ตัวเลขเศรษฐกิจไทย 2564: ปรับแล้วก็ต้องปรับอีก


เพิ่มเพื่อน    

            หากประเมินตัวเลขเศรษฐกิจของไทยใหม่สำหรับปีนี้คงต้องปรับลดความคาดหวังลงในระดับหนึ่ง

                ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ “หั่น” จีดีพีปี 2564 ให้โตต่ำกว่า 3.2%

                หลังจากมีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%

                ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) บอกว่า อัตราโตของเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ที่ 2.7%

                แต่ก็ยอมรับว่าปีนี้จะมีอาการ “Extraordinary Uncertainty” หรือ “ความไม่แน่นอนในระดับไม่ปกติอย่างมาก”

                นั่นแปลว่าไม่ว่าตัวเลขประมาณการของสถาบันทั้งในและต่างประเทศจะออกมาเท่าไหร่ในเดือนมกราคมของปีนี้ แต่จะมีปัจจัยมากมายหลายด้าน จากนี้ไปที่อาจจะทำให้ต้องมีการปรับตัวเลขกันได้อีกหลายรอบทีเดียว

                เพราะนี่คือ New Normal ของจริง

                คุณทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. เมื่อวันพุธที่แล้ว บอกว่าคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

                คณะกรรมการประเมินว่า แม้ว่าในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ แต่แรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

                แต่ที่น่ากังวลคือ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า

                จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

                กนง.จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้

                และ “รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด”

                แปลว่าเก็บกระสุนเอาไว้เผื่อจะต้องใช้ในยามที่จำเป็นมากกว่านี้

                กนง.ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดระลอกแรกจากมาตรการควบคุมการระบาดที่ไม่เข้มงวดเท่าครั้งก่อน

                นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐที่ออกมาได้เร็วและตรงจุด และการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น

                ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ แต่ต่ำกว่าประมาณการเดิมบ้าง แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง

                ที่ทำได้ก็คือในระยะสั้นต้องดูสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่

                ในระยะถัดไปขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 แรงสนับสนุนจากภาครัฐที่เพียงพอและต่อเนื่อง

                ที่มองข้ามไม่ได้คือตลาดแรงงานที่เปราะบางขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่

                มีผลให้จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะสั้น

                ที่มองข้ามไม่ได้อีกเรื่องหนึ่งคือ ความจริงที่ว่าการฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมากขึ้นจะส่งผลต่อความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

                ที่เน้นเป็นพิเศษคือ “ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงาน”

                เพราะนั่นมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไปอย่างมาก

                กนง.เห็นว่านโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง

                มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์

                ยกตัวอย่างมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง

                รวมทั้งพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อเสริมประสิทธิภาพการกระจายสภาพคล่องและเพื่อรองรับเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต

                มาตรการทางการคลังก็ต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้

                ซึ่งต้องควบคู่กับการดำเนินนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

                “เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมบ้าง และมีทั้งปัจจัยลบและปัจจัยบวก โดยปัจจัยลบที่สำคัญที่สุดจะเป็นเรื่องการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 และมีการหารือกันว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มน้อยกว่าที่คาดไว้ ส่วนปัจจัยบวกที่สำคัญคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีการประกาศเพิ่มเติม และการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นทุกหมวดสินค้าในช่วงปลายปีที่แล้ว” นายทิตนันทิ์สรุปให้เห็นภาพสรุปได้ชัดเจน

                แต่เมื่อ “ปัจจัยเหนือการควบคุม” มีมากมายหลากหลาย นั่นจึงเป็นความท้าทายที่ธนาคารกลางทั่วโลกเองก็ไม่เคยเผชิญมาก่อน

                เก่งไม่เก่งจริงได้พิสูจน์กันตอนนี้แหละ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"