พอเกิดรัฐประหารที่เมียนมา ภาพของการแข่งขัน กดดันและต่อรองด้าน "ภูมิรัฐศาสตร์" ก็ปรากฏขึ้นให้ได้เห็นทันที
สหรัฐฯ จะกดดันผู้นำทหารเมียนมาแรงแค่ไหน
วอชิงตันจะใช้มาตรการ "คว่ำบาตร" หนักหน่วงเพียงใด
เพราะมีประเด็นว่า หากการคว่ำบาตรมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของชาวบ้านมากกว่าระดับผู้นำ อเมริกาจะต้องทบทวนวิธีการ "ลงโทษ" ผู้นำทหารที่ปกครองประเทศภายใต้ภาวะฉุกเฉินหรือไม่
เพราะกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศว่าได้พิจารณาปัจจัยทั้งหลายแล้ว สรุปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่เมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์นั้นเป็น coup d’etat หรือ "รัฐประหาร"
มิใช่ปฏิบัติการภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญอย่างที่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายอ้างแต่อย่างใด
ขณะที่สื่อทางการของจีนไม่เรียกว่า "รัฐประหาร" หากแต่ใช้คำว่า "การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งสำคัญ" หรืออะไรทำนองนั้น
แต่สหรัฐฯ ก็ยืนยันว่า ความช่วยเหลือเมียนมาในด้านส่งเสริมประชาธิปไตยและชาวโรฮีนจาก็จะยังดำเนินต่อไป แต่จะลงโทษเฉพาะตัวบุคคลในกองทัพและผู้เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจครั้งนี้
มีคำถามว่า หากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปบีบรัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำของทหารหนักขึ้น จะเป็นการผลักไสให้ขยับเข้าไปใกล้จีนมากขึ้นหรือไม่
อย่างนั้นมิยิ่งทำให้ดุลมหาอำนาจในเอเชียเอียงเข้าข้างจีนและรัสเซียมากกว่าเดิมหรือ
แนวคิดด้านหนึ่งเป็นเช่นนั้น
นั่นคือยิ่งสหรัฐฯ บีบผู้นำทหารเมียนมามากเท่าใดก็ยิ่งเข้าทางจีนมากเท่านั้น
แต่อีกแนวคิดหนึ่งมองว่า ปักกิ่งก็มิใช่ว่าจะสบายใจนักที่ผู้นำทหารเมียนมาตัดสินใจคว่ำกระดานทางการเมือง
เพราะจีนวันนี้มิใช่จีนเมื่อ 20 ปีก่อน ที่จะหลับหูหลับตาสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารโดยไม่คำนึงถึงกระแสต่อต้านจากประชาคมโลก
ก่อนเกิดเรื่องรัฐประหารในเมียนมาเพียง 3 สัปดาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศหวัง อี้ของจีน ได้ไปเยือนเนปยีดอและได้เข้าพบอองซาน ซูจี กับนายพลมิน อ่อง หล่าย
หวัง อี้ได้ประกาศสนับสนุนทั้งรัฐบาลพลเรือนและกองทัพเมียนมาอย่างเปิดเผย
จีนพยายามจะ "รักษาดุลถ่วง" ระหว่างขั้วอำนาจพลเรือนและทหารของเมียนมามาตลอด เพื่อให้สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงในประเทศเพื่อนบ้านนี้มาตลอดเช่นกัน
ดังนั้นเราจะเห็นการปรับท่าทีของจีนที่น่าสนใจ...และไม่จำเป็นจะต้องกระโดดเข้าข้างกองทัพเมียนมาอย่างเต็มตัวเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จีนจะออกมากดดันรัฐบาลทหารของเมียนมาวันนี้อย่างโจ่งแจ้ง เพราะเมื่อเกิดสุญญากาศทางการเมืองในวันนี้ ปักกิ่งก็ย่อมจะใช้จังหวะและโอกาสนี้เพื่อสร้างประโยชน์เพื่อตนอย่างเต็มที่ที่สุดเช่นกัน
เพราะอย่างไรเสียจีนก็ยังต้องการความร่วมมือจากเมียนมา (ไม่ว่าฝ่ายไหนจะเป็นรัฐบาล) ในอันที่จะทำให้นโยบาย "One Belt One Road" ได้รับความร่วมมือในเมียนมา
เพื่อสร้างเส้นทางคมนาคมจากทางตอนใต้ของจีนข้ามผ่านเมียนมาเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับจีนทั้งด้านการค้าและยุทธศาสตร์ในระยะกลางและระยะยาวที่สำคัญยิ่ง
จีนได้ซ่อมสร้างถนน Burma Road เก่าเข้าสู่รัฐฉานของเมียนมา
และสร้างท่อส่งแก๊สธรรมชาติยาวเป็นพันกิโลเมตรจากยูนนานทางใต้ของจีนเชื่อมต่อกับอ่าวเบงกอล
ท่อส่งน้ำมันอีกเส้นหนึ่งวิ่งขนานกับท่อส่งแก๊สธรรมชาตินี้ เชื่อมต่อระหว่างโรงกลั่นน้ำมันที่ยูนนานกับชายฝั่งเมียนมาเพื่อส่งน้ำมันดิบจากอ่าวเปอร์เซียและแอฟริกา
นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง, ท่าเรือน้ำลึก และเขตอุตสาหกรรม ณ จุดที่ติดกับฝั่งอ่าวเบงกอลที่จีนวางท่อน้ำมันและแก๊สธรรมชาติไว้
ทั้งหมดนี้คือ "ความเชื่อมโยง" ของผลประโยชน์จีนในเมียนมา ที่ปักกิ่งต้องนำมาพิจารณาร่วมกับการตัดสินใจเรื่องการเมือง การทูต และความมั่นคงอย่างปฏิเสธไม่ได้
แต่จีนก็ตระหนักว่า คนในเมียนมาจำนวนไม่น้อยมีความระแวงในแผนการของจีนและมีความไม่พอใจลึกๆ ในรูปแบบต่างๆ
ต้องไม่ลืมว่าเพื่อนบ้านที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของเมียนมาคืออินเดีย ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับจีนมาตลอดเช่นกัน
วันนี้เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมียนมาจึงต้องต้องเผชิญกับทั้งผู้มีประสบการณ์ในฐานะ "มือเก๋า" ด้านการถ่วงดุลมหาอำนาจที่เป็นเพื่อนบ้านอย่างจีนและอินเดีย
กับมหาอำนาจจากแดนไกลเช่นสหรัฐฯ ที่ก็มีผลประโยชน์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ของตน ที่คนเมียนมาไม่อาจจะไว้ใจได้ทั้งหมดเช่นกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |