ยื่นศาลสกัดตั้งสสร. พปชร.-สว.ตีความแก้รธน.พท.โวยจ้องล้มทั้งกระดาน


เพิ่มเพื่อน    

  พปชร.ไม่ง้อพรรคร่วมรัฐบาล สั่ง ส.ส.ร่วมลงมติกับ 250 ส.ว.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้ไข รธน.เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ไม่ชอบด้วย รธน. "วิรัช" เปรียบเหมือนคนป่วยต้องเอกซเรย์ก่อน เชื่อไม่กระทบกระบวนการแก้ รธน. "เพื่อไทย"  โวยเตะถ่วง ชี้แนวปฏิบัติที่ผ่านมาการยื่นศาลหลังผ่านกระบวนการรัฐสภาแล้ว จึงถือว่าผู้มีอำนาจหวังล้มกระดานแก้ รธน. เตือนจะเกิดปฏิกิริยาทางสังคม สร้างความแตกแยกประชาชนลุกฮือ

    เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 9 ก.พ. ซึ่งมีวาระพิจารณาในญัตติด่วนเพื่อขอมติจากรัฐสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ซึ่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. พร้อมคณะเป็นผู้เสนอว่า มี ส.ส.และ ส.ว.ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ซึ่งในวิปรัฐบาลวันนี้จะหารือกันอีกครั้งว่าจะสนับสนุนญัตติดังกล่าวหรือไม่ รวมถึงพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสียด้วย เบื้องต้นตนมองว่าหากเกิดกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาล เช่นพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่เห็นด้วย อาจจะให้ฟรีโหวต ทั้งนี้ในส่วนของ ส.ส.พรรค พปชร.นั้น ทราบว่า ส.ส.ของพรรคทั้งหมดจะลงมติให้ส่งตีความไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัดสินและชี้ขาดต่อเรื่องดังกล่าว
    "หากมติรัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะไม่เสียหายต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการ  รัฐสภาเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเร่งพิจารณาโดยเร็ว เพราะวันที่ 24-25 ก.พ.นี้ รัฐสภาจะพิจารณาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสอง และหลังจากนั้นอีก 15 วัน หรือช่วงกลางเดือนมีนาคม จะเข้าสู่วาระสาม ดังนั้นมีระยะเวลาประมาณ 1  เดือน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทำได้ก็เดินหน้า แต่หากให้หยุดก็ต้องหยุด"
    เมื่อถามว่า การที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเป็นการยื้อหรือไม่  นายวิรัชกล่าวว่า ไม่ใช่เป็นการยื้อแต่อย่างใด แต่เราต้องตรวจสอบ เหมือนกับเราป่วยแล้วไปหาหมอแต่ไม่ยอมเอกซเรย์ ถามว่าจะรักษาหายได้อย่างไร เพราะวันนี้ถามผู้รู้ตามกฎหมาย บางคนบอกแก้ไขได้ บางคนบอกแก้ไขไม่ได้ แต่คนที่บอกถูกต้องและผูกพันทุกองค์กรคือศาลรัฐธรรมนูญ  ถึงวันนี้ไม่ถาม ก็มีญัตติของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว.และคนอื่นๆ ที่ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญยังค้างอยู่ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็ให้นายเรืองไกรยื่นเอกสารเพิ่มเติม ฉะนั้นเราจะทำหรือไม่ทำ ศาลก็ต้องพิจารณาในส่วนนี้อยู่แล้ว
     เมื่อเวลา 15.30 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรค พปชร. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้ ส.ส.ของพรรค พปชร.ลงมติเห็นชอบญัตติที่เสนอโดยนายไพบูลย์และนายสมชาย  แสวงการ ส.ว.ที่ขอให้รัฐสภามีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) กรณีเห็นว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลมีมติให้ฟรีโหวต เนื่องจากแต่ละพรรคมีจุดยืนในเรื่องราวแตกต่างกัน
    รายงานข่าวจาก พปชร.แจ้งว่า เชื่อว่าญัตติดังกล่าวจะถูกส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพราะใช้เสียงของพรรค พปชร. 121 เสียง และเสียง ส.ว. 250 เสียง รวม 371  เสียง จากเสียงทั้งหมด 728 เสียง ซึ่งถือว่าเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา โดยไม่จำเป็นต้องใช้เสียงของพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนสาเหตุที่ ส.ว.จะลงมติเห็นด้วย เพราะต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความให้เกิดความมั่นใจว่า ส.ส.ร.จะสามารถยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ เพราะหากไม่มีการยื่นตีความก่อน การโหวตในวาระ 3 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ได้รับเสียง ส.ว.โหวตเห็นชอบจำนวน 1 ใน 3 อย่างแน่นอน
    นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา  กล่าวว่า? มติของ ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนาทั้ง 12 คน จะลงมติไม่เห็นชอบต่อญัตติด่วนเพื่อขอมติจากรัฐสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2)  ซึ่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. พร้อมคณะเสนอ ส่วนตนนั้นเตรียมการอภิปรายเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการเสนอญัตติด้วย เพื่อยืนยันในความเห็นต่อการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย อาทิ ส่วนของ ส.ว.  และเห็นคัดค้าน อาทิ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านและ ส.ส.ร่วมรัฐบาล ในส่วนของการทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
    ด้าน น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.)  กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 9 ก.พ. พรรคพลังประชารัฐและ ส.ว.ได้เสนอญัตติด่วนเพื่อให้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา  ถือเป็นการถ่วงเวลาซ้ำซากฝืนความต้องการของประชาชน  พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน และภาคประชาชนเกือบแสนรายชื่อโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน  (ไอลอว์)  ยังคงยึดมั่นในจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา  256 ที่มาของ ส.ส.ร.ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด จะเป็นจุดเริ่มต้นในการทวงคืนอำนาจประชาชนผ่านระบบรัฐสภาอย่างแท้จริง
    "ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามถ่วงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านวิธีการต่างๆ มาโดยตลอดรวม 3 ครั้ง  ตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลอยู่ได้เพราะเสียงของ ส.ว.ที่ตนเองแต่งตั้ง อย่าให้ประชาชนหมดศรัทธา ระวังอย่าราดน้ำมันเข้ากองไฟ หรือต้องให้ไทยเลียนแบบเมียนมาไล่เผด็จการ" น.ส.อรุณีกล่าว
    น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฯ กล่าวเช่นกันว่า ถือเป็นความพยายามที่จะขัดขวางไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาล ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามที่จะยื้อเวลาในการแก้รัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ล่าสุด กมธ.มีมติให้ ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยประชาชน และเห็นชอบโดยประชาชน เพื่อเป็นทางออกให้ประเทศ แต่สุดท้ายก็มีความพยายามของฝ่ายรัฐบาลที่อาศัยระเบียบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เสนอญัตติด่วนเพื่อให้รัฐสภาโหวตส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
    "การเสนอญัตติด่วนเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในช่วงเวลาที่รัฐสภาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งที่แนวปฏิบัติที่ผ่านมาการยื่นให้ศาล รธน.ตีความ จะเกิดขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการของรัฐสภาแล้ว  อาจถือเป็นความพยายามของฝ่ายผู้มีอำนาจที่จะล้มกระดานการแก้รัฐธรรมนูญ ขอให้ประชาชนจับตาความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐบาลในการประชุมร่วมรัฐสภา 9 ก.พ.นี้ ว่ามีความจริงใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ หรือเพียงจะซื้อเวลาและหาทางสกัดไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" นางสาวจิราพร กล่าว
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย  ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะชี้แจงเหตุผลเต็มที่ เพื่อคัดค้านการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะไม่เห็นด้วยกับการส่งตีความ โดยหลักสามัญสำนึกและหลักประชาธิปไตยนั้น รัฐสภามีสิทธิ์แก้รัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้แก้แบบหลักลอย แต่เป็นการแก้ที่ยึดโยงกับประชาชน ดังนั้นการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจึงเป็นการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องน่ากังวล ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุด ยิ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้ ทุกอย่างจะมีความเสี่ยงมากขึ้น จะทำให้การแก้ไขกติกาประเทศเกิดความไม่แน่นอน และจะเกิดปฏิกิริยาในสังคมที่น่าวิตก มีความแตกแยกตามมา
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การแก้ไขมาตรา  256 ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เป็นระเบิดเวลาสำคัญ เพราะผู้ได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังไม่รู้จักคำว่าพอ  พฤติกรรมเช่นนี้จะจุดชนวนให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมา เนื่องจากพฤติการณ์ของผู้ขวางการแก้รัฐธรรมนูญนั้นยังเป็นกลุ่มเดิม คืออดีตกลุ่ม ส.ว. 40 เริ่มสำแดงฤทธิ์ต้องการให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะชะงักงัน เจตนาของคนอดีตกลุ่ม ส.ว. 40 ต้องการจะมีเรื่องมากกว่า เพราะคิดว่าได้เปรียบ ถ้าต้องการท้าทายในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องเจอกันในสนามของประชาชน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"