แต่ทางสำนักวัฒนธรรมฯ แจ้งว่าไม่สามารถทำได้ เพราะอยู่ภายใต้การบริหารของมูลนิธิ ซึ่งตนก็ไม่เคยรู้มาก่อน จึงหารือกันว่าจะเข้าไปดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในปีงบประมาณ 2562 จะมีการนำเสนองบประมาณเพื่ออุดหนุนหอศิลป์หรือไม่ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการนำเสนองบประมาณของสำนักวัฒนธรรมฯ ส่วนการจะได้รับจัดสรรงบประมาณหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบจากสภา กทม.
“ขณะนี้ประชาชนไม่อยากให้ กทม.เข้าไปดูแล เนื่องจาก กทม.ไม่มีประสบการณ์หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ให้ทางมูลนิธิเป็นผู้ดำเนินการไปจนกว่าจะครบกำหนดปี 2564 ส่วนตอนนั้นผู้ว่าฯ กทม.จะเป็นใคร ผมก็ไม่รู้แล้ว”
เมื่อถามอีกว่า สภา กทม.ไม่เห็นชอบงบประมาณประจำปี 2561 เพราะเห็นว่าการให้เงินอุดหนุนหน่วยงานที่ไม่ได้อยู่ภายใต้โครงสร้างของ กทม.นั้นเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะ กทม.ต้องออกข้อบัญญัติ กทม.มารับรอง แต่การปล่อยให้มูลนิธิบริหารต่อไปจนถึงปี 2564 ระหว่างนี้จะดำเนินการให้เรื่องดังกล่าวถูกต้องอย่างไร ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ส่วนนี้ตนจะต้องหารือกับฝ่ายกฎหมาย แม้ฝ่ายกฎหมายบอกว่าไม่เห็นชอบหรือไม่ควร ก็ต้องให้ฝ่ายกฎหมายหาแนวทางที่ กทม.ทำอย่างไรได้บ้าง จึงสามารถให้เงินอุดหนุนได้ จากนั้นจึงพิจารณาเหตุผล
พล.ต.อ.อัศวินกล่าวอีกว่า กรณีที่กลุ่มศิลปินจะให้มีการประชุมร่วมกันนั้น จะมอบหมายให้สำนักวัฒนธรรมฯ ร่วมพูดคุยหารือ ส่วนที่ระบุว่าการยุติเรื่องดังกล่าวไม่เชื่อมั่นต่อคำพูดของตนนั้น หากไม่เชื่อก็ช่วยไม่ได้ เพราะไม่อยากเชื่อเอง ส่วนที่ว่าไม่ให้เกียรติศิลปินแห่งชาตินั้น หากไม่ให้เกียรติ คงไม่ยกเลิก และไม่เกี่ยวกับกรณีจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ทำไปเพราะสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |