ฉีดวัคซีนเข็มแรกต้นมี.ค. ผงะ!ทารก2วันติดโควิด


เพิ่มเพื่อน    

 

"หมอทวีศิลป์" เผยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่ม 157 ราย ผงะ! ทารกวัย 2 วันติดด้วย เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน เปิดตัวเลขตลาดสดหนักกว่าตลาดนัด ผู้ขายติดเชื้อมากกว่าผู้ซื้อ "อนุทิน" เผยปิดดีลวัคซีน 63 ล้านโดสแล้ว ล็อตแรกปลายเดือนนี้ ฉีดเข็มแรกต้นเดือนหน้า ขณะที่ อภ.เตรียมทดสอบวัคซีนโควิดในมนุษย์ ระยะที่ 1 ช่วงเดือน มี.ค.นี้

    เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 157 คน เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 144 คน เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบการเฝ้าระวังและระบบบริการ 38 คน โดยผู้ติดเชื้อน้อยสุดมีอายุเพียง 2 วัน พบที่จังหวัดสมุทรสาคร และเป็นการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 106 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 13 คน ทำให้มียอดรวมผู้ติดเชื้อ 23,903 คน หายป่วยแล้ว 18,914 คน อยู่ระหว่างการรักษา 4,909 คน
    เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 คน เป็นหญิงไทยอายุ 65 ปี มีโรคประจำตัวคือมะเร็งกล่องเสียง ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไขมันในเลือดสูง โดยมีประวัติติดเชื้อจากจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นคนในครอบครัว โดยครอบครัวดังกล่าวมี 8 คน และติดเชื้อไปแล้ว 5 คน
    นพ.ทวีศิลป์เผยว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้พูดถึงการค้นหาเชิงรุกในชุมชนในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งรองผู้ว่าฯ จังหวัดสมุทรสาคร และ นพ.สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้แจ้งมาที่ประชุม ชี้แจงความคืบหน้าการตรวจในพื้นที่ว่าตรวจเชิงรุกไปแล้วกว่าแสนคน พบผู้ติดเชื้อกว่า 7,000 คน ซึ่งจากการเข้าไปตรวจโรงงานขนาดใหญ่ 9 แห่ง ที่เข้าไปตรวจและมี 4 โรงงานที่มีคนงานหลักหมื่น พบผู้ที่เชื้อตามข่าวร้อยละ 26-27 ของบางโรงงาน ขณะนี้จะใช้ระบบบับเบิลแอนด์ซีล แน่นอนว่าเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อขนาดนั้น บางคนที่ยังไม่ติดเชื้อ ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ในภายหลังเราก็จะทอดระยะเวลาไปอีกสักระยะหนึ่งเพื่อให้เกิดการติดเชื้อโดยธรรมชาติ
    "บางคนอาจพูดว่าจากข้อมูลผู้ติดเชื้อจากการตรวจสอบเชิงรุก 106 คนในวันนี้อาจจะน้อยกว่าความเป็นจริงนั้นใช่ แต่ ณ ตอนนี้เข้าไปตรวจก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรในเชิงที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำอีกระยะคือ ณ ตอนนี้จะเข้าไปตรวจสอบภูมิคุ้มกัน ขอให้เจ้าหน้าที่ได้สรุปชุดข้อมูลกันก่อน ถ้าเป็นไปตามที่คาด คนที่ติดเชื้อเมื่อนำออกมา คนที่อยู่ภายในอาจได้รับเชื้อมาบ้างอย่างอ่อนๆ ก็จะมีการติดเชื้อไปบ้าง ถ้ามีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นจำนวนมากขึ้นโดยธรรมชาติจะทำให้เราเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ซึ่งหลายประเทศเขาก็ทำกัน"
    โฆษก ศบค.เผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้นำข้อมูลผู้ติดเชื้อในพื้นที่ตลาด 1,815 คนมาแจ้งต่อที่ประชุม โดยพบว่า ร้อยละ 96.86 เป็นการติดเชื้อในตลาดสด ติดเชื้อในตลาดนัด ร้อยละ 3.14 คน โดยพบเป็นผู้ขายถึงร้อยละ 90.19 ผู้ซื้อร้อยละ 9.81 โดยปัจจัยของการติดเชื้อคือไม่มีมาตรการระวังตัวเอง
    ที่กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม (จีพีโอ) กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวผลวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 "NDV LaSota-S Hexapro COVID-19 vaccine( NDV-HXP-S )" ชนิดเชื้อตาย ด้วยเทคโนโลยีฟักในไข่ไก่ ที่เตรียมศึกษาวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 1 เดือนมีนาคม 2564 หากเสร็จสิ้นกระบวนทุกอย่าง และขึ้นทะเบียนตำรับกับทาง อย. คาดจะสามารถผลิตวัคซีนได้ถึงปีละประมาณ 25-30 ล้านโดส
    นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การฯ ได้ส่งวัคซีน NDV-HXP-S ไปทำการทดสอบความเป็นพิษในหนูที่ประเทศอินเดีย พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย และทดสอบประสิทธิภาพ (Challenge study) ในหนูแฮมสเตอร์ (Hamsters) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผลเบื้องต้นพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สอดคล้องกับผลการศึกษาความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ที่พบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาได้ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์
         ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าศูนย์วัคซีน และหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 จะเริ่มมีการทดสอบในเดือนมีนาคม จำนวนอาสาสมัคร 210 คนและระยะที่ 2 ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ในอาสาสมัครอีก 250 คน โดยในการศึกษาระยะที่ 1 และ 2 จะเป็นการประเมินความปลอดภัยความทนทานและความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีน ทั้งนี้ ในช่วงของระดับ S-antigen ที่หลากหลายบางตัวมีการใช้ CpG 1018 เป็นตัวเสริมในการวิจัยทางคลินิกระยะแรก และในการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 มีจุดมุ่งหมายในการคัดเลือกวัคซีนเพียงตัวเดียวเพื่อให้เข้าสู่การวิจัยระยะที่ 3 และคาดว่าในปี 2565 จะสามารถเริ่มการยื่นขอรับทะเบียนตำรับ และจะทำการผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่โรงงานผลิต (วัคซีน) ชีววัตถุ ขององค์การฯ ที่ จ.สระบุรี ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีเทคโนโลยีไข่ไก่ฟักที่ใช้ผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว พร้อมปรับมาใช้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ทันที
         นพ.วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ กล่าวเสริมว่า การทดสอบวัคซีน NDV-HXP-S ในระยะที่ 1 และ 2 จะทดสอบในอาสาสมัครที่เป็นคนไทย เพื่อผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการแบ่งการทดสอบในกลุ่มอาสาสมัคร 3 ระยะ ในระยะที่ 1 กลุ่มอาสาสมัครจะได้รับวัคซีน ในกลุ่มวัคซีนหลอก และวัคซีนจริง และในบางกลุ่มที่จะการฉีดสารเสริมเร่งวัคซีน เพื่อประเมินประสิทธิภาพ และคัดเลือกกลุ่มที่ดีที่สุดเข้าสู่การทดลองระยะที่ 2 ในส่วนระยะที่ 3 หากในประเทศมีจำนวนผู้ป่วยน้อย ก็อาจต้องมีการทดสอบในต่างประเทศ
         ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้จัดหาวัคซีน จำนวนทั้งสิ้น 63 ล้านโดสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดส่งที่เป็นไปตามเงื่อนไข เพื่อมาทำการฉีดให้กับประชาชนไทยและคนกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ในส่วนของวัคซีนซิโนแวคจากประเทศจีน ที่ได้มีการสั่งซื้อจำนวน 2 ล้านโดส จะแบ่งการจัดส่งเป็นภายในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดส หลังจากมีการตรวจคุณภาพ ตรวจสูตรการผลิตเรียบร้อย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเร่งขึ้นทะเบียนวัคซีนดังกล่าวให้ทันก่อนจะมาถึงประเทศไทย โดยเบื้องต้นได้รับข้อมูลเอกสารการผลิตวัคซีนซิโนแวคจากผู้ผลิตประเทศจีนที่ได้มีการขึ้นทะเบียนการใช้วัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็จะเริ่มฉีดภายในต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป พร้อมกับมีการจัดส่งเพิ่มอีก 8 แสนโดส
    "ภายในเดือนเมษายนจะจัดส่งอีก 1 ล้านโดส หลังจากนั้นคาดว่าภายในปลายเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน วัคซีนจากแอสตราเซนเนกาที่ผลิตร่วมกับสยามไบโอไซเอนซ์ในประเทศไทยจะเริ่มทยอยส่งล็อตแรก 26 ล้านโดส ดังนั้นเมื่อดูจากตารางเวลาการจัดส่งวัคซีนนั้นมีความต่อเนื่องกัน จึงอยากให้ประชาชนไว้วางใจในการจัดหาวัคซีน ซึ่งทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แน่นอน โดยการดำเนินการจะเป็นไปตามกระบวนการที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย" นายอนุทินกล่าว
         ขณะที่ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงความคืบหน้าอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ว่าเมื่อวานผู้ว่าฯ สามารถหายใจด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลาถึง 4 ชม. ซึ่งแสดงว่าปอดของผู้ว่าฯ สามารถฟื้นตัวได้ดี ทั้งนี้ ยังไม่อยากให้รีบร้อนในการถอดเครื่อง โดยวันนี้จะนำตัวผู้ว่าฯ ไปเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูว่าปอดเป็นอย่างไร ภาพรวมขณะนี้ทั้งระดับออกซิเจนในเลือด อวัยวะต่างๆ ถือว่าดีหมด และได้มีการลดถอยยาฉีดหมดแล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"