โครงการ 'เราชนะ' ของรัฐบาลมีความคืบหน้าไปตามลำดับ โดยในขณะนี้มียอดผู้ลงทะเบียนในโครงการแล้วกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ และในวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เปิดให้ประชาชนกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่เคยลงทะเบียนคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกันมาก่อน สามารถแสดงความประสงค์ขอทบทวนสิทธิ์ได้ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com อีกครั้ง
สำหรับกลุ่มที่ถูกตรวจสอบว่าไม่ผ่านคุณสมบัติ ขณะเดียวกันก็ยังเปิดให้ประชาชนในกลุ่มที่ 3 ซึ่งไม่เคยใช้สิทธิรายการใดๆ ของรัฐมาก่อน มาตรวจสอบสิทธิ์ในวันที่ 8 ก.พ.ด้วยเช่นกัน
แน่นอนโครงการนี้เป็นการเยียวยาผู้ที่เดือดร้อน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโรคร้ายโควิด-19 ซึ่งต้องยอมรับว่าทุกคนในประเทศได้รับความเดือดร้อน แต่ลักษณะการช่วยเหลือจากภาครัฐในครั้งนี้ แตกต่างจากการโครงการ 'เราไม่ทิ้งกัน' ที่รัฐบาลแจกเงิน 15,000 บาท ช่วยผู้เดือดร้อนเมื่อปีก่อน
ความเหมือนความต่างของ 2 โครงการนี้ก็คือ ที่เหมือนกันคือการได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐเช่นเดียวกัน แต่ที่ต่างคือขั้นตอนการรับและการใช้เงินที่แตกต่างกัน เดิมในโครงการ 'เราไม่ทิ้งกัน' รัฐได้แจกจ่ายเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ของธนาคารใดก็ได้ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน และบัญชีธนาคารใดก็ได้ที่มีอยู่เดิมโดยที่ชื่อและนามสกุลเจ้าของบัญชีต้องตรงกับชื่อและนามสกุลที่นำมาลงทะเบียน ซึ่งเงินก้อนนี้จะเข้าบัญชี และสามารถเบิกถอนเป็นเงินสดมาใช้จับจ่ายใช้สอยได้ตามปกติ
แต่สำหรับในโครงการ 'เราชนะ' จะได้เงินในรูปแบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ ใช้จ่ายผ่านแอปเป๋าตัง วงเงินรวม 7,000 บาท ซึ่งจะทยอยจ่ายเป็นรายสัปดาห์ และที่สำคัญไม่สามารถเบิกถอนออกมาเป็นเงินสดได้ โดยภาครัฐได้ระบุว่า เงินที่ใส่ในแอปเป๋าตัง สามารถใช้เพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านค้าในโครงการธงฟ้าราคาประหยัด (ร้านธงฟ้าฯ) ใช้ชำระค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ อาทิ รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (ซื้อบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”) แท็กซี่, รถตู้ให้บริการโดยสารประจำทาง, จักรยานยนต์รับจ้าง สามล้อเครื่อง สามล้อถีบ รถสองแถว, ใช้ชำระค่าบริการต่างๆ จากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเราชนะ ฯลฯ และสั่งห้ามใช้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาสูบ) ได้แก่ สินค้าประเภททองคำ รวมถึงร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนการขายทอดตลาด และการค้าของเก่าประเภท เพชร พลอย ทอง นาก เงิน หรืออัญมณี
แน่นอนการวางระเบียบในการใช้เงินถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เงินที่รัฐบาลช่วยจ่ายนั้น นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และใช้ในสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตจริงๆ แต่ด้วยเงื่อนไขในการใช้ที่จะต้องใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ทำให้เกิดปัญหาขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มชาวบ้านในต่างจังหวัด และผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และบางคนมีก็ไม่มีอินเทอร์เน็ตและใช้ไม่เป็น ส่งผลให้มีบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งมีจำนวนมากทีเดียวที่อาจจะอดได้รับการเยียวยาในครั้งนี้ เนื่องจากไม่มีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ ซึ่งแน่นอนทางฝ่ายราชการ และรัฐบาลก็ทราบถึงปัญหานี้ดี และก็พยายามจะไม่ทิ้งประชาชนที่เดือดร้อนไว้ข้างหลัง
ล่าสุด น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาให้ข้อมูลว่า กระทรวงการคลังจะเปิดให้กลุ่มผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนไปลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 'เราชนะ' ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หรือหน่วยรับลงทะเบียนเคลื่อนที่ของธนาคารกรุงไทย โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป ซึ่งคงต้องจับตาว่า ประชาชนกลุ่มนี้จะได้รับผ่อนปรน เบิกถอนเงินสดเป็นรายสัปดาห์หรือไม่ เพราะไม่ใช่กลุ่มคนที่มีสมาร์ทโฟนใช้ และคงไม่สามารถใช้งานแอปเป๋าตังได้
คงจะต้องจับตาการขับเคลื่อนนโยบายว่าจะออกมาอย่างไร เพราะรัฐบาลก็ย้ำชัดเจนว่าจะดูแลประชาชนคนไทยอย่างทั่วถึง.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |