ศาลยกคำร้องดีอีเอส ไม่ระงับคลิปไลฟ์สด "ธนาธร" วิจารณ์รัฐบาลเรื่องวัคซีนโควิดพาดพิงสถาบัน ชี้ไม่ชัดเจนผิด 112 เป็นข้อเท็จจริงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นสยามไบโอไซเอนซ์ มิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย ศบค.ขอศึกษาเรื่องให้ผู้ฉีดวัคซีนเข้าประเทศก่อน เหตุ WHO รายงานว่ายังไม่ปลอดภัย ด้าน คกก.โรคติดต่อฯ สรุปแผนฉีดวัคซีน 2 ระยะ 2 ล้านโดส กับ 61 ล้านโดส คาดสิ้นปีฉีดกลุ่มเป้าหมายครบ "อนุทิน" เผย ก.พ.นี้ได้วัคซีนจากซิโนแวคล็อตแรก 2 แสนโดส ดีดปากคนไม่ใช่แพทย์-ผู้เชี่ยวชาญให้สงบปากสงบคำ
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำ พศ.76/2564 ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปวิดีโอไลฟ์สดทางเว็บไซต์ จำนวน 3 URL ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ผู้คัดค้าน ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาล โดยมีส่วนหนึ่งพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
ศาลพิเคราะห์ เมื่ออ่านถ้อยคำในมาตรา 14 (3) ซึ่งกำหนดความผิดสำหรับการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญานั้น เห็นว่าถ้อยคำที่ว่า "อันเป็นความผิด" แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้ที่นำข้อมูลซึ่งได้มีการวินิจฉัยโดยชัดแจ้งแล้วว่าเป็นความผิดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อมิให้ความผิดตามมาตรา 14 (3) ซ้ำซ้อนกับกับความผิดประมวลกฎหมายอาญาที่มีโทษสูงกว่าอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อยังไม่มีการฟ้องเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำร้องนี้ให้รับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่มีกรณีต้องวินิจฉัยตามมาตรา 14 (3) และไม่เข้าเหตุตามมาตรา 20 (1)
จากข้อความที่ผู้คัดค้านนำเสนอนั้น เนื้อหาเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นในเรื่องการกล่าวหารัฐบาลว่าบกพร่องในการจัดหาวัคซีน โดยมีการนำข้อมูลหลายอย่างมาสนับสนุน ซึ่งมีการบรรยายถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องหลายบริษัท รวมทั้งกล่าวถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นด้วย ข้อมูลที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ระบุเกี่ยวกับการถือหุ้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนน้อยและไม่ใช่ประเด็นหลักของการนำเสนอ เมื่อพิจารณาถึงข้อความที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะเจาะจง ในส่วนแรกเป็นการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งความข้อนี้ผู้คัดค้านนำสืบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเอกสารราชการและผู้ร้องไม่ได้คัดค้าน จึงฟังว่าเป็นความจริง ข้อเท็จจริงเพียงว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นบริษัทดังกล่าว มิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง หรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด
สำหรับในส่วนที่สอง เป็นส่วนเสริมจากข้อมูลส่วนใหญ่ของการนำเสนอที่กล่าวหารัฐบาลว่าผิดพลาดในการให้วัคซีนเกือบทั้งหมดถูกผลิตในบริษัทเดียว การกล่าวอ้างถึงคำถามต่อประชาชนต่อสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งอาจกระทบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นการชักชวนให้ประชาชนกล่าวโทษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่โดยลักษณะของข้อความที่สืบเนื่องกันมามีลักษณะเป็นการกล่าวหาว่า การกระทำของรัฐบาลจะกระทบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้คนฟังรู้สึกว่าความบกพร่องของรัฐบาลเป็นเรื่องร้ายแรง ด้วยลักษณะของการนำพระมหากษัตริย์มาอ้างเพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบมากขึ้น จึงไม่ได้มีการกล่าวถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัท เพราะไม่ได้มุ่งเน้นความรับผิดของบริษัท คดีนี้มิใช่การพิจารณาความผิดของผู้คัดค้าน และจักต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด คือข้อความที่สมควรถูกห้ามนั้นต้องมีความชัดแจ้งที่จะเป็นความผิด ซึ่งเมื่อพิจารณาแต่เฉพาะถ้อยคำตามตัวอักษรข้อความที่ผู้คัดค้านกล่าวสืบเนื่องมาทั้งหมดของเรื่องนี้ ยังไม่สามารถเห็นได้อย่างกระจ่างชัดเจน ว่าจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
'วัคซีนพระราชทาน' ไม่ใช่ใส่ความ
ในส่วนการนำเสนอของผู้คัดค้านมีข้อความหัวเรื่องว่า " วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย" ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นคำพูดที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดทำนองนี้ และหน่วยงานของรัฐบาลเคยใช้คำนี้ ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ผู้ร้องมิได้โต้แย้ง ข้อเท็จจริงจึงฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่ผู้คัดค้านนำสืบ ทั้งนี้ แม้ว่าถ้อยคำอาจไม่ตรงกันทั้งหมด แต่น่าจะแสดงว่าก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลได้มีการใช้ถ้อยคำที่แสดงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประกอบการจัดหาวัคซีนแล้ว การที่ผู้คัดค้านนำข้อความดังกล่าวมานำเสนอจึงมิใช่ความเท็จ และลำพังข้อความดังกล่าวหากมิใช่ความเท็จก็ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระองค์ จึงไม่ใช่การใส่ความ
เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดแล้ว แม้ว่าผู้คัดค้านจะบรรยายว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด แต่ก็มิได้มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นชัดเจนเป็นการกล่าวหา หรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริตต่อพระองค์ไม่ว่าในทางใดๆ จึงไม่มีลักษณะชัดเจนและเห็นได้ในทางภาวะวิสัยที่แสดงว่าข้อความนี้อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การไต่สวนและมีคำสั่งของศาล ซึ่งย่อมมีผลให้คำสั่งศาลในวันที่ 29 ม.ค. 2564 เป็นอันสิ้นผล และมีคำสั่งยกคำร้อง
ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ขณะที่การฉีดวัคซีนในต่างประเทศ ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการฉีดไปแล้ว 73 ประเทศ รวม 128 ล้านโดส ประเทศสหรัฐอเมริกามีการฉีดวัคซีนสูงสุด มีประชากร 8.81 ล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว 2 ครั้ง โดยหลายประเทศเริ่มมีการพูดคุยกันว่าเราควรกำหนดมาตรการที่อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเดินทางออกนอกประเทศได้ และถ้าได้ควรจะเป็นประเทศใด และแต่ละประเทศควรจะมีมาตรการป้องกันอย่างไร จะต้องกักตัวหรือไม่
"โดย ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด ศบค.ต้องไตร่ตรองคิดให้หนักและคิดให้ดี ดังนั้นมาตรการที่จะออกมา เราจะตามต่างประเทศอย่างเดียวไม่ได้ ต้องศึกษาให้รอบด้านและต้องฟังองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วย แม้ในหลายประเทศจะมีประกาศว่าในอีก 3-4 เดือนจะมีการพิจารณาเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต แต่องค์การอนามัยโลกได้รายงานว่าช่วงนี้ยังไม่ใช่ช่วงที่ปลอดภัยเพียงพอที่จะสามารถทำได้ เพื่อที่จะออกเป็นมาตรการในประเทศเรา" พญ.อภิสมัยกล่าว
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยเขากล่าวว่า ในวันนี้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้หารือถึงนโยบายการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งในเร็วๆ นี้จะได้วัคซีนของบริษัทซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส แบ่งเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2 แสนโดส เดือนมีนาคม 8 แสนโดส และเดือนเมษายน 1 ล้านโดส และเดือนมิถุนายนมีวัคซีนที่สั่งซื้อ จากบริษัทแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส และที่จองเพิ่ม 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส ถือว่าครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย และได้วางแผนการบริหารจัดการการให้วัคซีนมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย มีคุณภาพ ให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตามนโยบายรัฐบาล
คนไม่ใช่แพทย์ให้หุบปาก
รมว.สธ.กล่าวว่า คณะกรรมการได้เห็นชอบในแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 พ.ศ.2564 ซึ่งมี 2 ระยะ โดยในระยะแรกที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด รักษาระบบสุขภาพของประเทศ ฉีดให้ 5 กลุ่ม และระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอจะฉีดให้ 7 กลุ่ม นอกจากนี้ได้เห็นชอบแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ระยะแรก เดือน ก.พ.ถึง พ.ค.64 จำนวน 2 ล้านโดส ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดที่ยังพบผู้ป่วย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, นนทบุรี, ปทุมธานี, ระยอง, ชลบุรี, จันทบุรี, ตราด และตาก ระยะที่ 2 เดือนมิถุนายนถึงธันวาคม 2564 จำนวน 61 ล้านโดส โดยมีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนให้บริการกว่า 1,000 แห่ง วางแผนฉีดวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส เพื่อฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 63 ล้านโดสภายในปี 2564
"คนที่ไม่ใช่แพทย์ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ได้แต่อ่านข่าวต่างๆ แล้วนำข้อมูลมาประมวล แล้วนำเสนอให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ขอให้สงบปากสงบคำเพราะไม่เกิดประโยชน์ มีแต่บั่นทอนกำลังใจ การออกมาพูดของคนที่ไม่เกี่ยวข้องมีแต่ทำให้เกิดความสับสนอลหม่านในใจประชาชน เรื่องนี้ต้องให้กำลังใจกัน ไม่ใช่มาขู่" นายอนุทินกล่าว
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับการจัดหาวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา ยังเป็นไปตามแผนคือเดือน มิ.ย.นี้จำนวน 26 ล้านโดส ส่วนที่มีการหารือเพื่อให้บริษัทจัดหาเข้ามาให้ก่อน เช่นจำนวน 50,000 โดสนั้น แม้จะสะดุดเพราะปัญหาจากภายนอกประเทศที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะไม่ได้ใน ก.พ.นี้ เพียงแต่อยู่ระหว่างหารือกันซึ่งต้องขอเวลาในการทำงาน อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 เดือนนี้ การผลิตวัคซีนในโลกไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัคซีนตามกลไกใดก็ตาม หากดูตามแผนกระจายของประเทศต่างๆ ก็จะเห็นความจำกัดในการฉีดวัคซีนแค่ล้านเศษ ซึ่งถ้าอยากเห็นผลของวัคซีนในการควบคุมโรคต้องใช้วัคซีนจำนวนมาก การฉีดจำนวน 1-2 ล้านโดสไม่มีประโยชน์ แต่จะมีประโยชน์สำหรับการควบคุมการระบาดในวงจำกัด ส่วนประเทศที่มีการระบาดในวงกว้างจะยังไม่ได้ผล.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |