“สุพัฒนพงษ์”เปิดโมเดลBCG พัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน


เพิ่มเพื่อน    

     ไทยต้องเปลี่ยนการส่งออกหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศระดับภูมิภาค จากเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ หลังจากคนไทยคุ้นเคยกับการใช้เงินแบบไร้เงินสด ความพร้อมของการวางระบบไฟเบอร์ออฟติก และการลงทุนระบบ 5G กรุงเทพฯ จึงเป็นศูนย์การลงทุนด้านนวัตกรรม การเป็นศูนย์การลงทุน การดึงนักลงทุนเข้าไปลงทุนในเขตอีอีซี รัฐบาลยังต้องการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ BCG เศรษฐกิจหมุนเวียน เดินหน้าพัฒนาการบริการ 5G, บริการ Cloud Service และเมื่อโจ ไบเดน  ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ เข้ามาบริหาร จะส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น จึงชวนทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมดึงไทยพลิกฟื้นกลับมาหลังโควิด เพราะไทยมีพื้นฐานเข้มแข็ง เพื่อก้าวไปอย่างเติบโต ด้วยประเทศอันทันสมัย

 

 

      ในปี 2564 นี้ ที่ประเทศไทยจะเปิดปีมาด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ถือว่าเป็นระลอกใหม่ ทำให้หลายๆ  กิจกรรมจำเป็นต้องหยุดชะงักไป และเหมือนหลายประเทศในโลกกำลังฉายภาพความล้มเหลวทางเศรษฐกิจให้เห็นออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยประสบการณ์ที่มากขึ้นของประเทศไทย ก็ยังสร้างความมั่นใจได้ว่าจะสามารถประคับประคองให้เศรษฐกิจภายในประเทศนั้นสามารถทรงตัวอยู่ได้ และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น ขณะที่แผนงานใหม่ๆ ที่จะเข้ามาแก้ไข ผลักดัน หรือช่วยเหลือประชาชนในสังคม ก็ยังจำเป็นต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

        โดยรัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้จะสามารถควบคุมได้ภายใน 2-4 เดือน รวมถึงในปัจจุบันหลายหน่วยงานก็เริ่มที่จะออกโครงการที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในวิกฤติครั้งนี้ด้วย และในส่วนของรัฐบาลเองก็ยังเดินหน้าที่จะพัฒนาโครงการใหม่ๆ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของประเทศในอนาคตอีกหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (บีซีจี) หรือที่รู้จักกันในนาม “เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว”

        โดยผู้ที่จะตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คงต้องเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มผู้นำประเทศ และมีความเข้าใจถึงแผนการดำเนินงาน และสามารถพูดถึงแนวทางของการทำงานได้ดีที่สุด และหนึ่งที่ผู้กำหนดนโยบายสำคัญก็ได้แก่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เข้ามาทำงานและรับช่วงต่อของการดำเนินโครงการดังกล่าว

 

โมเดลเศรษฐกิจ BCG คืออะไร

        โมลเดล BCG เริ่มต้นจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ.2564-2569 โดยได้ระบุถึงสภาพปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจในอดีตว่าประเทศไทยยังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างหลากหลาย แต่มีลักษณะแบบ “ทำมากแต่ได้น้อย” ซึ่งสุดท้ายแล้วการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่

        และเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้จุดแข็งของประเทศด้านทรัพยากรโดยเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพและทางวัฒนธรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นแบบ “ทำน้อยแต่ได้มาก” สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดตลอดห่วงโซ่ การผลิตสินค้าและบริการด้วยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยโมเดล BCG จะเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

        พูดง่ายๆ คือการปรับเปลี่ยนประเทศให้มีการดำเนินงานที่ใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดให้มากขึ้น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะไปทำลายชั้นบรรยากาศ โดยอาศัยการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และโครงการต่างๆ ที่ปรับวัตถุประสงค์ให้มีแนวทางที่ใส่ใจทรัพยากรของโลกมากขึ้น โดยจะเป็นการสานพลังของจตุภาคีทั้งภาคประชาชน เอกชน หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายต่างประเทศ โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทำหน้าที่บูรณาการการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งต้องผ่านการร่วมมือกันให้สามารถเดินหน้าไปอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะลดปัญหาต่างๆ ที่ตามมาในอนาคต

        และกิจกรรมหลักภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย 1.อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เพิ่มพูนทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม 2.บริหารจัดการการใช้ประโยชน์และบริโภคอย่างยั่งยืน 3.ลดและใช้ประโยชน์ของทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ 4.สร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ภาคเกษตรที่เป็นต้นน้ำ จนถึงภาคการผลิตและบริการ และ 5.สร้างภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเอง และเพิ่มสมรรถนะในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

        สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ.2564-2569 อยู่บนพื้นฐานของ 4 บวก 1 ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ 1.เกษตรและอาหาร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2561 รวมกัน 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21% ของจีดีพีมีการจ้างแรงงานรวมกัน 16.5 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการจ้างงานรวมของประเทศ และบวก 1 คือฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ และการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 

 

ทิศทางของโลกกับ BCG

      เริ่มต้นจากที่ทั่วโลกเกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้สารเคมีที่มีต่อระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม จนนำไปสู่การประชุมสหประชาชาติเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ขึ้นมาเพื่อกำหนดวาระด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก และส่งเสริมการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน ซึ่ง UNEP เสนอให้ประเทศต่างๆ ควรปฏิรูปการลงทุนในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นสินค้าสาธารณะ โดยใช้กลไกราคาเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยให้นิยามของเศรษฐกิจสีเขียวว่าเป็นเศรษฐกิจที่จะนำพาประเทศต่างๆ ไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นธรรมของสังคม อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนเชิงนิเวศได้

        และปัจจุบันข้อตกลงในทิศทางดังกล่าวของโลกก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกเริ่มประกาศทิศทางการดำเนินงานเกือบทั้งหมด เกี่ยวกับการให้ความสำคัญหาการควบคุมอุณหภูมิ หรือการลดคาร์บอนลงไปให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ และจะดูดกลับไปเท่านั้น หรือที่เรียกว่าคาร์บอนนิวทรัล ซึ่งเป็นทิศทางในอนาคตที่ทุกประเทศจะต้องหันมาให้ความสนใจ ขณะที่ประเทศไทยเองก็เห็นถึงความสำคัญ และมองว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศ รวมถึงไทยมีศักยภาพในการดำเนินงานอยู่แล้ว จึงเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม

เร่งเดินหน้าเศรษฐกิจสีเขียว

      ประเทศไทยในปัจจุบันมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นจาก 279,129,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kt-CO2eq) ในปี 2548 เป็น 554,649,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2573 หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.8% ต่อปี โดยในปี 2563 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 414,342,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แบ่งเป็นในสาขาพลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากการผลิตไฟฟ้า การใช้พลังงานในครัวเรือน การใช้พลังงานในอาคารเชิงพาณิชย์ (รวมอาคารรัฐ) การใช้พลังงานในอุตสาหกรรมการผลิต และการใช้พลังงานในการคมนาคมขนส่งอยู่ที่ 308,587,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

        สาขาของเสีย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 16,135,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 26,304,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสาขาเกษตร ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 63,316,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกสาขา จึงต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรที่ประเทศไทยจะสามารถควบคุมหรือดำเนินงานแบบคาร์บอนนิวทรัลได้ หากไม่เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปัจจุบัน

        และด้วยแนวโน้มทั้งหมดนี้รัฐบาลจึงนำแนวทางการดำเนินงานในรูปแบบ BCG มาใช้กับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต หรือนิว เอส-เคิร์ฟ ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยนำเรื่องการลดคาร์บอนเข้าไปผนวกรวมด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นจะตอบสนองในนโยบายของ BCG ได้เกือบทั้งหมด

        “ในอดีตเราไปมุ่งเน้นในการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคมนาคม ขนส่ง หรือพื้นที่รองรับการลงทุน ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่วันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะไปดึงดูดคนที่จะมาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีกรอบการดำเนินงานของเรื่อง BCG เข้ามาเกี่ยวข้อง เราจะได้เป็นประเทศที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น และไปสอดคล้องกับกลุ่มประเทศผู้นำของโลก ต้องยอมรับว่าการทำงานเป็นเรื่องที่ยาก แต่ในอนาคตจะต้องทำ เรื่องไบโออีโคโนมี หรือแม้แต่การพัฒนาด้านนวัตกรรมดิจิทัลที่จะเข้ามาเพิ่มศัยภาพในการทำงาน จะทำให้เกิดการใช้พลังงานน้อยลง ขณะที่ในภาพรวมของด้านพลังงานก็ต้องไปดูเรื่องการส่งเสริมพลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้า การใช้ในด้านคมนาคม ให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศที่กำลังจะเดินหน้าต่อ”

        เป้าหมายที่จะเห็นในปีนี้

      นายสุพัฒนพงษ์กล่าวย้ำว่า ปีนี้ประเทศไทยจะมีโรดแมปการดำเนินงานเรื่อง BCG ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลและเตรียมที่จะกำหนดข้อบังคับออกมาในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้ตั้งอยู่ในพื้นฐานที่จะดูแลสิ่งแวดล้อม หรือความร่วมมืออื่นๆ  ที่ไม่ใช่แค่ภาครัฐ แต่ยังมีภาคเอกชนร่วมด้วย ถือว่าเป็นการพัฒนาประเทศไปทิศทางที่ชัดเจน เหมือนกับหลายประเทศผู้นำของโลก อย่างล่าสุดที่ญี่ปุ่นก็ออกมาประกาศโรดแมปการดำเนินงานเรื่องนี้แล้วร่วมกว่า 14 แผนงาน

        อย่างไรก็ตาม ไทยต้องเปลี่ยนการส่งออกหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศระดับภูมิภาค จากเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ หลังจากคนไทยคุ้นเคยกับการใช้เงินแบบไร้เงินสด ความพร้อมของการวางระบบไฟเบอร์ออฟติก และการลงทุนระบบ 5G กรุงเทพฯ จึงเป็นศูนย์การลงทุนด้านนวัตกรรม การเป็นศูนย์การลงทุน การดึงนักลงทุนเข้าไปลงทุนในเขตอีอีซี รัฐบาลยังต้องการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ BCG เศรษฐกิจหมุนเวียน เดินหน้าพัฒนาการบริการ 5G, บริการ Cloud Service และเมื่อโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ เข้ามาบริหาร จะส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น จึงชวนทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมดึงไทยพลิกฟื้นกลับมาหลังโควิด เพราะไทยมีพื้นฐานเข้มแข็ง เพื่อก้าวไปอย่างเติบโต ด้วยประเทศอันทันสมัย

        “ปัจจุบันหลายประเทศกำลังเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเข้มข้น และประเทศไทยเองก็ต้องกระตือรือร้นในการที่จะผลักดันอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นแนวทางช่วยเหลือประชาชนในประเทศ ซึ่งเราทุกคนต้องเชื่อมั่นว่าประเทศไทยสามารถทำได้ เพราะถ้าคนในประเทศไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ก็เกิดยาก เราต้องยอมรับว่าไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย แต่ถ้ามีความจริงจังที่จะทำอะไรก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"