'สัตว์ไร้บ้าน' ในสถานการณ์โควิด อีกชีวิตที่ต้องฝ่าวิกฤติ


เพิ่มเพื่อน    

สัตว์เลี้ยงถูกทอดทิ้งและเจ็บป่วยได้รับการดูแลภายในศูนย์พักพิงของมูลนิธิฯ

 

 

      โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างสาหัสต่อผู้คนทุกกลุ่ม สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายนี้ หนึ่งในประเด็นที่น่าวิตกอย่างยิ่งนอกเหนือจากปัญหาคนไร้บ้าน คือ ปรากฏการณ์สัตว์เลี้ยงถูกทอดทิ้ง เกิดหมาและแมวเร่ร่อนไร้บ้าน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล จนกระทั่งต่างจังหวัด
    อย่างที่วัดหัวคู้ จ.สมุทรปราการ มีการปล่อยสุนัขเกือบ 300 ตัว เพราะคนเลี้ยงดูแลน้องหมาต่อไม่ไหว ด้วยสถานภาพตกงาน ผลพวงจากโรคระบาดโควิด ก่อนจะมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาช่วยเหลือส่งอาหารสัตว์ให้แก่เจ้าอาวาสวัดหัวคู้ ที่ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูหมาจรจัด และหมาป่วย นอกจากปล่อยหมาตามวัด ยังมีศูนย์พักพิงต่างๆ และข่าวหาบ้านให้หมาในโลกออนไลน์มากขึ้น ภายใต้วิกฤติการแพร่ระบาด บ้านเรากำลังจะมีสัตว์เลี้ยงไร้บ้านมากขึ้น จะต้องหาแนวทางป้องกัน และเตรียมมาตรการรับมือในการช่วยเหลือเพื่อสวัสดิภาพที่ดี

 

หมาพันธุ์ดี หมาพันทาง ถูกปล่อยทิ้ง ได้รับการช่วยเหลือด้านสวัสดิภา
   

     จากการสำรวจเมื่อปี 2550 ประเทศไทยมีสุนัขจรจัดราว 3.5 แสนตัว สิบปีต่อมาพบว่า มีจำนวนมากขึ้นแบบทวีคูณ ปี 2560 พบสุนัขจรจัดมากกว่า 8 แสนตัว โดยกรมปศุสัตว์ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2570 ประเทศไทยจะมีสุนัขและแมวจรจัดมากกว่า 1.92 ล้านตัว และจะพุ่งเป็น 5 ล้านตัวในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้มีปัจจัยสถานการณ์โควิดระบาดที่เร่งให้เกิดหมาแมวไร้บ้าน
    ทุกวันนี้มีหลายองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือสัตว์ หนึ่งในนั้น มูลนิธิอนุรักษ์โคกระบือไทยและให้ชีวิตใหม่แก่สัตว์ถูกทอดทิ้ง ซึ่ง ณัฐธยาน์ พลหาญ ทองลงยา ประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์โคกระบือไทยและให้ชีวิตใหม่แก่สัตว์ถูกทอดทิ้ง เป็นผู้ทุ่มเทช่วยสัตว์ ขณะที่คนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน หรือ Work Form Home แต่ จนท.มูลนิธิต้องทำงานปกติ และยังต้องระวังโควิด ปัจจุบันเธอมีศูนย์พักพิงสัตว์ไร้บ้านทั้งที่กรุงเทพฯ และ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ดูแลสัตว์กว่า 720 ตัวที่ถูกปล่อยทิ้ง โดนทำร้าย เจ็บป่วย
    “ ศูนย์ที่กรุงเทพฯ ดูแลหมาแมว 120 ตัว และมีสัตว์ถูกทิ้งเข้ามาใหม่เพิ่ม หนึ่งในสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจที่กระทบหนักจากโควิด กิจการปิด หลายคนตกงาน หลายคนถูกลดเงินเดือน ขาดรายได้ คนส่วนหนึ่งทิ้งหมาแมว  แม้แต่คนที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์ดี อย่างไซบีเรียน โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ลาบาดอร์ บีเกิล หรือแมวพันธุ์เปอร์เซียก็มีเอาไปทิ้งหรือประกาศหาบ้าน เคสล่าสุดปิดโรงงานเพราะโควิด จับหมาแมวที่เคยเลี้ยงในพื้นที่โรงงานใส่ถุง อัดมาถุงละ 13 ตัว มูลนิธิได้รับแจ้งก็เข้าช่วยเหลือ“ ณัฐธยาน์ เล่าให้ฟัง



  ณัฐธยาน์ พลหาญ ทองลงยา ประธานมูลนิธิอนุรักษ์โคกระบือไทยและให้ชีวิตใหม่แก่สัตว์ถูกทอดทิ้ง ผู้ทุ่มเทดูแลสัตว์

 

     นอกจากน้องหมายังมีน้องม้าโดนพิษโควิด เมื่อปิดสนามแข่งม้ายาวทั่วประเทศ เพราะเป็นสถานที่เสี่ยงระบาด ไม่เพียงวงการม้าแข่งซบเซา เจ้าของคอกม้า จ๊อกกี้แข่งม้าเดือดร้อน ตัวม้าแข่งเองก็เอาชีวิตไม่รอด ณัฐธยาน์เล่าว่า ตอนนี้ที่ปากช่อง มูลนิธิดูแลม้าแข่ง 20 ตัว ช่วยไว้ก่อนส่งไปเชือดที่เวียดนาม เจ้าของคอกม้าขาย เลี้ยงไม่ไหว ม้าที่รอดชีวิตภาระค่าใช้จ่ายทั้งค่าอาหารและยาตกหมื่นกว่าบาทต่อตัว ที่นี่ช่วยสัตว์ทุกประเภท เมื่อได้รับแจ้งก็ปฏิเสธยาก เพราะหมายถึงอีกชีวิตที่ต้องการความช่วยเหลือ เราปล่อยให้เขาตายไม่ได้

 

ม้าแข่งที่รอดจากการเข้าโรงเชือด เหตุเจ้าของคอกโดนพิษโควิด


    เหล่าหมาแมวจรที่อยู่กับมูลนิธิต้องดูแลรักษา จัดอาหารให้เหมาะสม เธอบอกภายใต้สถานการณ์ระบาด คนใช้จ่ายอย่างประหยัด ทำให้ยอดบริจาคช่วยชีวิตสัตว์น้อยลงอย่างมาก บางเดือนแทบไม่มีเงินเข้ามาเลย บวกกับมาตรการล็อกดาวน์ จำกัดการเดินทาง และคนระวังติดโควิด เดิมมีคนมาบริจาคอาหารสัตว์ ตอนนี้ไม่มา แต่สัตว์กินทุกวัน ยิ่งเดือดร้อน ต้องดิ้นรนเพื่อหาทางรักษาสัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง เรารับความช่วยเหลือทุกทาง สามารถร่วมสมทบทุนค่าอาหารและยาได้ที่ธนาคารกสิกรไทย เลขบัญชี 601-1-01395-1 คนและสัตว์ต้องรอดไปด้วยกัน โควิดระลอกใหม่หนักกว่าระลอกแรกจริงๆ คดีทารุณกรรมสัตว์ที่มูลนิธิช่วยดำเนินคดีก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะคนเครียด สัตว์ก็หิวโซ
    “ อยากให้ประชาชนมีสำนึกรับผิดชอบต่อชีวิตหมา แมว หรือสัตว์เลี้ยงที่เอามาเลี้ยง ขณะที่ศูนย์แรกรับของภาครัฐที่มีอยู่สภาพพื้นที่ก็จำกัด รองรับจำนวนสัตว์ได้หลักพัน ขณะที่สุนัขจรจัดในเมืองมีหลายแสน อยากเสนอ กทม.ว่า แต่ละเขตสร้างศูนย์พักพิงสัตว์ โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายกลุ่มคนรักสัตว์ ทั้งเรื่องจัดหาสถานที่และเจ้าหน้าที่จิตอาสาหมุนเวียนดูแลสัตว์ในศูนย์ ส่วนงานทำหมัน ฉีดวัคซีน ให้ทำควบคู่กันไป ปัญหาจะเบาลง“ ณัฐธยาน์มีข้อแนะนำรับมือสัตว์ถูกทิ้ง

 

แมว หนึ่งในสัตว์เลี้ยงยอดนิยม แต่ทาสแมวตกงาน ปล่อยแมวทิ้ง

 

    ด้าน นสพ.ศุภเสกข์ ศรจิตติ หรือ “หมอทู” แห่งโรงพยาบาลสัตว์คริสตัล เพ็ท ผู้ทุ่มเทรักษาสัตว์และช่วยเหลือหมาจรจัดเจ็บป่วยในโรงพยาบาลกว่า 30 ตัว บอกว่า เป็นคนรักหมา สงสารถ้าเห็นหมาลำบาก ช่วยดูแลได้จะช่วย แต่มีลิมิต เพราะมีรายจ่ายมาก สวนทางกับรายรับของโรงพยาบาลที่ลดลง พบว่า เดิมลูกค้าของโรงพยาบาลเป็นกลุ่มคนมีฐานะ มีทั้งแอร์โฮสเตท สจ๊วต แต่เมื่อล็อกดาวน์ห้ามเดินทางระหว่างประเทศ คนกลุ่มนี้ตกงาน จากที่ไม่กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาหมา ตอนนี้เขาใช้จ่ายอย่างประหยัด ส่วนหนึ่งประกาศหาบ้านให้น้อง เพราะเลี้ยงไม่ไหวแล้ว กลุ่มคนรักหมาทั้งปั๊ก ไซบีเรียน พูเดิล ก็พยายามช่วยกันในสถานการณ์วิกฤตินี้ ยอมรับการหาบ้านให้หมาชะลอตัว โลกออนไลน์โพสต์เยอะมาก แต่หาบ้านไม่ได้ เชื่อว่าหมาแมวส่วนหนึ่งถูกปล่อยทิ้ง
    “ เวลานี้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมก็มีปัญหาหนัก กิจการกระทบโควิด เลิกจ้าง เลิกดูแลหมาแมว ฝากถึงคนเลี้ยงสัตว์ ควรรับผิดชอบเลี้ยงดูไปจนสิ้นอายุของเขา สุนัขก็มีชีวิตจิตใจ อีกไม่นานวัคซีนมา คนได้ฉีดกัน เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น คนกลับมาทำงานได้ปกติ ถ้าป่วยโควิดก็รักษาหาย เศรษฐกิจจะกลับมา ช่วยกันดูแลสัตว์เลี้ยงให้ดีที่สุด ไม่ทอดทิ้งกัน“ หมอทูฝาก และบอก ตอนนี้กำลังใช้เงินกล่องบริจาคก้อนสุดท้ายดูแลต่อชีวิตหมาป่วย มีเงินใช้ได้ในระยะ 2-3 เดือนเท่านั้น

 


    ส่วนมาตรการรัฐที่มี สามารถช่วยเหลือสุนัขจรจัดที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤติได้มากน้อยเพียงใด ประเด็นนี้ นายสัตวแพทย์ศิวะ ไม้สนธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย ให้ข้อมูลว่า โควิดระลอกแรกมีข่าวสัตว์เลี้ยงติดโควิด เกิดความกังวลจะแพร่เชื้อมาสู่คน แต่ท้ายที่สุดไม่มีงานวิจัยยืนยันหมาหรือแมวนำเชื้อไวรัสสู่เจ้าของได้ ก็ไม่อยากให้กลัวจนขนาดทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง จริงๆ แล้วอยากให้ผู้เลี้ยงเอาใจใส่สุขอนามัยและหาทางป้องกันสัตว์เลี้ยงของตนให้ห่างไกลจากโรค
    ส่วนมาตรการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดของ กทม.นั้น เช่น โครงการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ผอ.บอกว่า ในกรุงเทพฯ ไม่พบโรคพิษสุนัขบ้ามา 1 ปี 4 เดือนแล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าไม่มีตัวเลขมา 4 ปีแล้ว เป็นผลจากการทำงานเชิงรุกบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าต่อเนื่อง อีกมาตรการคือ ทำหมันหมาแมวไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นตัวทุกปี สัตว์เกิดน้อย วัคซีนทั่วถึง ส่วนศูนย์แรกรับป้องกันโรคช่วยเหลือหมาจรจัดได้ไม่เกิน 1,000 ตัว ก่อนจะเคลื่อนย้ายสู่ศูนย์พักพิงใหญ่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ตามแผนปี 64 เดือนมีนาคมจะเดินหน้าโครงการฉีดวัคซีนหมาบ้า ร่วมกับ สนง.เขต 50 เขต สาธารณสุขตั้งจุดบริการ 50 จุด เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แผนอาจจะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด เพราะต้องลงชุมชนติดตามสุนัขจรจั
    “ หมาเป็นสัตว์โตเร็ว เข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็ว 6 เดือนเจริญพันธุ์ได้ ตั้งท้องแต่ละครั้งมีลูกหลายตัว วงรอบการขยายพันธุ์ 1 ปี เพิ่มประชากรเป็น 10 เท่า  เจ้าของที่เลี้ยงด้วยความละเลยจะทำให้สุนัขเพิ่มจำนวนขึ้น การเลี้ยงขาดคุณภาพ ผู้เลี้ยงไม่มีความสุข นำสู่การทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง หมามีเจ้าของเรารณรงค์ให้ทำหมัน หมาจรจัดเราระดมทำหมัน“ นายสัตวแพทย์ศิวะฝากให้คนกรุงเลี้ยงสัตว์ด้วยความรัก
    ทั้งหมดนี้คือ สถานการณ์สัตว์เลี้ยงในกรุงเทพฯ และกรณีการช่วยเหลือสัตว์ไร้บ้านในองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ในภาวะวิกฤติ การก้าวผ่านวิกฤติโควิดอันเลวร้าย อย่าละเลยชีวิตสัตว์ แต่ต้องร่วมกันทำหน้าที่ของทุกคนที่มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบอย่างแท้จริง

 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"