8 ก.พ.2564 นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 64 สำรวจ ระหว่างวันที่ 25 ม.ค.-3 ก.พ.64ว่า ปีนี้มีมูลค่าการใช้จ่าย 44,939 ล้านบาทลดลง 21.85% เมื่อเทียบกับปี 63 ที่มีมูลค่าใช้จ่าย 57,639 ล้านบาท ลดลง 1.30% หรือมูลค่าหายไป 12,700 ล้านบาท ถือว่า ลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ หรือลดลงต่ำสุดในรอบ 13 ปีนับตั้งแต่มีการสำรวจมาตั้งแต่ปี 52 เนื่องจากเศรษฐกิจแย่ การแพร่ระบาดของโควิด รายได้ลด ลดค่าใช้จ่าย
“มูลค่าใช้จ่ายปี 63 ที่ติดลบ 1.3% จากปี 62 ก็ว่าน่าตกใจแล้ว พอมาเจอปี 64 ที่ติดลบมากถึง 21.85% หายไป 12,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 63 ยิ่งน่าตกใจมาก โดยมูลค่าการใช้จ่ายปี 64 ที่ลดลง เป็นเพราะผู้ตอบมากถึง 42.2% ตอบว่า ใช้จ่ายลดลง เพราะเศรษฐกิจแย่ลง รายได้ลดลง ลดค่าใช้จ่าย การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นหนี้เพิ่ม ของแพง ตกงาน ส่งผลให้ปริมาณการซื้อสินค้าลดลง ส่วนอีก 33.2% ใช้จ่ายไม่เปลี่ยนแปลง และมีเพียง 24.6% ที่ตอบใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น รายได้-โบนัสเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจดีขึ้น”
ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่าย ผู้ตอบ 66.8% ตอบมาจากเงินเดือน รายได้ปกติ, 19.8% เงินออม, 10% โบนัส/รายได้พิเศษ, 1.6% เงินกู้ และอีก 1.8% เป็นเงินช่วยเหลือจากภาครัฐจากมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งมากกว่าปี 63 ที่มีพียง 0.1% ดังนั้น การที่ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือ สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างในช่วงตรุษจีน
นอกจากนี้ ยังสอบถามในเรื่องแต๊ะเอีย ซึ่งผู้ตอบมีทั้งมีทั้งเป็นผู้ให้ และผู้รับ โดยผู้ให้มากถึง 74.2% บอกว่า ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมีผลกระทบปานกลางถึงน้อยต่อการให้แต๊ะเอีย และคิดว่า จะให้เงินแต๊ะเอียไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปี 63 มีเพียง 25.8% ที่ตอบว่า เศรษฐกิจปัจจุบันมีผลต่อการให้แต๊ะเอีย และจะให้เงินแต๊ะเอียลดลง ส่วนกรณีเป็นผู้รับ ส่วนใหญ่คาดว่าจะได้รับเงินแต๊ะเอีย และจำนวนเงินไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 63
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า บรรยากาศตรุษจีปีนี้กร่อย เพราะประชาชนใช้จ่ายลดลงมากถึง 12,700 ล้านบาท ลดลงมากที่สุดรอบ 13 ปี เพราะเศรษฐกิจไม่ดี การแพร่ระบาดของโควิด รายได้ลด ดังนั้น จะเห็นได้ว่า โควิดมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนทุกเทศกาล ทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจอยู่ในช่วงซึมลึก แต่เชื่อว่า การใช้จ่ายน่าจะเริ่มดีขึ้นในช่วงปลายเดือนก.พ.นี้ มีรัฐเริ่มอัดฉีดเงินเข้าระบบจากมาตรการเราชนะ เรารักกันแต่ยังไม่มีผลชดเชยรายได้ที่หายไปจากช่วงตรุษจีนที่ 12,000 ล้านบาทได้ คงต้องรอดูมาตรการกระตุ้นของรัฐในระยะต่อไปว่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงไร
“มูลค่าใช้จ่ายช่วงตรุษจีนที่หายไป 12,000 ล้านบาท มีผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หายไป 0.05-0.07% แต่ถ้ารัฐอัดฉีดเงินเราชนะ เรารักกันเข้ามาในช่วงปลายเดือนนี้ จะมีผลกระตุ้นการใช้จ่ายได้ คาดว่า เศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป และถ้ารัฐยังมีมาตรการกระตุ้นออกมาต่อเนื่อง รวมถึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้บ้าง 4-6 ล้านคน น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ประมาณ 3% แต่ถ้ายังไม่มีเข้ามาเลยก็อาจโตต่ำกว่า 3% ได้”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |