การเลือกตั้งท้องถิ่นเริ่มเดินหน้าจัดการเลือกตั้งกันอย่างต่อเนื่อง หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง นายกฯ และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไปแล้ว
และในวันที่ 28 มี.ค.นี้ จะเป็นคิวเลือกตั้ง "เทศบาล"
ปัจจุบัน การปกครองของเทศบาลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรและรายได้ของเทศบาล ดังนี้ 1.เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล มีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด 2.เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นที่มีประชากรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป มีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง 3.เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีประชากรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป มีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลนคร
ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลหรือนายกเทศมนตรี เทศบาลแบ่งเป็น 3 ประเภท 1.เทศบาลนคร มี 4 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลนครได้เขตละ 6 คน 2.เทศบาลเมือง มี 3 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลเมืองได้เขตละ 6 คน 3.เทศบาลตำบล มี 2 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลตำบลได้เขตละ 6 คน สำหรับข้อมูลปัจจุบัน ณ วันที่ 9 ก.ย.2563 ถึงปัจจุบัน มีเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง
สำหรับภารกิจหน้าที่ของเทศบาลแต่ละประเภท เริ่มจากเทศบาลตำบล ประกอบด้วย 1.รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน 2.ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ 3.รักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล 4.ป้องกันและระงับโรคติดต่อ 5.ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง 6.ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม 7.ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ 8.บำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น 9.หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล
ส่วนเทศบาลเมือง ภารกิจหน้าที่ประกอบด้วย 1.กิจการตามที่ระบุไว้ในมาตรา 50 2.ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา 3.ให้มีโรงฆ่าสัตว์ 4.ให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์และรักษาคนเจ็บไข้ 5.ให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ 6.ให้มีและบำรุงส้วมสาธารณะ 7.จัดให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น 8.ให้มีการดำเนินกิจการโรงรับจำนำหรือสถานสินเชื่อท้องถิ่น
และเทศบาลนคร ภารกิจหน้าที่ประกอบด้วย 1.กิจการตามที่ระบุไว้ในมาตรา 53 2.ให้มีและบำรุงการสงเคราะห์มารดาและเด็ก 3.กิจการอย่างอื่นซึ่งจำเป็นเพื่อการสาธารณสุข 4.การควบคุมสุขลักษณะและอนามัยในร้านจำหน่ายอาหาร โรงมหรสพ และสถานบริการอื่น 5.จัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม 6.จัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ 7.การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง 8.การส่งเสริมกิจการการท่องเที่ยว 9.กิจการอื่นๆ ตามมาตรา 54
ส่วนคุณสมบัติสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งพื้นฐานต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง สำหรับผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลที่สมัครรับเลือกตั้งในวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง สำหรับผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา
สำหรับ คุณสมบัติต้องห้ามสำหรับผู้สมัครโดยสรุปประเด็นสำคัญคือ ติดยาเสพติดให้โทษ เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดหรือไม่ อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือเคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
ในส่วนของผู้สมัครรับเลือกตั้งของนายกเทศมนตรีนั้น มีตระกูลดังๆ หรือเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง อาทิ ในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ นายชาตรี เชื้อมโนชาญ กลุ่มเพื่อไทยนครเชียงใหม่ เป็นตัวเต็ง ส่วนเทศบาลนครนครราชสีมา ประกอบด้วย นายอัคคชา พรหมสูตร อดีตผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ, นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม, เภสัชกรจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาและประธาน กปปส.นครราชสีมา และเทศบาลนครสมุทรปราการ คงหนีไม่พ้นตระกูลอัศวเหม ที่ได้ส่งนางประภาพร อัศวเหม ภรรยานายพูลผล อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พี่ชายของนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ลงชิงชัย หรือแม้แต่เทศบาลลตำบลบางปู กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ส่งนายวรพร อัศวเหม ลงชิงชัยเช่นกัน เช่นเดียวกับกลุ่มก้าวหน้าที่ขอล้างตาลงแข่งขันในหลายพื้นที่ จึงเป็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มก้าวหน้าจะได้เก้าอี้นายกเทศมนตรีหรือไม่ หลังจากการเลือกตั้ง อบจ.แพ้อย่างราบคาบ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |