'ธนาธร'ซัดทหารเผด็จการ!มีวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวลในกองทัพ


เพิ่มเพื่อน    

9 ก.พ.64-  เมื่อค่ำวันที่ 8 ก.พ. 2564 นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ร่วมกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดรายการวิเคราะห์พูดคุยในหัวข้อ "1 ปีโศกนาฏกรรมกราดยิงโคราช ปฏิรูปกองทัพไป (ไม่) ถึงไหน?" ว่าด้วยการปฏิรูปกองทัพ ในโอกาสครบรอบ 1 ปีเหตุที่จ่าสิบเอกรายหนึ่ง นำอาวุธจากคลังแสงออกมาทำการกราดยิงประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา อันส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และนำมาสู่คำสัญญาจากกองทัพว่าจะดำเนินการปฏิรูปกองทัพในหลายๆ ด้าน ที่เป็นต้นเหตุของการกราดยิงในครั้งนั้น โดยเฉพาะในกรณีที่มาของเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีต้นเหตุมาจากการทุจริตในโครงการบ้านพักสวัสดิการทหาร เป็นเหตุให้จ่าสิบเอกคนดังกล่าวเกิดความรู้สึกคับแค้นใจ ถูกเอาเปรียบ ร้องเรียนไปทางใดก็ไม่ได้รับการตอบสนอง หนำซ้ำยังถูกกลั่นแกล้งลงโทษ จนออกมาแสดงออกซึ่งความคับแค้นใจจนเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าว

***ชี้ ปฏิรูป "กองทัพพาณิชย์" แทบไม่เกิดขึ้น - กังขา "สวัสดิการกองทัพ" ไปตกที่ใคร - หลังพบนายพลเกษียณมั่งคั่งเป็นร้อยล้าน

นายพิจารณ์ กล่าวว่า ถ้าเราย้อนกลับไปหลังเกิดเหตุการณ์ จะเห็นได้ว่าปฏิกิริยาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์อย่างสบายใจ มีพฤติกรรมที่ยกตัวเหนือปัญหา ผลักปัญหาให้เป็นความรับผิดชอบของผู้บัญชาการทหารบกตอนนั้นคือ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ก็ได้ออกมาให้คำสัญญาว่าจะมีการปฏิรูปกองทัพภายใน 90 วัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบ้านพักสวัสดิการทหาร เรื่องเงินสวัสดิการ การตั้งศูนย์ร้องเรียนจากนายทหารชั้นผู้น้อย และเรื่องการบริหารจัดการที่ราชพัสดุใหม่ ซึ่งในแง่ของความคืบหน้าในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ เราพบความคืบหน้าน้อยมาก ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โฆษกกองทัพบกได้ออกมาแถลงและให้รายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งจากคำแถลง ทำให้ตนเกิดประเด็นข้อสงสัย ไม่ว่าจะเรื่องของสนามกอล์ฟ 36 แห่ง ซึ่งโฆษกกองทัพบกบอกว่า 3 แห่งเป็นสวัสดิการเชิงธุรกิจ อีก 33 แห่งเป็นสวัสดิการภายใน ซึ่งตนมีข้อกังขาเป็นอย่างมาก เพราะสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งมีรายจ่ายต่อปีไม่ใช่น้อย นับเป็นหลักหลายล้านบาท งบประมาณส่วนนี้มาจากไหน และมีการจัดสรรอย่างเหมาะสมหรือไม่?

"ส่วนเรื่องสนามม้า 2 สนามและสนามมวยลุมพินี ตามข่าวมีการระบุว่ามีการปิดสนามม้าถาวรไปแล้ว ส่วนสนามมวยลุมพินีอยู่ในระหว่างการศึกษาที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจ ซึ่งก็เท่ากับคำว่า 'อาจจะ' ส่วนสนามม้าปัจจุบันตามข่าวระบุว่าเป็นการปิดไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 และอยู่ระหว่างการศึกษา หรืออาจจะกล่าวได้ว่าทั้งหมดนี้ยังไม่เห็นความชัดเจน ทุกอย่างยังเป็นเรื่องของ 'อาจจะ' ทั้งหมด" นายพิจารณ์ กล่าว

ด้าน นายธนาธร กล่าวเสริมว่า ดังนั้น เราอาจจะสรุปได้ง่ายๆ ว่า ข้อสัญญาว่าด้วยการปฏิรูปกองทัพในเรื่องการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ประชุม สนามม้า สนามมวย สนามฟุตบอล จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ เลย อย่างเช่นในกรณีของสนามกอล์ฟและโรงแรมที่สวนสนประดิพัทธ์ ซึ่งตนได้ลงไปสำรวจมาด้วยตนเอง ที่มีการระบุว่ายกให้เอกชนไปบริหารแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเงินที่เป็นค่าสัมปทานจะกลับเข้าสู่คลังทั้งหมด มีเพียงส่วนเดียวเท่านั้นที่กลับเข้าสู่กระทรวงการคลัง ประมาณ 10% นอกนั้นอีก 90% กองทัพจะดูแลกันเองภายใต้กองทุนสวัสดิการกองทัพ ซึ่งตนต้องบอกว่าเรื่องของกองทัพพาณิชย์เป็นปัญหาใหญ่ จากข้อมูลที่สำนักข่าว The Standard นำเสนอออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถึงบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินของอดีตผู้นำเหล่าทัพที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ประกอบไปด้วย พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีทรัพย์สินกว่า 82 ล้านบาท, พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ มีทรัพย์สินกว่า 198 ล้านบาท, พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ มีทรัพย์สินกว่า 81 ล้านบาท, พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก มีทรัพย์สินกว่า 157 ล้านบาท, และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีทรัพย์สินกว่า 983 ล้านบาท

"สนามกอล์ฟสวนสนประดิพัทธ์ ซึ่งเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ แต่รายได้จากการบริหารเอาเข้ากองทัพกว่า 90% ในนามของกองทุนสวัสดิการ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ยังมีที่ดินในลักษณะนี้อีกมากมายที่กองทัพบกเข้าไปดูแล หลายแห่งให้เอกชนเช่าเป็นสถานีบริการน้ำมัน หลายแห่งให้ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่เช่า หลายแห่งให้เช่าตั้งตู้กดเงินอัตโนมัติ โดยที่รายได้กลับเข้าสู่กองทัพบกเป็นส่วนใหญ่ในนามของสวัสดิการกองทัพ ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีใครมองเห็นว่าเงินปต่ละปีเป็นจำนวนเท่าไหร่ เอาไปให้สวัสดิการกับใครบ้าง ผมตั้งข้อสงสัยว่าสวัสดิการต่างๆ เหล่านี้ เอาไปให้กับทหารชั้นผู้น้อยเป็นจำนวนเพียงน้อยนิด แต่เอาไปให้กับทหารชั้นนายพลเป็นจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้นายพลจำนวนมากมีทรัพย์สินเท่านี้หรือไม่? พวกเราพยายามขอให้กองทัพเปิดเรื่องนี้ว่าสวัสดิการของกองทัพที่ได้มาจากทรัพย์สินของรัฐต่างๆ เป็นเงินเท่าไหร่ต่อปี มีอะไรบ้าง แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบ" นายธนาธรกล่าว

***กิจการพาณิชย์ไม่ใช่ภารกิจของกองทัพ - ชี้ ต้องนำทรัพย์สินกลับคืนรัฐให้หมด-งบทุกบาทต้องขอจากสภาผู้แทนฯ ไม่ใช่มาจัดการกันเองแบบตรวจสอบไม่ได้

นายพิจารณ์ กล่าวต่ออีกว่า กรณีของที่ราชพัสดุ แม้หลายคนจะตั้งข้อสังเกตว่าเพราะมีเหตุกราดยิงที่โคราช จึงมีการปฏิรูปในเรื่องของที่ราชพัสดุเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นหรือไม่ ก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในที่ราชพัสดุอยู่แล้ว ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ ที่จะต้องให้หน่วยงานของรัฐบาลทั้งหมดทบทวนและรายงานการใช้ที่ดินที่ราชพัสดุของรัฐ กลายเป็นกองทัพบกเองที่ดำเนินการล่าช้าในการร่วมมือกับกรมธนารักษ์ และล่าสุดเราได้ขอเอกสารจากกรมธนารักษ์ไป นอกจากตัวของ MOU แล้วเรายังได้จดหมายติดต่อกันระหว่างกรมธนารักษ์กับกองทัพ ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่ากรมธนารักษ์ทวงถามความคืบหน้าไปยังกองทัพบ่อยมาก เนื่องจากความล่าช้าในการยื่นเอกสารหลักฐานต่างๆ และในที่สุดก็ยังได้ไม่ครบอีกด้วย

"นอกจากนี้ ยังมีกรณีของที่ดินสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ และกำลังจะมีการพัฒนาพื้นที่สนามบินพาณิชย์ภายใต้งบประมาณหลายพันล้านบาท ซึ่งเมื่อเราเข้าไปดูรายละเอียดของงบประมาณ จะพบได้ว่าคนที่ดูแลโครงการและงบประมาณส่วนนี้ก็คือกองทัพเรือ สิ่งที่ตนกังขาคือเหตุใดจึงไม่มีการเปิดซองประมูลหาผู้พัฒนาสนามบิน สุดท้ายคำตอบที่ได้คือเพราะว่ากองทัพเรือเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งจริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่ภารกิจของกองทัพเรือ เมื่อรัฐมีนโยบายแล้วว่าจะเรียกคืนที่ดินกลับมาจากหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้ว" นายพิจารณ์ กล่าว

นายธนาธร กล่าวว่า ประวัติความเป็นมาของกองทุนสวัสดิการกองทัพ ในวันที่ประเทศไทยยังเป็นเผด็จการ กองทัพมีความเข้มแข็ง แต่ประเทศไทยมีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะดูแลบุคลากรของกองทัพ จึงได้มีการขอเอกสิทธิ์ในการบริหารจัดการที่ดินของรัฐหลายส่วน ให้มาอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพ เพื่อจะได้นำรายได้มาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้กับบุคลากรของกองทัพ แต่ปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจพัฒนาไปมากแล้ว รัฐบาลมีระบบการจัดการที่พัฒนาขึ้น การมีกองทัพพาณิชย์ควรจะยุติลง เอาทรัพย์สินที่กองทัพดูแลอยู่กลับมาคืนสู่รัฐ จะเอาไปขายให้เอกชน ให้สัมปทานเอกชนมาบริหารให้เกิดเม็ดเงินเข้ารัฐมากขึ้น ส่วนกองทัพต้องการสวัสดิการมากน้อยเพียงใดก็ให้ไปขอจากสภาผู้แทนราษฎร เหมือนกับหน่วยงานกระทรวงอื่นๆ ของรัฐ ไม่จำเป็นจะต้องมีอะไรที่มันมืดมิดแบบนี้แล้วไปบริหารจัดการกันเอง โดยที่ผู้แทนของประชาชนตรวจสอบไม่ได้ กองทัพต้องมีภารกิจเดียว นั่นคือปกป้องประเทศไทยจากการรุกรานของศัตรู ส่วนเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับภารกิจต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่ควรทำอีก

***กลไกร้องเรียนทหารผู้น้อยถูกเอาเปรียบไม่มีอยู่จริง -ยกกรณี "หมู่อาร์ม" เปิดโปงการทุจริตแต่ถูกลงโทษจนอยู่ไม่ได้

นายพิจารณ์ กล่าวว่า นอกจากเรื่องของกองทัพพาณิชย์แล้ว ยังมีอีกส่วนของการปฏิรูปกองทัพที่ยังไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร นั่นก็คือเรื่องของสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม เมื่อทหารชั้นผู้น้อยถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งตนคิดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช แม้อดีตผู้บัญชาการทหารบกจะได้มีนโยบายตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ที่จะนำเรื่องโดยตรงไปถึงผู้บัญชาการทหารบก แต่เราก็จะเห็นได้ว่ามีกรณีของ ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือ 'หมู่อาร์ม' ที่ใช้ช่องทางนี้ในการร้องเรียนการทุจริตในหน่วยงานศูนย์ซ่อมสร้างอุปกรณ์สรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก ซึ่งหมู่อาร์มไปเจอสิ่งที่เรียกว่า 'เบี้ยเลี้ยงผี' หรือการให้บุคลากรในหน่วยงานไปลงชื่อรับเงินเบี้ยเลี้ยง ในภารกิจที่ต้องมีการเดินทาง แต่สุดท้ายแล้วไม่ได้มีการเดินทางจริง และคนที่ลงชื่อก็ไม่ได้รับเงินจริง เรื่องนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกองทัพบก ได้ทำการตรวจสอบและชี้แล้วว่าเป็นความผิด ว่าหน่วยงานมีการโอนภารกิจ มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคลากรที่ต้องไปพื้นที่ ชี้ว่าแม้จะไม่มีเจตนาทุจริต แต่ก็มีความผิดทางวินัย มีความไม่โปร่งใส และยังมีในกรณีของโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ป้องกันยาเสพติด ที่ต้องมีการเดินทางออกนอกสถานที่ ซึ่งหมู่อาร์มก็ต้องลงชื่อรับเงินเบี้ยเลี้ยง แต่ก็ไม่ได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจอีก มีกระทั่งการปลอมแปลงลายเซ็นของวิทยากรระดับพันเอก แต่ไม่มีงานเกิดขึ้นจริง เป็นการปลอมแปลงเอกสาร

"ปัญหาที่เราจะเห็นได้จากกรณีนี้ คือสิ่งที่ พล.อ.อภิรัชต์ระบุว่าต้องมีศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ขึ้นมา ในท้ายที่สุดแล้วกลับไม่สามารถทำงานได้จริง ตัวหมู่อาร์มที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ แทนที่จะได้รับการเชิดชู การปกป้อง การเลื่อนขั้น กลับถูกกดดันกลั่นแกล้ง ถูกขังในคุกทหาร และสุดท้ายต้องออกจากราชการ เรื่องราวนี้มันสะท้อนให้เห็นแล้ว ว่าการที่นายทหารชั้นผู้น้อยจะร้องเรียนเพื่อความยุติธรรม หรือร้องเรียนถึงสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในกองทัพ มันทำไม่ได้จริง แล้วเรื่องนี้คนระดับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องลงมาดู มันต้องเป็นการแก้ไขในระดับระบบหรือนโยบาย หรือกลไก เช่นการแก้ไข พ.ร.บ.วินัยทหาร เป็นต้น" นายพิจารณ์ กล่าว

ด้าน นายธนาธร เสริมว่า เรื่องนี้ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล ซึ่งถ้าเราอยากเห็นการปฏิรูปกองทัพที่แท้จริง เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นผู้นำเหล่าทัพต้องลงมาสั่งการ ให้คนที่กระทำผิดได้รับผลจากการกระทำนั้นจริงๆ เพื่อที่ในอนาคตจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก แต่จากที่ตนสังเกตเห็นในรอบหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรเช่นนี้ขึ้น ก็ไม่เคยมีใครต้องรับผิดชอบใดๆ

***สรุป 1 ปีหลังเหตุกราดยิงโคราช ทุกอย่างอยู่ที่เดิม-กองทัพไร้ความจริงใจปฏิรูป - "พิจารณ์" ชวนปูเสื่อรอฟังอภิปรายชำแหละ "ประยุทธ์" รมว. กลาโหม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของรายการ ทั้งคู่ได้สรุปบทเรียนจากความพยายามปฏิรูปกองทัพในรอบปีที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช โดย นายธนาธร ระบุว่าการปฏิรูปสองด้านใหญ่ๆ ยังไม่เกิดขึ้น นั่นคือการยกเลิกกองทัพพาณิชย์ ที่ไม่ต้องแจ้งรายได้ ไม่สามารถตรวจสอบได้ เอารายได้กลับเข้าคืนคลัง ซึ่งสุดท้ายวันนี้กองทัพพาณิชย์ก็ยังคงมีอยู่และมีมูลค่ามหาศาล สิ่งต่างๆเหล่านี้เราจะยังคงติดตามให้มีการยกเลิกต่อไป อีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องของสิทธิมนุษยชนในกองทัพ การให้ความดูแลทหารชั้นผู้น้อยในกองทัพ เรื่องนี้ก็ยังคงไม่ถูกแก้ไข หนำซ้ำยังมีการปัดตก พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ ทั้งที่ควรจะให้โอกาสมันได้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ให้มีการถกเถียงพูดคุยกัน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย ว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาเราไม่เห็นรูปธรรมของการปฏิรูปกองทัพที่จับต้องได้เลย ทั้งๆ ที่ นี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะดำเนินการปฏิรูปกองทัพ มีการพูดคุยในสังคมอย่างกว้างขวาง ได้รับการสนับสนุนจากสังคมอย่างกว้างขวาง แต่โอกาสนี้กำลังจะหลุดลอยไป ไม่มีการปฏิรูปเกิดขึ้นอย่างที่สัญญาไว้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

ขณะที่ นายพิจารณ์ กล่าวว่า ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ก็จะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตนอยากเรียนว่า วันนี้ที่เราพูดคุยกันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาในกองทัพ พรรคก้าวไกลจะมีการอภิปรายในส่วนของกระทรวงกลาโหม รวมถึงรัฐมนตรีของกระทรวงอื่นๆ และนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนขอให้ประชาชนทุกคนได้ร่วมกันติดตามชมอย่างใกล้ชิด โดยจะมีทีเด็ดจากพรรคก้าวไกลแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"