แฟ้มภาพ
9 ก.พ.64 - กลุ่มสร้างไทยที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้ากลุ่ม ได้ออกแถลงการณ์ มีเนื้อหาว่า ตามที่สมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจากพรรคพลังประชารัฐและสมาชิกวุฒิสภา ได้เข้าชื่อเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภาขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา กรณีเห็นว่าสมาชิกรัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั้น กลุ่มสร้างไทย ขอเรียนว่า การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยมี สสร. เป็นองค์กรในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ (ยกเว้นการแก้ไขในหมวด ๑ และหมวด ๒) ได้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ ทุกประการ และตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๒๑๑ (๑) ก็มิได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเช่นกัน แต่สมาชิกรัฐสภาก็ได้ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๙ อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดย สสร. จึงกระทำได้และเป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทุกประการ
กลุ่มสร้างไทย เห็นว่า การใช้สิทธิของบุคคลจะต้องเป็นไปโดยสุจริต แต่พฤติกรรมที่ผ่านมาของสมาชิกรัฐสภากลุ่มนี้ส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตมาแต่แรก เริ่มจากการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้นถ่วงเวลาด้วยการขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาเพื่อพิจารณาศึกษาญัตติการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และล่าสุดคือการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของตน ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสสร. ฉบับที่ถูกใช้เป็นร่างในการพิจารณาในรัฐสภาขณะนี้ ได้ถูกเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำและผู้ที่จะเสนอญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็เป็นผู้ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวด้วย อีกทั้งร่างดังกล่าวยังได้รับการลงมติเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภาในวาระแรกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๒๔ ยังบัญญัติให้การออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภาเป็นเอกสิทธิ์เด็ดขาดที่ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดๆ มิได้ กรณีจึงไม่มีเหตุอันควรและล่วงเลยเวลาที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงอำนาจหน้าที่ในการลงมติแล้ว นอกจากจะเป็นไปเพื่อถ่วงขั้นตอนและเวลาการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน
นอกจากนี้กลุ่มสร้างไทย ยังเห็นว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดขั้นตอนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้แล้วตามมาตรา ๒๕๖ (๙) ที่ให้อำนาจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ดังนั้น การเพิ่มขั้นตอนจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้จึงเป็นการถ่วงเวลาการมีรัฐธรรมนูญของประชาชน
กลุ่มสร้างไทย เห็นว่าเมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ประชาชนจึงย่อมมีอำนาจที่จะแต่งตั้งตัวแทนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญอันเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของตนได้โดยชอบ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งถูกร่างขึ้นโดยคณะบุคคลที่ถูกแต่งตั้งโดยเผด็จการที่นอกจากจะไม่มีความชอบธรรมแล้ว เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญยังขัดต่อหลักนิติธรรมและเป็นไปเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการอันนำมาซึ่งความขัดแย้งและความล้มเหลวในการบริหารประเทศสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่าดังที่เกิดขึ้นแล้วจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นเพียงกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากการเกื้อหนุนของเผด็จการที่อยู่บนต้นทุนของประเทศและความเดือดร้อนของประชาชน
กลุ่มสร้างไทย จึงขอประณามสมาชิกรัฐสภาทุกคนที่ถ่วงเวลาการมีรัฐธรรมนูญของประชาชน พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาท่านอื่นๆ ได้ตระหนักว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย จึงควรรีบคืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อให้มีการเลือกตั้ง สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ที่เป็นของประชาชนโดยเร็ว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |