9 ก.พ.64 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารััฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมีผลไปถึงขั้นการปรับ ครม.หรือไม่ว่า คงต้องดูในการอภิปราย เพราะเป็นเรื่องการตอบคำถามในสภา และเรื่องนี้ตนไม่มีอะไรต้องคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พปชร. ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า ส.ส.บางส่วนอาจจะไม่ยกมือโหวตให้ รัฐมนตรีบางคนในพรรค พปชร.นั้น ตนไม่่รู้สึกหวั่นไหว เพราะในระบบรัฐสภาเป็นกระบวนการตรวจสอบผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตอนนี้ยังไม่มีการอภิปราย ยังไม่ได้ชี้แจงในสภาเลยว่าข้อกล่าวหาคือเรื่องอะไร จะต้องรอให้มีการตอบในสภาก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่า ในพรรค พปชร.อาจไม่โหวตให้รัฐมนตรีของพรรคทุกคน รวมถึงนายณัฏฐพล รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า เท่าที่ทราบในพรรคมีความเป็นเอกภาพ ไม่มีข้อกังวลอะไร
เมื่อถามว่า ข่าวที่ออกมาเกิดจากแรงกระเพื่อมในพรรค คิดว่าอะไรคือแรงที่ทำให้เกิดสามก๊กในพรรค นายณัฏฐพล กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ ความเห็นที่ไม่ตรงกันมีอยู่แล้วในพรรคการเมือง ไม่น่าจะเป็นอะไรที่น่ากังวล เราทำหน้าที่ต่อในสภา และไม่รู้สึกน้อยใจอะไร เป็นเรื่องธรรมดา
เมื่อถามว่า มองว่าข่าวนี้ถูกปล่อยมาจากที่ไหน นายณัฏฐพล กล่าวว่า อาจเป็นเรื่องความเห็นไม่ตรงกันในบางเรื่อง สุดท้ายต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบในสภา ส่วน ส.ส.ที่จะลงมติไปทางไหนขึ้นอยู่กับการตอบคำถาม ถ้าตอบไม่ตรงคำถามก็อาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้ตัดสินใจลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งตนไม่กังวล
เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่จะมีการลงมติให้นายณัฏฐพลได้รับคะแนนน้อยกว่ารัฐมนตรีคนอื่น เนื่องจากไม่ค่อยรับฟังส.ส.ในพรรค พปชร. และ ส.ส.ประสานงานเรื่องในกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ นายณัฐพล กล่าวว่า การประสานงานขึ้นอยู่กับว่าเป็นเรื่องอะไร ถ้าสมมุติเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้าย ตนทำให้ไม่ได้อยู่แล้ว การพิจารณาในกระทรวงศึกษาธิการขึ้นอยู่กับคุณสมบัติที่เหมาะสม คนที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างครบถ้วน หากใครจะฝากอะไรมา ไม่ได้อยู่แล้ว ที่ผ่านมาตนยึดมั่นการทำงานที่ตรงไปตรงมา ถูกต้อง และมีความเหมาะสมในการบริหารจัดการเพื่อผลประโยชน์ของเด็ก เยาวชนครู และบุคลากรทางการศึกษา จึงไม่สามารถเอาเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ของพรรคการเมืองมาเป็นหลักในการตัดสินใจบริหารกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเป็นการสวมหมวกคนละใบ ในฐานะเจ้ากระทรวงศึกษาธิการต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของกระทรวงมากที่สุด
เมื่อถามว่า มีข่าวว่าบุคคลที่ต้องการให้นายณัฏฐพลได้รับคะแนนน้อยที่สุดคือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคนหนึ่งในพรรค พปชร. เกิดจากปัญหาในพรรคหรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า ไม่มี และทำงานตามปกติ การเห็นต่างเป็นธรรมดาของพรรคการเมือง ความรุนแรงก็แตกต่างกันไป และความต่างทางความคิดเห็นสามารถพูดคุยกันได้ เชื่อว่าในพรรคจะเรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไร และยืนยันว่าข่าวที่ออกมาไม่เกี่ยวกับการที่ตนสนับสนุนนางทยา ทีปสุวรรณ ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เพราะเป็นคนละเรื่อง และคิดว่าทุกคนน่าจะเข้าใจเรื่องนี้แล้ว
เมื่อถามว่า คาดว่าเนื้อหาที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมีประเด็นอะไรบ้าง นายณัฏฐพล กล่าวว่า เป็นเรื่องการบริหารงานภายในกระทรวงศึกษาธิการมากกว่า ที่มีการกล่าวหาว่ามีการแต่งตั้งข้ามแท่งหรือหน่วยงานให้คนที่ไม่มีความรู้ความสามารถเข้าไปควบคุมในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะการทำงาน ขึ้นอยู่กับคณะทำงานที่เสนอเรื่องขึ้นมา ขอย้ำว่าเป็นเรื่องภายในกระทรวง ส่วนจะได้ข้อมูลมาจากไหน ไม่มีปัญหาอะไร เพราะการตัดสินใจอะไรไม่มีคนที่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว
เมื่อถามถึงกรณีนักเรียนเลวออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปการศึกษา มีผลต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ ณัฏฐพล กล่าวว่า ไม่มี นักเรียนเลวเป็นหนึ่งกลุ่มที่แสดงความคิดเห็น และยังมีกลุ่มอื่นที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างกันไป ทุกข้อเสนอจากทุกกลุ่มได้นำมาพิจารณาหาความเหมาะสม หากจำเป็นต้องปรับปรุง หรือปรับเปลี่ยนในส่วนของกระทรวงก็ดำเนินการตั้งคณะทำงานไปแล้วชัดเจน ได้รับฟังข้อคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |