สภาส่งศาลชี้แก้รธน. มติ366ต่อ316เสียง/ฝ่ายค้านรุมสับรบ.ไม่จริงใจ


เพิ่มเพื่อน    

 ตามคาด! พลังประชารัฐจับมือพรรคเล็ก+สภาสูงลงมติ 366 ต่อ 316 ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  “ไพบูลย์-สมชาย” ยันไม่ทำการร่างสะดุด แต่ทำให้เกิดความชัวร์และประหยัดงบหลายพันล้าน “ปชป.” ประสานเสียง “ฝ่ายค้าน” เห็นต่าง ชี้รัฐสภามีอำนาจไม่ควรเสียเวลา “เพื่อไทย-ก้าวไกล” สบช่องปลุกทันที บอกสะท้อนความไม่จริงใจของ “บิ๊กตู่-รัฐบาล”

เมื่อวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ มีการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) โดยมีระเบียบวาระแรกคือการพิจารณาญัตติด่วน เรื่องขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อที่ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ         
    โดยนายไพบูลย์ชี้แจงตอนหนึ่งว่า สาเหตุที่ต้องพิจารณาญัตตินี้ เพราะเกรงว่าเมื่อไม่มีความชัดเจนในอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา จะมีปัญหาในการลงมติวาระสามในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาอาจไม่กล้าให้ความเห็นชอบ หรืออาจต้องงดออกเสียง ทำให้เสียงเห็นชอบผ่านร่างแก้ไขไม่เพียงพอ สมาชิกหลายคนระบุว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้ยื่นไปศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้ส่งภายหลังลงคะแนนเห็นชอบวาระสามและทำประชามติไปแล้ว ซึ่งเห็นว่าหากส่งศาลหลังทำประชามติไปแล้ว อาจต้องสูญเสียงบประมาณ 3,000 ล้านบาท หากศาลว่าขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การยื่นญัตติครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการทำหน้าที่ของรัฐสภา และหากศาลวินิจฉัยว่ารัฐสภาสามารถแก้เป็นรายมาตราได้เท่านั้น ก็จะเข้ารัฐธรรมนูญ มาตรา 129  ให้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้เวลาไม่นาน และไม่ต้องเสียงบประมาณนับหมื่นล้านบาท
    จากนั้น ที่ประชุมให้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปราย โดยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า สิ่งที่นายไพบูลย์เสนอญัตติเป็นสิทธิ์ และไม่ได้ย้อนแย้งกับที่สมาชิกรัฐสภาเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะส่วนใหญ่ยังเห็นเหมือนเดิม คือการเสนอแก้รัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งได้ศึกษารอบด้าน และได้เชิญนักวิชาการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ทุกคนบอกว่าตรงตามหลักกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเป็นการวินิจฉัยตามบริบทรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และบริบทที่เกิดขึ้นจริง ที่มีความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย และกระบวนการแก้ไขนำสู่การฟ้องร้องในเรื่องเสียบบัตรแทนกัน
“วันนี้สถานการณ์เหล่านี้ไม่มี พวกเราไม่ได้แก้ไขอะไรมาก แก้ไขหลักการใหญ่ 2 ประเด็นคือ หนึ่ง แก้มาตรา 256 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น สอง แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15/1 ให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ห้ามไม่ให้ร่างหมวดหนึ่งและหมวดสอง เพราะฉะนั้นจึงไม่ขัดแย้งต่อคำวินิจฉัยที่ว่าต้องสถาปนาโดยประชาชน เพราะพวกเราได้แก้ไขไว้แล้วว่าให้ทำประชามติก่อนทูลเกล้าฯ ถวาย นั่นก็แปลว่าได้สถาปนาโดยประชาชนแล้ว” นายชินวรณ์กล่าว และว่า แม้นายไพบูลย์จะระบุว่าคำร้องจะไม่ทำให้กระบวนการสะดุดหยุดลง แต่การเสนอให้ถอนญัตติจะเป็นเรื่องสมานฉันท์และเป็นเรื่องความชอบธรรม แต่ถ้ายืนยันจะยื่นญัตติก็เป็นสิทธิ์ที่ยื่นได้ ต่างคนต่างเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
อัดแผนเตะถ่วง
        นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีครึ่ง เราเห็นความพยายามยื้อเวลาเตะถ่วงแก้รัฐธรรมนูญเป็นระยะ ตั้งแต่ตั้งคณะ กมธ.ก่อนรับหลักการ วันนี้ผ่านวาระหนึ่งได้แล้ว แม้เนื้อหาอาจไม่พอใจก็ตาม แต่น่าเสียดายที่กระบวนการที่น่าจะเดินตามปกติกลับเกิดความไม่แน่นอนขึ้น สมาชิกอาจอ้างว่าหวังดีให้ศาลตีความตอนนี้จะได้ไม่เสียเวลาตอนหลัง ซึ่งสิ่งที่ทำไม่ใช่ถ่วงเวลา แต่เป็นญัตติที่เลวร้ายยิ่งกว่า เพราะเป็นการหาหนทางตัดทอนอำนาจรัฐสภาและประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญไปตลอดกาล นี่เป็นความพยายามแช่แข็งประเทศไทย และกำลังทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช.เป็นฉบับนิรันดร
    “ท่านจะใช้สถาบันตุลาการเป็นเครื่องมือเพื่อกินรวบพื้นที่การเมืองทั้งหมดใช่หรือไม่ หากยังดื้อดึงความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่จะมีแต่พาพวกเราไปสู่ทางตัน ฉะนั้น ก่อนที่จะลงคะแนน ขอเรียกร้องสมาชิกรัฐสภา นี่เป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงว่าเป็นผู้มีจิตใจประชาธิปไตย ยอมรับโลกาภิวัตน์ ใช้เอกสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของประชาชน ทำให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ในรัฐสภา เป็นปกติพื้นฐาน และควรเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับมากกว่าการทำรัฐธรรมนูญโดยกองทัพ” นายพิธากล่าว
    ด้านนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร.อภิปรายว่า การยื่นญัตติให้ศาลตีความร่างแก้รัฐธรรมนูญควรคำนึง 2 ข้อคือ 1.ข้อกฎหมาย ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้แก้ทั้งฉบับ การจะไปยื่นให้ศาลตีความจึงมองไม่เห็นว่าจะไปขัดรัฐธรรมนูญอย่างไร 2.เหตุผลทางการเมือง ขอให้คำนึงถึงความรู้สึกประชาชนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน จะไปเอาเหตุผลทางกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ แม้รัฐธรรมนูญมีสิ่งดีเยอะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในความรู้สึกประชาชนคือ ไม่ได้เกิดขึ้นจากประชาชน แต่ทหารเป็นผู้ร่าง จึงไม่ควรที่เมื่อแก้ไขแล้วจะมายื่นคัดค้านการแก้ไข การยื่นญัตติครั้งนี้ไม่ใช่ ส.ส.พลังประชารัฐ 100% จะเห็นด้วย เพราะตนเองและเพื่อน ส.ส.อีกไม่น้อยเห็นตรงกันข้าม
    ต่อมาเวลา 11.45 น. นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภาได้รับหลักการร่างแก้ไขมาแล้ว อีกทั้งยังกำหนดให้ตั้งคณะ กมธ.กำหนดเวลาแปรญัตติ บัดนี้ดำเนินการถึงขั้นรอพิจารณาในวาระสองและสาม ซึ่งชัดเจนมาก การนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยนั้น คิดว่าทำไปก็คงเปล่าประโยชน์ ส่วนข้อสงสัยว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น อดีตอย่างน้อยทำมาแล้วถึง 2 ครั้ง คือในปี 2491 และปี 2539 ซึ่งทั้งสองฉบับเป็นการจัดทำขึ้นโดยที่รัฐธรรมนูญฉบับที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้นไม่ได้ให้อำนาจจัดทำฉบับใหม่ แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าการทำลักษณะดังกล่าวเสร็จสิ้นลง ดูจะได้รับการกล่าวขานว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด การกระทำเช่นนี้บ่งบอกชัดว่าทำได้
    นายบัญญัติกล่าวต่อว่า มีความพยายามหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่น่าใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ไม่คิดเช่นนี้ เพราะนี่คือโอกาสที่จะทำใหม่ได้อย่างชอบธรรมครบถ้วน เพราะนอกจากศาลวินิจฉัยว่ายกร่างใหม่ทั้งฉบับไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญขณะนั้น แต่ศาลได้วินิจฉัยด้วยว่าการจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สมควรให้ทำประชามติสอบถามประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนา
น้าญัติข้องใจญัตติ
    “เราก็ทำประชามติตามที่ศาลได้กรุณาชี้แนะ ก็เท่านั้นเอง ซึ่งในชั้น กมธ.ก็ได้ปรับปรุงถ้อยคำเพื่อนำไปจัดทำประชามติตามขั้นตอนครบถ้วน ดังนั้น จึงไม่ควรกังวล ถึงขนาดต้องส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง เพราะโอกาสที่พวกเราจะตรวจสอบการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังมีอยู่เสมอ และเป็นการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญเสียอีกด้วย ผมไม่แน่ใจว่าการเสนอญัตติที่ได้ร่วมกันพิจารณาในวันนี้จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะไม่ได้มีการกำหนดไว้ในมาตรา 156 แต่ประการใด” นายบัญญัติกล่าว
    ต่อมาเวลา 12.00 น. นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดจากเสียงเรียกร้องของประชาชน นำมาสู่การตั้ง กมธ. ซึ่งรายงานของ กมธ.เสนอแก้โดยตั้ง ส.ส.ร. ต่อมาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งก็รับหลักการจนนำไปสู่การตั้ง กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง และขณะนี้กำลังเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 ตามขั้นตอน เพราะฉะนั้นกระบวนการเราใช้วิจารณญาณรอบคอบ ดังนั้น การถูกเอาผิดจากใครหรือองค์กรใดเรามีหลักพิงและหลักประกัน
    "วันนี้เราเดินหน้าไปเถอะ แต่หากยังจะใช้คำว่ารอบคอบอีก ผมย้ำว่ารอบคอบเกินงามก็จะตีความว่าเราใช้ความรอบคอบโดยมีความแอบแฝง ซึ่งการแอบแฝงครั้งนี้เดิมพันด้วยปัญหาของสังคมและบ้านเมือง แม้บอกว่าถ้าศาลรับคำร้องอย่าไปวิตกกังวลว่าจะสะดุด ใครรับประกัน ใครคาดหมายหรือบอกแทนศาลได้ว่ากระบวนแก้ไขจะไม่สะดุด นั่นคือความเสี่ยงที่จะล้มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเสี่ยงเกิดความไม่เข้าใจกันของคนในสังคม เมื่อกระบวนการที่รอคอยมันล้ม ใครจะรับประกันได้อีกว่ามันจะไม่มีกระบวนการกลางถนน" นายสุทินกล่าว
    ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์? ส.ว. อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้เกิดขึ้น แต่แก้โดยไม่รู้เนื้อหาจะแก้ได้หรือไม่ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราจะตัดสินใจกันเองไม่ได้ เพราะการวินิจฉัยต้องอยู่ที่ศาล ซึ่งปัญหาอยู่ที่ว่าจะส่งไปช่วงสุดท้ายของการแก้ไข หรือหากส่งตอนนี้ ก็ไม่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า กระบวนการก็เดินไปตามครรลองอยู่แล้ว เพราะศาลวินิจฉัยแล้วไม่ขัดรัฐธรรมนูญ การแก้ไขก็เดินหน้าอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ หากขัดรัฐธรรมนูญ เราก็ไม่ต้องไปเสียเงินทำประชามติ แต่หากกระบวนการเดินต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่วินิจฉัยจะทำให้เสียเงินนับพันล้านบาท เพราะต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง  ดังนั้นการส่งให้ศาลตั้งแต่แรกจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่ได้เสียหายอะไร   อย่าเพิ่งคิดไปไกลว่าส่งศาลแล้วเป็นการสกัดหรือทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป แสดงว่าเราคิดและห่วงไปเอง
    “การแก้ไขรัฐธรรมนูญผมไม่ได้ปฏิเสธเรื่อง ส.ส.ร. แต่ด้วยความไม่ชัดเจน ถ้าเราทำให้ชัดเจน ข้อเรียกร้องในปัจจุบัน ข้อเสนอต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเมืองปัจจุบันเป็นปัญหาทางการเมืองที่ต้องชัดเจน ดังนั้นความขัดแย้งในบ้านเมืองก็ต้องสร้างความชัดเจนส่งให้ศาลวินิจฉัย จึงเห็นว่าญัตตินี้ได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย” นายเสรีกล่าว
    จากนั้น เวลา 14.00 น. นายสมชายอภิปรายสรุปว่า ญัตติดังกล่าวสมควรส่งให้ศาลวินิจฉัยในตอนนี้ จริงอยู่ที่จะยื่นในภายหลังก็ได้ แต่จะเสียเวลา หากล้มขึ้นมาจะทำอย่างไร ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาที่เตะถ่วงกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ แต่การยื่นถึงศาลมีความสำคัญ เพราะจะทำให้ถูกต้องรอบคอบ และหากศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยตามที่สมาชิกหลายคนระบุจริง ทำไมสมาชิกรัฐสภาหลายคนส่งเรื่องต่างๆ ไปยังศาลขอให้วินิจฉัย เช่น การขอให้วินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ส. ดังนั้นการยื่นญัตตินี้เพื่อให้การทำหน้าที่ของรัฐสภาถูกต้อง อย่าให้ต้องเสียเงินทำประชามติแล้วบอกว่าการกระทำดังกล่าวทำไม่ได้
รัฐสภาโหวตผ่านฉลุย
    “วันนี้วุฒิสภาและสภาจะต้องมีความเห็นในทางเดียวกันหรือไม่ก็ตาม เป็นความรับผิดชอบต่อรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน ทุกคนเกิดจากรัฐธรรมนูญ อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญบัญญัติชัดเจนให้ศาลวินิจฉัยหากเกิดปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจรัฐสภา เพราะฉะนั้นรัฐสภาจำเป็นต้องนำเรื่องนี้ไปสู่ศาลเพื่อวินิจฉัยให้สิ้นกระแสความ” นายสมชายกล่าว
         ในเวลา 14.20 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา เป็นประธาน ได้ให้ลงมติ ผลปรากฏว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องไปยังศาลวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจและหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ ด้วยคะแนน 366 ต่อ 316 งดออกเสียง 15 ไม่ลงคะแนนไม่มี
         รายงานข่าวแจ้งว่า ผลการลงมติครั้งนี้พบว่าพรรค พปชร.และพรรคขนาดเล็ก ประกอบด้วย พรรรคพลังท้องถิ่นไท, พรรครวมพลังประชาชาติไทย, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย, พรรคพลังไทยรักไทย, พรรคไทยรักธรรม, พรรคประชาธรรมไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคพลเมืองไทย, พรรคพลังชาติไทย และพรรคพลังธรรมใหม่ รวมถึง ส.ว. ลงมติเห็นชอบ และมี ส.ว.งดออกเสียงจำนวน 7 คน  อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นายอำพล จินดาวัฒนะ และนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล เป็นต้น
     ขณะที่การลงมติไม่เห็นประกอบไปด้วยพรรคฝ่ายค้านทุกพรรค รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ยกเว้นนายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นหนึ่งเดียวที่โหวตสวนมติพรรค โดยโหวตลงมติเห็นด้วย ขณะที่ ส.ส.พรรคชาติพัฒนาจำนวน 4 คน งดออกเสียง ส่วนพรรคเศรษฐกิจใหม่เสียงแตก มีผู้ลงมติเห็นด้วย 1 คน ได้แก่ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรค ลงมติงดออกเสียง 4 คน และลงมติไม่เห็นด้วย 1 คน คือนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
     ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ส.ที่มักจะโหวตสวนมติของพรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. และ น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี รวมถึงนายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ ไม่ได้ร่วมลงมติดังกล่าว
    ในช่วงเย็น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค พท. ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมแกนนำฝ่ายค้าน แถลงว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมทั้งพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ทำอย่างเต็มที่แล้ว ต่างเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีความจำเป็นต้องแก้ไข แต่กรณีที่เกิดขึ้นไม่แน่ใจว่าเป็นการยื้อให้การแก้รัฐธรรมนูญยืดยาวออกไปหรือไม่ ขอฝากให้ติดตาม ส่วนคนที่เห็นด้วยต่อการส่งให้ศาลตีความ คงเป็น ส.ว.และ ส.ส.พรรค พปชร. และพรรคที่เคยรับปากกับประชาชนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้พิสูจน์ให้เห็นชัดว่าใครมีความจริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญบ้าง
อัดฉีกง่ายกว่าแก้  
    นายพิธากล่าวว่า การลงมติดังกล่าวชัดเจนแล้วว่ารัฐธรรมนูญไทยฉีกง่ายกว่าแก้ไข ซึ่งรัฐธรรมนูญไทย 20 ฉบับ 17 มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร และ 3 ฉบับมาจากรัฐสภาและประชาชน เราควรพิสูจน์ว่าประเทศไทยยังมีดุลอำนาจทั้ง 3 อยู่ คืออำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ผลการโหวตวันนี้ชัดเจนว่าเกิดจากผลพวงรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ดังนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านและทุกพรรคการเมืองต้องยืนยันว่าอำนาจของรัฐสภาที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนมีอำนาจชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
    นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. กล่าวว่า ผลคะแนนชี้ให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลขาดความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดต่อรัฐสภาเมื่อเดือน ธ.ค.ปี 2563 ว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นในปี 2564 หรืออย่างช้าไม่เกินเดือน ม.ค.2565 แต่วันนี้ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ทำสิ่งที่รับปากไว้กับประชาชน สิ่งที่นายกฯ พูดเป็นแค่ลมปาก พรรคฝ่ายค้านและประชาชนจึงรู้สึกผิดหวังอย่างมาก แต่เราจะเดินหน้าสู้ต่อไป และจะรอคำวินิจฉัยของศาลว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
    วันเดียวกัน กลุ่มสร้างไทยออกแถลงการณ์ประณามสมาชิกรัฐสภาทุกคนที่ถ่วงเวลาการมีรัฐธรรมนูญของประชาชน พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาท่านอื่นๆ ตระหนักว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย จึงควรรีบคืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ที่เป็นของประชาชนโดยเร็ว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"