"บิ๊กตู่" แจงยิบทุกข้อสงสัย "วัคซีนโควิด" ลั่นร้อนใจตลอดไม่เคยหยุดหาวัคซีน แย้มดูบริษัทอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่มีแค่แอสตราเซเนกา-ซิโนแวค ยันสยามไบโอไซเอนซ์มีความพร้อมผลิต ย้ำไม่เคยกีดกันเอกชนนำเข้า ขอแค่ผ่านหลักเกณฑ์ อย. "ธนาธร" จี้ รบ.เร่งฉีดวัคซีนให้ ปชช. เลิกพูดให้คนกลัว "อธิบดีกรมควบคุมโรค" ระบุ WHO ยังไม่รับรองวัคซีนพาสปอร์ตแทนการกักตัว
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ผ่าน PM POSCAST นายกรัฐมนตรีเล่าเรื่อง ทางเพจไทยคู่ฟ้า ว่าเรื่องการจัดซื้อและแจกจ่ายวัคซีนของประเทศไทยที่หลายคนติดตามและกังวล เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงตนเดือดเนื้อร้อนใจยิ่งกว่าท่านอีก เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ คำถามที่ว่าเหตุใดประเทศไทยไม่จัดซื้อวัคซีนครอบคลุมจำนวนที่เหมาะสม และแผนฉีดวัคซีนในประเทศไทยล่าช้าเกินไปหรือไม่ รัฐบาลมีแผนแจกจ่ายวัคซีนในระยะยาวอย่างไรนั้น ขอเรียนว่าความพยายามในการจัดหาวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ริเริ่มตั้งแต่ ส.ค.63 ภายหลังเห็นเงื่อนไขต่างๆ ของผู้ผลิตวัคซีน Covax ในลักษณะการจองวัคซีนล่วงหน้า โดยที่ยังไม่ทราบผลการทดลองในมนุษย์ ประเทศไทยขณะนั้นยังไม่มีกลไกจัดหาวัคซีนที่มีเงื่อนไขจ่ายเงินก่อน และมีโอกาสไม่ได้วัคซีนหากการวิจัยล้มเหลว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรคได้ปรึกษาหน่วยงานด้านกฎหมายในประเทศ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ได้รับหนังสือตอบกลับจากกรมบัญชีกลางว่าไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ได้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว จึงมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 เพื่อให้สามารถจองวัคซีนล่วงหน้าได้ตามกฎหมาย
"ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าฉีดวัคซีนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนบางรายไม่เหมาะสมหรือไม่นั้น เรามองว่าการจัดซื้อวัคซีนจะพิจารณาตามคุณสมบัติของวัคซีน ได้แก่ การวิจัย พัฒนา และการผลิตของวัคซีนนั้นๆ ผลการวิจัยต้องได้คุณภาพ ประสิทธิภาพ และระยะเวลาในการส่งมอบ การบริหารวัคซีนที่ต้องใช้ในวงกว้าง การจัดเก็บ การขนส่ง รวมถึงการฉีดที่ต้องใช้ความชำนาญของบุคลากรในการฉีดให้กับประชาชนอย่างปลอดภัย ผลประโยชน์ระยะยาวที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ เช่น มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ให้เราสามารถต่อยอดต่อไปได้ในอนาคต เพราะอาจจะมีโรคระบาดอื่นๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราต้องเตรียมการไว้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ที่มีคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลไม่จัดซื้อวัคซีนจากหลายบริษัท จะจัดซื้อแค่แอสตราเซเนกาและซิโนแวคเท่านั้น เป็นความประมาทของรัฐบาลหรือไม่ ถ้าเราไม่มีการตรวจสอบ คัดกรอง ติดตาม ประเมินผล นั่นคือสิ่งที่ประมาทมากกว่า เนื่องจากจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงนั้นสูงมาก การจองวัคซีนล่วงหน้าเป็นการแบกรับความเสี่ยง ที่เราจองวัคซีนของแอสตราเซเนกาเป็นครั้งแรกนั้น เป็นช่วงที่มีการประกาศความพร้อมของ 3 บริษัทในช่วงไล่เลี่ยกัน คือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแอสตราเซเนกา ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะมีวัคซีนอีกหลายรูปแบบที่จะทยอยประกาศผลสำเร็จในการวิจัย โดยที่เราต้องมีข้อมูลพิจารณาจองซื้อที่ประเทศไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัย รวมถึงประสิทธิผลในการป้องกันการบริหารจัดการวัคซีนบางชนิดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษในเรื่องอุณหภูมิจัดเก็บ ในเรื่องการขนส่งที่อาจจะต้องเป็นภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่แบกรับภาระการดูแลสุขภาพประชาชนในทุกมิติอยู่แล้ว เราต้องดูประเทศเราด้วย เป็นข้อพิจารณาข้อหนึ่ง
บิ๊กตู่ยันไม่กีดกันเอกชน
"ส่วนคำถามที่ว่าแผนการฉีดวัคซีนเพียงร้อยละ 21.5 ของจำนวนประชากร ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่สังคมได้ ถือเป็นการใช้งบไม่คุ้มค่า และไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่นั้น ขอเรียนว่าวันนี้เราจะจัดหาเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ได้ตั้งเป้าไว้เท่านั้น ตอนนี้เราได้มาเท่าไหร่ก็ฉีดไปเท่านั้นก่อน เราไม่หยุดยั้งในการหายี่ห้ออื่นที่จะจัดหาได้เพิ่มเติม วันนี้เราจัดหาได้จำนวน 63 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรประมาณ 31.5 ล้านคน และจะจัดหาเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มเป้าหมายตามความสมัครใจ ไม่ใช่ว่าไม่คิดอะไร ไม่ทำอะไรต่อเลย แต่คิดตลอดเวลา" นายกฯกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนที่ว่าหากบริษัทแอสตราเซเนกาไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ทำตามข้อตกลง มีแผนดำเนินการอะไรต่อไปนั้น คำตอบคือการจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่นสามารถดำเนินการได้ และกำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด อีกทั้งสายการผลิตที่แอสตราเซเนกาสามารถจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตที่มีอยู่ทั่วโลก ประเทศไทยเป็นแหล่งหนึ่งเท่านั้นของบริษัทนี้ นี่คือการบริหารความเสี่ยงที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย
"สาเหตุที่ให้สยามไบโอไซเอนซ์ที่มีผลประกอบการขาดทุน 500 กว่าล้านบาทผูกขาดการผลิตวัคซีนในประเทศไทยรายเดียวจะสามารถผลิตได้ทันเวลาหรือไม่นั้น ต้องเข้าใจว่าการที่เราจะเอาวัคซีนมาผลิตเองในประเทศ ต้องขึ้นอยู่แอสตราเซเนกาซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้คัดเลือกเอกชนที่จะร่วมดำเนินการกับเขา เขาจะพิจารณาความสามารถ บุคลากร และเครื่องมือที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีของแอสตราเซเนกา ไม่เกี่ยวกับผลประกอบการเดิม และท่านทราบดีอยู่แล้วว่าสยามไบโอไซเอนซ์ตั้งมาเมื่อไหร่ เป็นพระวิสัยทัศน์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงตั้งไว้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีวัคซีนที่จำเป็นไม่ได้หวังผลกำไร กำไรคือประชาชนได้ประโยชน์ เรื่องขาดทุนหรือกำไร อย่านำตรงนั้นมากังวล รัฐบาลได้ให้หลายบริษัทเข้ามาเสนอแล้ว แต่แอสตราเซเนกาเขาเลือกที่นี่ เราไม่สามารถล็อกเขาได้อยู่แล้ว และสยามไบโอไซเอนซ์ลงทุนร่วมกับแอสตราเซเนกา โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า กรณีมีคำถามว่ารัฐบาลกีดกันไม่ให้บริษัทเอกชนนำเข้าวัคซีนเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนนั้น ตนไม่ได้กีดกัน รัฐบาลไม่ได้กีดกัน รัฐบาลโดย อย.ยินดีให้ทุกบริษัทมาขอขึ้นทะเบียน ได้มีการเปิดช่องทางพิเศษ โดยปัจจุบันมีผู้มาขอขึ้นทะเบียนแล้ว 3 ราย และได้รับทะเบียนแล้ว 1 รายคือ บริษัท แอสตร้า เซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่เหลือก็ขอให้ยื่นมา ถ้าเข้ากับกติกา หลักเกณฑ์ที่ตนได้เคยกล่าวไปแล้ว ก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมดในระยะต่อไป
'ธนาธร'เร่งรบ.ฉีดวัคซีน
ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ 3 ข้อสังเกต+3 ข้อเสนอ แผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด เพื่อพาประเทศคืนสู่ความเป็นปกติโดยเร็วที่สุด โดยตอนหนึ่งระบุว่า จนถึงตอนนี้จากข้อมูลทั้งหมดที่มีเราสามารถสรุปได้ว่ารัฐบาลจัดหาวัคซีนได้ล่าช้ากว่าประเทศอื่น ฉีดวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่น แต่แทนที่รัฐบาลจะออกมายอมรับความผิดพลาดของตนเอง กลับออกมาแก้ตัวด้วยข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล
นายธนาธรกล่าวว่า ตนมีข้อเสนอถึงรัฐบาล 3 ประการ เพื่อจัดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้รวดเร็วกว่านี้ นำประเทศกลับสู่ความเป็นปกติได้เร็วกว่านี้ 1.เป้าหมายการฉีดวัคซีนเดือนละ 5 ล้านเข็ม น้อยเกินไปและช้าเกินไป รัฐบาลจึงต้องเร่งเจรจาหาผู้ผลิตที่สามารถส่งมอบได้เร็วกว่านี้ 2.รัฐบาลต้องเริ่มออกแบบกระบวนการฉีดวัคซีนอย่างลงรายละเอียด หากเราต้องการฉีดให้ได้ 5 ล้านเข็มต่อเดือน รัฐบาลต้องเริ่มกำหนดศูนย์ฉีดวัคซีนในแต่ละจังหวัดให้ชัดเจนว่าแต่ละจังหวัดมีกี่ศูนย์ที่ใดบ้าง หลังจากนั้นจึงออกแบบกระบวนการในแต่ละศูนย์ ว่ามีกี่สถานีฉีด แต่ละสถานีต้องใช้บุคลากรเท่าใด กี่ผลัด เพื่อครอบคลุมทั้ง 7 วัน บุคลากรจะมาจากไหน และต้องเพิ่มทักษะอย่างไรบ้าง
ส่วน 3.รัฐบาลต้องเปลี่ยนท่าทีในการพูดเรื่องวัคซีนกับประชาชน ต้องเลิกทำให้ประชาชนกลัววัคซีน บอกข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเรื่องการแพ้วัคซีน ซึ่งอ้างอิงได้จากผลการทดสอบยาในระยะสาม เปิดเผยข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้านเพื่อให้ประชาชนไว้วางใจ หากประชาชนไม่ยอมรับการฉีดวัคซีน ต่อให้จัดหาวัคซีนมาได้ก็ไม่มีประโยชน์
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงวัคซีนพาสปอร์ตว่า ขณะนี้ WHO ได้รับข้อเรียกร้องจากหลายฝ่าย รวมถึงไทย ให้พิจารณาการใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือวัคซีนพาสปอร์ตควรจะจัดการอย่างไร โดย WHO แนะนำว่ายังไม่ควรให้ใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้ เพราะหลักฐานข้อมูลต่างๆ ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าคนฉีดวัคซีนแล้วจะไม่แพร่โรคให้คนอื่น ฉีดวัคซีนจะอยู่ได้นานแค่ไหน หรือต้องฉีดซ้ำอีกกี่เข็มอย่างไร
"โดยหลักการอนาคต เห็นตรงกันว่าถ้าวัคซีนมีประสิทธิภาพดีพอมีการใช้มากขึ้น การนำวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้วัคซีนพาสปอร์ตเป็นแนวคิดน่าสนใจ แล้วมีความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะนำวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้สำหรับคนที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย แต่ ณ เวลานี้ยังไม่มีหลักฐานมากเพียงพอที่วัคซีนพาสปอร์ตจะมาทดแทนการกักตัว 14 วันได้อย่างมีประสิทธิภาพ" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
วันเดียวกัน นิด้าโพลเปิดเผยผลสำรวจเรื่องโควิด-19 รอบใหม่ ในหัวข้อการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 63.12 จะรับบริการฉีดวัคซีนฟรีจากรัฐบาล ส่วนร้อยละ 23.57 จะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 และร้อยละ 7.98 จะยอมเสียเงินเองในการฉีดวัคซีนตามโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการอนุญาตจากรัฐ ส่วนร้อยละ 5.33 ไม่ทราบ, ไม่ตอบ, ไม่สนใจ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |