วัคซีนโควิดกับ แนวทางของไทย


เพิ่มเพื่อน    

       มีคำถามว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายการให้ได้มาซึ่งวัคซีนโควิด-19 อย่างไรบ้าง ทั้งที่วิจัยและพัฒนาเอง กับที่ซื้อจากต่างประเทศ

            ด้วยวิธีการต่างๆ เหล่านี้ คนไทยจะได้วัคซีนเมื่อไหร่?

            เมื่อได้มาแล้วจะแจกจ่ายใครก่อนหลัง?

            จะกระจายการฉีดให้ประชาชนอย่างไร?

            อีกทั้งยังจะให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีนอย่างไร?

            เป็นชุดคำถามสำคัญที่รัฐบาลจะต้องตอบคนไทยได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง

            เพราะสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด-19 และวัคซีนมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

            หากจะรวบรวมจากถ้อยแถลงของฝ่ายต่างๆ และที่ผมได้สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องถึงวันนี้ก็น่าจะสรุปได้อย่างนี้ก่อน

            ประเด็นแนวทางการจัดหาวัคซีนนั้น นพ.นคร เปรมศรี  ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เคยบอกว่ามี 3 แนวทางหลัก

            แนวทางที่ 1 การวิจัยและพัฒนาเองในประเทศ

            นั่นหมายถึงการส่งเสริมให้นักวิจัยพัฒนาวัคซีนได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่ และก็มีความก้าวหน้าเรื่อยๆ

            คุณหมอนครเล่าถึงวัคซีนที่ได้ผลดีกับลิง มีผลการกระตุ้นความปลอดภัยและภูมิคุ้มกันได้เทียบเคียงกับวัคซีนที่ประสบความสำเร็จ

            จึงมีความมั่นใจว่าวัคซีนที่อยู่ในมือเป็นตัวเลือกที่ดี

            จากนี้ก็จะพัฒนาในคนระยะที่หนึ่ง ระยะที่สอง

            เชื่อว่าระยะที่สามคงเริ่มในปีใหม่นี้ได้

            แนวทางที่ 2 คือ การร่วมมือกับต่างประเทศซึ่งเน้นการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี

            เริ่มด้วยความร่วมมือกับ AstraZeneca ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้แก่ Siam Bioscience ของไทย

            ทางการเห็นว่านี้คือการสร้างความมั่นคงทางด้านวัคซีนของประเทศ

            เพราะอย่างน้อยไทยก็สามารถผลิตวัคซีนชนิด viral  vector ได้แล้ว

            แนวทางที่ 3 การจัดซื้อวัคซีนโดยตรงจากผู้ผลิตที่มีศักยภาพในต่างประเทศ

            โดยพิจารณาเอกสารการวิจัยและพัฒนาจากประเทศต้นทางและ อย.หรือคณะกรรมการอาหารและยาของไทย

            ที่อยู่ในกระบวนการขณะนี้มีของซิโนแวค ประเทศจีน 2  ล้านโดส ซึ่งมอบองค์การเภสัชกรรมจัดซื้อและจำหน่าย ขึ้นทะเบียน อย.เร็วๆ นี้

            คำถามที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจนคือ ทำไมต้องเป็น  Siam Bioscience?    

            สิ่งแรกที่ต้องรู้คือ AstraZeneca ของสหราชอาณาจักรเป็นคนเลือก Siam Bioscience

            ซึ่งได้รับคำอธิบายจากนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ระบุว่า Siam Bioscience ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธยนั้น จุดเริ่มต้นมาจากความสัมพันธ์อันดีระหว่าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

            โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลหลายรายการ เช่น PIC/S GMP, ISO 9001,  ISO 17025 และ ISO 13485

            ก่อนหน้านี้ คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ได้ชี้แจงถึงที่มาของความร่วมมือนี้ในงาน  Intania Dinner Talk 2020 เมื่อ 1 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า

            ความร่วมมือนี้เริ่มจากการที่ SCG จับมือวิจัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยชื่อดังของอังกฤษเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี

            เมื่อได้รับทราบว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จึงมีการหารือเพื่อหาหนทางสร้างประโยชน์ให้ประเทศไทย

            ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นมีการหารือกับผู้ใหญ่ในรัฐบาล  ได้รับทราบว่ารัฐบาลยินดีให้การสนับสนุนภาคเอกชน

            แต่ในด้านการเจรจา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้มอบหมายให้บริษัทแอสตราเซเนกาเป็นผู้ดำเนินการด้านการผลิตและกระจายวัคซีนในเชิงพาณิชย์

            ภายใต้แนวความคิด "No Profit, No Loss" นั่นคือ

            "ไม่กำไร ไม่ขาดทุน"

            คุณรุ่งโรจน์บอกว่าจังหวะปะเหมาะที่สยามไบโอไซเอนซ์เพิ่งสั่งซื้อเครื่องจักรเข้ามาใหม่ในขณะนั้น อีกทั้งเป็นรุ่นเดียวกับสายการผลิตของแอสตราเซเนกาด้วย

            เป็นที่มาของการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตราเซเนกา  เมื่อ 14 ตุลาคมปีที่ผ่านมา.

            (พรุ่งนี้: จะแจกจ่ายวัคซีนเมื่อไหร่ อย่างไร)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"