10 ก.พ. 2564 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เปิดเผยภายหลังประชุมแนวทางการใช้พื้นที่โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเดิมว่า สัปดาห์หน้ามอบหมายให้บริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) ไปหารือกับกรมธนารักษ์ในการใช้ประโยชน์พื้นที่ราชพัสดุสถานีขนส่งหมอชิตเก่า ที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมธนารักษ์ได้ว่าจ้างให้บริษัท Bangkok Terminal (BKT) พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวด้วย การหารือครั้งนี้เนื่องจากศักยภาพในพื้นที่ราชพัสดุสถานีขนส่งหมอชิตเดิมมีความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ในปัจจุบัน เพราะเดิมกรมธนารักษ์กำหนดให้กระทรวงคมนาคมใช้พื้นที่สถานีขนส่งหมอชิตเดิมจำนวน 112,000 ตารางเมตร
นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า บขส. ต้องหารือกับกรมธนารักษ์ในการพัฒนาพี้นที่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ทั้งเรื่องพัฒนารูปแบบพื้นที่ จัดให้เดินรถอย่างเดียว หรือต้องมีพื้นที่อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารด้วย อาทิ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี (TOD) เพื่อทำให้ บขส. มีรายได้ ไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่สูงนัก รวมทั้งราคาค่าเช่าพื้นที่ ความเหมาะสมพื้นที่ การกำหนดให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่บริเวณไหน ถ้ากำหนดให้อยู่พื้นที่ที่มีความสูงมากๆ ไม่ไหว เช่น ตอนแรกให้อยู่ชั้นล่าง แต่ตอนนี้ให้อยู่ชั้น 3, 4 และ 5 รถจะเข้าออกอย่างไร หรืออาจต้องทำทางเชื่อม (แรมป์) เข้าโครงการ
อย่างไรก็ตามเบื้องต้น บขส. มีแนวคิดจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็น ศูนย์บริการเชื่อมต่อสถานีขนส่งผู้โดยสารรถขนาดเล็ก หรือรถชานเมืองที่เดินรถในระยะทางไม่เกิน 300 กม. ดังนั้นอาจจะลดขนาดพื้นที่ลง หรือคงพื้นที่เท่าเดิมขึ้นอยู่กับข้อสงวนสิทธิ์และเงื่อนไขต่างๆ ที่เจรจากับกรมธนารักษ์ ถ้าผลเจรจาไม่ได้ข้อสรุปตามที่ บขส. ดำเนินการจะต้องหาแนวทางอื่นต่อไป
“หลังจากเจรจาได้ข้อสรุปแล้วต้องทำแผนธุรกิจ คาดว่าอีก 2 สัปดาห์ บขส. จะกลับมารายงานที่ประชุมอีกครั้ง ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคมกำหนดเป็นนโยบายดำเนินการให้ชัดเจนต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ประชาชนต้องได้รับความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางทุกโหมด ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการเข้าไปใช้ประโยชน์ตรงนั้นขอเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ขณะเดียวกันธุรกิจของ บขส. ต้องอยู่ได้ด้วย เพราะถ้าเข้าไปอยู่ แบกค่าเช่าทุกวัน แล้วเจ๊ง ทำให้ไม่ไหว” นายสรพงศ์ กล่าว
นายสรพงศ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยืนยันว่าดำเนินการนี้ไม่ใช่การย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 แน่นอน ในหลักการการย้ายหมอชิต 2 ตามแผนระยะสั้นช่วง 5 ปี (ปี 64-70) จะไม่มีแผนย้ายหมอชิต 2 เนื่องจากมี 2 สาเหตุ 1.โครงการของ BKT ยังไม่เริ่มต้นดำเนินการ และ 2.การเดินทางประชาชนที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีกลางบางซื่อและหมอชิต 2 โดยจะแบ่งเป็นระบบเชื่อมต่อด้วยชัตเติ้ลบัส และทำทางเดินเชื่อมระหว่างสถานีกลางบางซื่อและหมอชิต 2 เบื้องต้น บขส. ได้ไปเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แล้วว่าขออยู่ที่เดิมต่อ จากเดิม รฟท. จะขอพื้นที่ดังกล่าวคืนเพื่อนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงอสังหาริมทรัพย์ตามนโยบายสมาร์ทซิตี้ของกระทรวงคมนาคม อย่างไรก็ตาม หลังจากครบระยะ 5 ปี ต้องกลับไปศึกษาอีกว่าจะย้ายหมอชิตไปอยู่ที่ไหน เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |