'ธนาธร'ร่ายยาวโต้3ประเด็นรัฐบาลฉีดวัคซีนช้า แนะ3ข้อเสนอฉีดเร็ว


เพิ่มเพื่อน    

7 ก.พ.64-  นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ  3 ข้อสังเกต + 3 ข้อเสนอ แผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด เพื่อพาประเทศคืนสู่ความเป็นปกติโดยเร็วที่สุด  มีเนื้อหาระบุว่า จนถึงตอนนี้ จากข้อมูลทั้งหมดที่มี เราสามารถสรุปได้ว่ารัฐบาลจัดหาวัคซีนได้ล่าช้ากว่าประเทศอื่น ฉีดวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่น แต่แทนที่รัฐบาลจะออกมายอมรับความผิดพลาดของตนเอง กลับออกมาแก้ตัวด้วยข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล ข้ออ้างดังกล่าวมี 3 ประเด็นใหญ่ด้วยกัน ซึ่งผมขอให้ความคิดเห็นไว้สักเล็กน้อย ก่อนที่จะเสนอแผนการบริหารจัดการวัคซีนที่ผมเชื่อว่าจะนำพาประเทศไทยกลับคืนสู่ความเป็นปกติได้โดยเร็ว

1. “ประเทศไทยไม่มีการแพร่ระบาดที่รุนแรง ไม่มีผู้เสียชีวิตมากมายเหมือนประเทศอื่น เราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จึงไม่จำเป็นต้องรีบฉีด เราสามารถรอได้”

ประเทศไทยไม่มีการแพร่ระบาดรุนแรงและไม่มีผู้เสียชีวิตเหมือนหลายประเทศจริง แต่ในระหว่างที่สังคมยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ประชาชนต้องใช้ชีวิตแบบกึ่งปิดกึ่งเปิด ยกการ์ดป้องกันตัวเอง ใช้ชีวิตอยู่กับความกลัวและความลำบากยากแค้นในการทำมาหากิน ในภาวะเช่นนี้ หลายครอบครัวรายได้น้อยลง หลายคนตกงาน บัณฑิตจบใหม่หางานยาก ผู้ประกอบการไม่กล้าจ้างงานใหม่ ไม่กล้าลงทุน หลายรายปิดกิจการไปแล้ว หนี้ครัวเรือนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือครัวเรือนที่มีรายได้น้อย พวกเขาต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนเอาตัวรอดด้วยตนเอง

แผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาลจนถึงปลายปีที่แล้วยังมีเป้าหมายที่จะฉีดให้ครบร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรในสิ้นปี 2566 เราใช้ชีวิตภายใต้สถานการณ์โควิดมาแล้วหนึ่งปี ลองนึกดูกันว่าหากต้องใช้ชีวิตเช่นนี้อีกสามปี คนจนจะเป็นอย่างไร? รัฐบาลเพิ่งจะมาเปลี่ยนแผนใหม่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ก็ตอกย้ำแล้วว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับวัคซีนน้อยเกินไปและช้าเกินไป

ประเทศไทยรอวัคซีนนานขนาดนั้นไม่ได้ คนที่กล่าวว่าเราสามารถรอได้ ไม่จำเป็นต้องรีบฉีด คือคนที่มีการงานมั่นคง ไม่มีความเข้าใจความเดือดร้อนของคนจนและผู้ประกอบการรายย่อย

การแพร่ระบาดรอบสองเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้เราเห็นว่าสมมุติฐานว่าเราสามารถจัดการการแพร่ระบาดได้ในอดีต และจะทำได้ตลอดไป เป็นสมมติฐานที่ตั้งอยู่บนความประมาท การแพร่ระบาดรอบใหม่อาจเกิดขึ้นได้อีกเมื่อใดก็ได้ และทุกครั้งที่เกิด การใช้มาตรการกึ่งเปิดกึ่งปิด คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนจนและผู้ประกอบการรายย่อยอีกเช่นเดิม

การจัดการการแพร่ระบาดและการจัดหาวัคซีนเป็นคนละภารกิจกัน ผมขอยกตัวอย่างประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีการจัดการโควิดได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก นิวซีแลนด์จัดการการแพร่ระบาดไปพร้อมๆ กับการจัดหาวัคซีน จนถึงวันนี้รัฐบาลนิวซีแลนด์ จัดหาวัคซีนครอบคลุมถึงสามเท่าของจำนวนประชากรจากผู้ผลิต 4 เจ้า

2. “จัดจองจัดซื้อช้ามาจากการต้องการเลือกวัคซีนที่ดีที่สุด ไม่ต้องการให้คนไทยเป็นหนูทดลอง ให้ต่างประเทศเขาลองก่อน”

วัคซีนจากผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ ล้วนแต่ผ่านการทดลอง clinical trial ในระยะที่หนึ่ง ซึ่งเป็นระยะที่ทดสอบความปลอดภัยในมนุษย์ตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่น วัคซีนจาก Pfizer ผ่านการทดสอบระยะที่หนึ่งในเดือนเมษายน และวัคซีนจาก Moderna ผ่านการทดสอบระยะที่หนึ่งเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว

หลายประเทศที่รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาคุณภาพวัคซีน เลือกใช้วิธีสั่งจากหลายเจ้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงว่าวัคซีนที่จัดหาอาจใช้ไม่ได้ผล ไม่ใช่ใช้วิธีซื้อช้า นอกจากนี้ ก่อนการนำวัคซีนใดมาใช้ ยังต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและรับรองของ อย. ในประเทศอีกด้วย 

ประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาพร้อมกับเรื่องราคาและภาษีประชาชน ซึ่งขอให้ดูประเด็นต่อไป

3. “ตอนนี้ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ขาย ถ้ารอถึงปลายปีตลาดวัคซีนจะเป็นของผู้ซื้อ เราจะได้ราคาที่ถูกลง”

จากข้อมูลของรัฐบาลเอง ประเทศไทยเสียรายได้เฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากสถานการณ์โควิดถึงเดือนละ 2.5 แสนล้านบาท วัคซีนที่ซื้อจากแอสตราเซเนกา ราคาเข็มละ 150 บาท(5 ดอลลาร์) เราใช้เงินเพื่อจัดซื้อให้ครอบคลุมร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรเป็นเงิน 4 พันล้านบาท ถ้าจะจัดซื้อให้ครบทุกคน ต้องใช้เงิน 2 หมื่นล้านบาท ราคาก็ไม่ได้มากไปกว่าเรือดำน้ำสองลำที่ซื้อจากจีน 

ถ้าเร่งจัดหาตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่อให้ราคาแพงกว่านี้ 3 เท่า หรือเป็นเงิน 6 หมื่นล้านบาท ถ้าเทียบกับความสูญเสียแล้ว คิดอย่างไรก็คุ้ม ดังนั้นเรื่องรอตลาดวัคซีนให้เป็นของผู้ซื้อ เมื่อเทียบกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง

ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะออกมายอมรับความจริงว่าประมาทเกินไป คิดว่าจะสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดได้ตลอดไป จึงฝากความหวังไว้ทีวัคซีนแอสตราเซเนกาเจ้าเดียว ไม่เร่งเจรจากับผู้ผลิตรายอื่น 

เราเห็นรัฐบาลกระฉับกระเฉงมากขึ้นเรื่องการจัดหาวัคซีนและการฉีดวัคซีน แต่กว่าจะเริ่มตระหนักถึงความสำคัญก็ช้าเกินไปเสียแล้ว

คุณอนุทินพูดถึงกรอบเวลาการฉีดวัคซีนใหม่ที่เมื่อวานนี้ และทำให้เราทราบว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายนของปีนี้เป็นต้นไป รัฐบาลจะฉีดวัคซีนเดือนละ 5 ล้านเข็มให้กับคนไทย โดยมีเป้าหมายจะฉีดให้ได้ครอบคลุมประชากรจำนวน 50 ล้านคนซึ่งต้องใช้วัคซีน 100 ล้านเข็ม

จากเป้าหมายนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เวลาถึง 20 เดือน หรือจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เพื่อจะฉีดให้ได้ครบตามเป้าหมาย ซึ่งช้าเกินไป ประชาชนจะรอได้อย่างไร? บุคลากรทางการแพทย์จะทำงานหามรุ่งหามค่ำอีกนานขนาดนั้นได้อย่างไร?

ผมมีข้อเสนอถึงรัฐบาล 3 ประการ เพื่อจัดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้รวดเร็วกว่านี้ นำประเทศกลับสู่ความเป็นปกติได้เร็วกว่านี้

1. เป้าหมายการฉีดวัคซีนเดือนละ 5 ล้านเข็ม น้อยเกินไปและช้าเกินไป ผมเข้าใจว่าเกิดจากการส่งมอบวัคซีนช้า รัฐบาลจึงต้องเร่งเจรจาหาผู้ผลิตที่สามารถส่งมอบได้เร็วกว่านี้โดยคำนึงถึงเรื่องราคาเป็นประเด็นรอง นายกรัฐมนตรีต้องนั่งสั่งการกำกับการเจรจาจัดหา และติดตามความคืบหน้าด้วยตนเองทุกวันเพื่อสนับสนุนการทำงานของข้าราชการและบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนักอยู่ แต่ติดขัดขั้นตอนทางราชการที่ล่าช้า

2. รัฐบาลต้องเริ่มออกแบบกระบวนการฉีดวัคซีนอย่างลงรายละเอียด หากเราต้องการฉีดให้ได้ 5 ล้านเข็มต่อเดือน หมายความว่าเราต้องฉีดให้ได้ 2,200 เข็มต่อจังหวัดต่อวัน ผมเชื่อว่าถ้าเราจัดหาวัคซีนได้มากกว่านี้ต่อเดือนและออกแบบบริหารการฉีดได้ดี เราสามารถฉีดได้มากกว่า 2,200 เข็มต่อวันต่อจังหวัด

รัฐบาลต้องเริ่มกำหนดศูนย์ฉีดวัคซีนในแต่ละจังหวัดให้ชัดเจนว่าแต่ละจังหวัดมีกี่ศูนย์ที่ใดบ้าง หลังจากนั้นจึงออกแบบกระบวนการในแต่ละศูนย์ ว่ามีกี่สถานีฉีด แต่ละสถานีต้องใช้บุคลากรเท่าใด กี่ผลัด เพื่อครอบคลุมทั้ง 7 วัน บุคลากรจะมาจากไหนและต้องเพิ่มทักษะอย่างไรบ้าง

รัฐบาลต้องจัดเตรียมยานพาหนะที่จะใช้ในการขนส่งวัคซีนให้เพียงพอตลอดช่วงเวลาการฉีดวัคซีน หากจำเป็นต้องสร้าง/ต่อเติมยานพาหนะพิเศษเพิ่มเติมเพื่อจัดเก็บและขนส่ง ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ 
รัฐบาลต้องออกแบบและสร้างระบบฐานข้อมูลในการเก็บข้อมูลการฉีดวัคซีนของประชาชนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอบทานกลับได้ว่าใครฉีดวัคซีนตัวใด วันที่เท่าไหร่ มาจากชุดการผลิตไหน

3. รัฐบาลต้องเปลี่ยนท่าทีในการพูดเรื่องวัคซีนกับประชาชน คนจำนวนมากไม่อยากฉีดวัคซีนด้วยเหตุผลที่ต่างกัน รัฐบาลต้องเลิกทำให้ประชาชนกลัววัคซีน บอกข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเรื่องการแพ้วัคซีน ซึ่งอ้างอิงได้จากผลการทดสอบยาในระยะสาม เปิดเผยข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้านเพื่อให้ประชาชนไว้วางใจ หากประชาชนไม่ยอมรับการฉีดวัคซีน ต่อให้จัดหาวัคซีนมาได้ก็ไม่มีประโยชน์

ข้อเสนอของผมทั้งหมด เป็นไปด้วยความปรารถนาดีต่อพี่น้องประชาชนคนไทย บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำเพื่อรับมือโควิด ประชาชนทั่วประเทศเผชิญความยากลำบากอย่างสาหัสจากพิษเศรษฐกิจ เราไม่อาจยกการ์ดแบบนี้ต่อไปได้อีกเป็นปีๆ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องพาคนไทยออกจากอุโมงค์อันมืดมิดของยุคโควิดโดยเร็ว และอาวุธที่เราต้องการเร็วที่สุด ทั่วถึงที่สุด ก็คือวัคซีน 

หวังว่าข้อเสนอของผมจะได้รับการรับฟังจากรัฐบาล เพื่อที่พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะได้กลับคืนสู่ชีวิตอันเป็นปกติโดยเร็ว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"