'หมอธีระ'ย้ำระบาดรอบนี้ยาว ชู3ยุทธศาสตร์สู้ศึกโควิด


เพิ่มเพื่อน    

8 ก.พ. 64 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "สถานการณ์ทั่วโลก 8 กุมภาพันธ์ 2564

ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมเป็นต้นมา แนวโน้มการติดเชื้อต่อวันของโลกค่อยๆ ชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับช่วงปลายตุลาคมปีที่แล้วราวเกือบห้าแสนคนต่อวัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการล็อคดาวน์ของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรป ยังไม่ใช่ผลจากการฉีดวัคซีน เพราะ

จำนวนการฉีดยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดในแต่ละประเทศ กว่าจะเริ่มเห็นคาดว่าน่าจะเป็นช่วงมีนาคมเป็นต้นไปในบางประเทศ 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 328,545 คน รวมแล้วตอนนี้ 106,629,569 คน ตายเพิ่มอีก 7,682 คน ยอดตายรวม 2,325,703 คน

อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 86,767 คน รวม 27,594,868 คน ตายเพิ่มอีก 1,543 คน ยอดตายรวม 474,669 คน

อินเดีย ติดเพิ่ม 4,109 คน รวม 10,831,279 คน

บราซิล ติดเพิ่ม 26,845 คน รวม 9,524,640 คน

รัสเซีย ติดเพิ่ม 16,048 คน รวม 3,967,281 คน 

สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 15,845 คน รวม 3,945,680 คน ยอดตายรวมขณะนี้ 112,465 คน 

อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน 

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น 

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่องแบบทรงตัว

เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลายร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง เวียดนาม และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่กัมพูชา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ 

ล่าสุดแอฟริกาใต้ประกาศหยุดแผนการฉีดวัคซีนของ Astrazeneca/Oxford ไว้ แม้จะได้วัคซีนมาหลักล้านโดสแล้วก็ตาม เนื่องจากทราบผลการศึกษาเบื้องต้นที่ชี้ว่า วัคซีนอาจไม่ได้ผลในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการน้อยถึงปานกลางจากไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่คือ

สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่ระบาดในประเทศ โดยจะหันไปใช้วัคซีนของ Pfizer/Biontech และ Johnson&Johnson แทน 

นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดหาวัคซีนที่มีความหลากหลาย เพื่อให้สามารถมีตัวเลือกในการจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างทันเวลา เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้มีข่าวว่าทาง Astrazeneca/Oxford ก็กำลังทำการศึกษาวิจัยดัดแปลงวัคซีนให้สู้กับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ใหม่ โดยอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง คงต้องเอาใจช่วยและติดตามกันต่อไป

วิเคราะห์สถานการณ์ของเรา...

การเรียงตำแหน่งของกลยุทธ์ หรือที่เราเรียกว่า Strategic alignment นั้นมีความสำคัญมาก และส่งผลต่อความสำเร็จในการสู้ศึก

เราเรียนรู้จากระบาดซ้ำครั้งนี้ว่า หนักหนาสาหัส

เอาอยู่ เพียงพอ...ล้วนเป็นความคาดหวังที่ดูแล้วไม่ใช่ความจริง

กุญแจแห่งความสำเร็จในการสู้ศึกระลอกแรกนั้นคือ การสั่งการ และจัดการอย่างเป็นระบบ ทิศทางเดียวกัน และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศได้พร้อมกัน

ในขณะที่ระลอกสองนั้น ใช้แนวทางยืดหยุ่น และให้จัดการกันเองในแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยการทำงานของหน่วยงานต่างๆ การตอบสนองจึงอาจไม่เหมือนระลอกแรก

หากใช้ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นแสงสว่างชี้ทาง โดยดูจากบทเรียนการเผชิญการระบาดซ้ำของประเทศต่างๆ จะช่วยให้เราวางแผนจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจะรู้ว่าธรรมชาติของการระบาดเป็นเช่นไร โอกาสสำเร็จในการสู้ศึกมีมากน้อยเพียงใด และสู้รบแบบใดจะมีโอกาสแพ้ชนะมากน้อยแตกต่างกันเท่าใด

อย่างที่เคยเล่าให้ฟังกันไปแล้วว่า จะสู้สำเร็จ มักต้องมีนโยบายที่เคร่งครัดและทันเวลา ระบบการตรวจคัดกรองที่ครอบคลุมมาก และต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือของประชาชนอย่างพร้อมเพรียง

การระบาดของเราหนักหนากว่าระลอกแรก คุมได้ยาก กระจายเร็ว เพราะอาจไม่บรรลุทั้งสามข้อข้างต้น แต่อย่างไรก็ตาม มาถึงจุดนี้ ต้องให้กำลังใจให้มีสติ และช่วยกันสู้ต่อไป โดยทราบว่าสถานการณ์ถัดจากนี้ เฉลี่ยแล้วน่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 6-8 สัปดาห์ จึงจะเห็นผลลัพธ์ของระลอกสอง ว่าจะกดเหลือหลักหน่วย หลักสิบ หรือหลักร้อยต่อวัน ทั้งนี้ผลลัพธ์ของการศึกจะเป็นตัวทำนายหลักสำหรับศึกในครั้งถัดๆ ไป ตามบทเรียนที่เห็นจากต่างประเทศทั่วโลก

แนวทางการสู้ศึกนี้คงหนีไม่พ้นสามข้อข้างต้น ที่ต้องช่วยกันขันน็อตให้แน่นทั้งเรื่องนโยบาย ระบบตรวจคัดกรอง และความร่วมมือในการป้องกันตัวของประชาชน

แต่ที่เป็นห่วงมากคือ การละสายตาไปพยายามมองหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวต่างประเทศ เช่น การแพลมแนวคิด Vaccination passport ที่ลึกๆ คงหวังจะโกยเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศหากมีประวัติได้รับวัคซีนแล้ว แม้จะอ้อมแอ้มว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลานี้ก็ตาม

สมาธิที่หลุดไปจากการควบคุมการระบาดเป็นสิ่งที่น่ากลัวนะครับ บทเรียนจากระลอกนี้ เราเห็นความไม่พร้อม ไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกันของระบบต่างๆ เรื่องนี้ต้องยอมรับกันเสียที

จะสู้ศึกระยะยาวได้ โดยที่ประชาชนในประเทศมีสวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิต จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบเชิงยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง ดังต่อไปนี้

หนึ่ง "ระบบตรวจคัดกรองที่มีสมรรถนะตรวจได้มาก มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และทำได้ต่อเนื่อง" ไม่ใช่เต็มที่แค่ระดับ 10,000 กว่าตัวอย่างต่อวัน ซึ่งถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

สอง "ระบบการดูแลรักษาที่มีทรัพยากรมากเพียงพอ" ทั้งคน เงิน อุปกรณ์ป้องกัน หยูกยา รวมถึงเตียงและสถานที่ โดยมีระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย ทั้งต่อบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชน ทั้งนี้ต้องไม่ให้เกิดภาวะที่เกินคาดหมาย และหยุดตรวจเพราะกลัวเตียงเต็ม หรือต้องมาเร่งสร้างรพ.สนามแบบกระทันหัน และมีปัญหาในการเจรจากับพื้นที่

และสาม "วัคซีนป้องกันโรค" ที่มีหลากหลาย มีประสิทธิภาพสูง ปริมาณมากพอ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างถ้วนทั่ว ก่อนหน้าที่จะคิดหามาตรการเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำในประเทศอย่างการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา

ต้องไม่ลืมว่า วัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ยัง"ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิดอย่างเพียงพอ" แต่ป้องกันการป่วยรุนแรง แม้การป้องกันการป่วยรุนแรงก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพ 100% เลยสักตัวเดียว 

วัคซีน Pfizer/Biontech และ Moderna ประสิทธิภาพมากสุดคือประมาณ 95% แต่เราไม่มี

วัคซีนที่เราวางแผนจะใช้นั้น Astrazeneca/Oxford มีประสิทธิภาพแบบ full dose/full dose ประมาณ 63.1% (ช่วงความเชื่อมั่น 51.8-71.7%) 

ในขณะที่วัคซีน Sinovac ของจีน ผลการศึกษาระยะที่สาม ยังไม่เห็นการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ แม้จะมีข่าวออกทางสื่อมวลชนหลากหลายประเทศก็ตาม ก็จำเป็นต้องรอดูผลวิจัยโดยละเอียด

ทั้งนี้การระบาดของไวรัสที่กลายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์สหราชอาณาจักร บราซิล และแอฟริกา ก็ล้วนทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำได้มากขึ้นทั่วโลก

โดยวัคซีนแต่ละชนิดตอนนี้ก็ยังมีข้อมูลแตกต่างกันไป วัคซีนบางชนิดพบว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนยังได้ผลกับบางสายพันธุ์ แต่วัคซีนบางชนิดกลับไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อยลงมาก

ดังนั้นหากไม่มีวัคซีนที่หลากหลายเพียงพอ และไม่มีมากเพียงพอสำหรับคนในประเทศ การเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้จะได้วัคซีนมาก่อนก็ตาม ก็ย่อมมีโอกาสนำพาเชื้อเข้ามาสู่ในบ้านได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่เป็นเพียงการลดความรุนแรงของโรค

นี่คือสิ่งที่ประชาชนอย่างเราๆ ควรรู้ และช่วยกันจับตาดูความเคลื่อนไหว เรียกร้องให้เกิดมาตรการที่เน้นสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน 

ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือ อยู๋ห่างๆ คนอื่นหนึ่งเมตร ลดละเลี่ยงการกินดื่มในร้าน ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า ลดละเลี่ยงการรวมกลุ่มกันสังสรรค์ปาร์ตี้ท่องเที่ยว 

คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงานและไปตรวจรักษา ด้วยรักต่อทุกคน และเอาใจช่วยเสมอ".

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"