หลังจากโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา เพียงไม่กี่วันก็ประกาศว่าจะนำสหรัฐเข้าร่วมในความตกลงปารีส (Paris Agerrment) อีกครั้ง ซึ่งข้อตกลงปารีส ถือเป็นปฏิญญาระดับโลกฉบับแรก ที่ว่าด้วยความร่วมมือกันในการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งกว่า 195 ประเทศ รวมถึงกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปร่วมลงนามกันในปี 2558 เพื่อควบคุมกิจกรรมบนโลก ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่สำคัญคือ การชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และปรับลดลงมาไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
นโยบายของโจ ไบเดน ถือว่าสวนทางกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนก่อนอย่างสิ้นเชิง ในการทำงานวันแรกหลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเสร็จสิ้น ไบเดนได้ลงนามคำสั่งบริหารหลายฉบับ รวมถึงคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสภาวะโลกร้อน และได้ยกเลิกคำสั่งของรัฐบาลชุดก่อนที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ เนื่องจากก่อนหน้านี้โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ฉีกข้อตกลงโลกร้อนปารีส และนำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงอย่างเป็นทางการ เพราะเห็นว่าเป็นการสร้างมาตรฐานที่เข้มงวดมากเกินไป อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งการกระทำของทรัมป์ได้สร้างความสั่นคลอนในการแก้ปัญหาโลกร้อนไม่น้อย
การตัดสินใจของไบเดนครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นก้าวสำคัญของสหรัฐ ในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งสหรัฐเองจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ ทั้งในฐานะที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ และการขยายอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ
หนึ่งในคำสั่งของไบเดนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม นั่นก็คือ การเพิกถอนใบอนุญาตเช่าที่ดินสำหรับการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ของเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอาร์กติก หรือ Arctic National Wildlife Refuge รวมถึงการยกเลิกมาตรฐานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคขนส่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีรายงานข่าวว่าไบเดนจะทบทวนข้อตกลงทางสิ่งแวดล้อมกว่าร้อยรายการที่ถอยหลังลงคลองในยุคอดีตประธานาธิบดีทรัมป์
โจเน็ต เรดแมน ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงาน กรีนพีซ สหรัฐ กล่าวว่า เรายินดีที่เห็นโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี แต่การเข้าร่วมความตกลงปารีสอีกครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย หากทั้งโลกต้องการให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2593 สหรัฐจะต้องทำงานให้หนักกว่าเดิมเพื่อจะไปถึงเป้าหมาย การกลับเข้าไปร่วมความตกลงปารีสเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้น ตอนนี้รัฐบาลของไบเดนต้องทำงานอย่างจริงจังเพื่อคืนความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศให้กับทุกคน การเพิกถอนใบอนุญาตของรัฐบาลกลางสำหรับโครงการ Keystone XL เป็นการเริ่มต้นที่ดี เราหวังว่าจะได้เห็นไบเดนไปได้ไกลกว่านี้ และทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดโครงการที่ทำลายสภาพภูมิอากาศอื่นๆ รวมทั้งทำให้ธุรกิจการลงทุนและชุมชนเติบโตขึ้นจากระบบเศรษฐกิจพลังงานหมุนเวียน สำหรับกลุ่มคนที่อยู่ด่านหน้าในการต่อกรกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศและโควิด-19 นั้น ไม่ใช่เพียงการแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ หรือการฟื้นฟูให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม แต่ยังหมายถึงการปลดแอกสังคมเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วย
“การลด ละ เลิก เชื้อเพลิงฟอสซิล และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการกู้วิกฤติสภาพภูมิอากาศและขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ สามารถทำได้โดยการยุติการขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน หรือหยุดบริษัทต่างๆ จากการสร้างมลพิษต่อชุมชนเพื่อหวังผลกำไร ด้วยนโยบายที่ดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อควบคุมอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และการลงทุนในการสร้างงานและกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ" โจเน็ต กล่าว
โจเน็ต เรดแมน
ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงาน กรีนพีซ สหรัฐ มั่นใจว่า ทุกคนมีโอกาสเติบโตในระบบเศรษฐกิจพลังงานหมุนเวียน แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีความมุ่งมั่น อย่าง Green New Deal จะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นเกือบ 16 ล้านตำแหน่ง และรักษาตำแหน่งงานเหล่านั้นในอีกทศวรรษต่อไป
"รัฐบาลไบเดนมีโอกาสสร้างความมั่นใจว่า ผู้คนอีกหลายล้านคนสามารถเข้าถึงผลประโยชน์ของสหภาพแรงงานและการดูแลสุขภาพ ทำงานที่ช่วยฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศของเราแทนที่งานที่สร้างมลพิษ และพวกเรากรีนพีซยังขอเรียกร้องให้โจ ไบเดน ใช้กลไกทั้งหมด รวมถึงคำสั่งของฝ่ายบริหารและการลงนามในกฎหมายใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เป็นหายนะจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้ผู้คนฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรค" โจเน็ตกล่าว
คาร์เตอร์ โรเบิร์ต
ส่วนองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF สหรัฐอเมริกา คาร์เตอร์ โรเบิร์ต ประธานองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สหรัฐกำลังกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีส โดยประธานาธิบดีไบเดนกล่าวในวันแรกของการทำงานแล้วว่า ภาวะโลกร้อนเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติที่เขาให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คณะทำงานของไบเดน-แฮร์ริส จะเข้ามาเปลี่ยนทิศทางนโยบายในยุคของทรัมป์ ซึ่งได้สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
" สหรัฐกำลังจะกลับมาในฐานะผู้นำโลกในการปกป้อง อากาศ น้ำ และระบบนิเวศ ที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ทั่วโลก WWF พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลไบเดน-แฮร์ริส เพื่อก้าวสู่เป้าหมายลดโลกร้อนภายในปี 2573 และปี 2593 บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ และขับเคลื่อนประชาคมโลกให้เกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ หากสหรัฐยึดแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดภายในประเทศ และปรับระเบียบโลกใหม่เพื่อกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกไปพร้อมกับประเทศอื่นๆ ได้” นายคาร์เตอร์กล่าว
ส่วน พิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า การกลับมาสู่ข้อตกลงปารีสของรัฐบาลไบเดน สะท้อนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจะเป็นผลดีกับไทย สหรัฐเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญ สามารถช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถ้าเราฉวยโอกาสปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน พัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวให้เพิ่มขึ้น ก็มีสิทธิได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ ทั้งเรื่องเงินและเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในอีกมุมหนึ่งการกลับเข้าไปเป็นภาคีข้อตกลงปารีสที่มีเป้าหมายกำหนดมาตรการลดปล่อยก๊าซคาร์บอน อาจจะสร้างแรงกดดันหรือมีเงื่อนไขการเจรจาทางการค้าในอนาคตต่อประเทศในเอเชีย รวมถึงไทย จึงต้องติดตามและเตรียมความพร้อม ประเด็นที่ไบเดนให้ความสำคัญ
พิมพ์ภาวดีเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้อย่างมาก หากโลกยังคงร้อนขึ้นเรื่อยๆ จะมีผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์ เนื่องจากเราได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จึงเกิดภาวะโลกร้อน ดังที่เราเห็นไฟป่าออสเตรเลียครั้งใหญ่เผาผลาญพื้นที่วงกว้าง คร่าชีวิตคนและสัตว์ป่า หมีโคอาลา จิงโจ้ ไหม้เกรียม ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อเจอภัยแล้ง นี่เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชัดเจน สหรัฐเองก็เผชิญกับไฟป่ารุนแรงทั่วพื้นที่แถบตะวันตกของประเทศ ไม่รวมพายุเฮอริเคน ล้วนเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
"ธรรมชาติเมื่อเจอภัยคุกคาม บวกกับการบริโภคที่ไม่ยั่งยืนของมนุษย์ การกินเนื้อสัตว์มากขึ้น ทำให้ต้องใช้พื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้นในการเลี้ยงสัตว์ ทำปศุสัตว์ มีการขยายพื้นที่ทำกินตัดไม้ป่าทำลาย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อโลก การปล่อยก๊าซในภาคปศุสัตว์ มีรายงานทั่วโลกว่า การขยายตัวของปศุสัตว์และพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการทำลายป่า ทุ่งหญ้า ถ้าทุกคนลดการบริโภคเนื้อสัตว์ก็ลดความรุนแรงของภาวะโลกร้อนได้แล้ว" พิมพ์ภาวดีให้ความเห็น
พิมพ์ภาวดี พหลโยธิน
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ภาวะโลกร้อนกระทบต่อสิ่งมีชีวิต นั่นก็คือการสูญเสียชนิดพันธุ์สัตว์ โดยพิมพ์ภาวดีให้ข้อมูลว่า จากรายงานปี 2563 จำนวนชนิดพันธุ์สัตว์ในธรรมชาติหายไปแล้วเกือบ 70% เป็นสภาวะที่น่าใจหาย ขยับเข้ามาที่ประเทศไทย มีรายงานพบสัตว์น้ำจืดหายไปแล้ว 84% ซึ่งกระทบกับความมั่นคงทางอาหารของคนไทย เป็นเรื่องที่เราต้องตระหนัก ทั้งนี้ ก็ยังพอมีข่าวดีว่าไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่พบประชากรเสือโคร่งหลงเหลือในป่าธรรมชาติ จำนวนราว 130-160 ตัว เสือโคร่งที่พบส่วนใหญ่มีถิ่นอยู่อาศัยในผืนป่าตะวันตก ซึ่งทำให้เราต้องช่วยกันหวงแหนรักษาปกป้องผืนป่าใหญ่ผืนสุดท้ายนี้เอาไว้ เพราะประเทศลุ่มน้ำโขง เวียดนาม กัมพูชา ลาว เสือโคร่งล้วนสูญพันธุ์หมดแล้ว
" นอกจากไบเดนจะเห็นความสำคัญภาวะโลกร้อนเป็นภัยคุกคามการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตแล้ว ยังมีนโยบายในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่า ซึ่งรัฐบาลก่อนๆ ของสหรัฐก็ไม่ละเลยเรื่องนี้ มองว่าเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ขบวนการเหล่านี้ติดอาวุธใช้ล่าสัตว์ มีการโอนเงินข้ามประเทศ มีความเกี่ยวพันกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ เพราะเป็นตลาดมืดเหมือนกัน ไทยเป็นประเทศทางผ่าน ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันหยุดอาชญากรรมข้ามชาติ WWF ก็มีส่วนร่วมแก้ปัญหานี้ ที่ผ่านมาทำเรื่องงาช้าง นอแรด หูฉลาม ทุกคนต้องให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกันในการเลิกอุปโภค บริโภค สินค้าจากสัตว์ป่า และแจ้งเบาะแสหากพบการกระทำผิด" พิมพ์ภาวดี บอก
สำหรับไทยที่ให้สัตยาบันว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสด้วยเช่นกัน ประธาน WWF ประเทศไทย มองว่า ยังเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ โดยทุกภาคส่วนของไทยต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เฉพาะภาคพลังงาน ไทยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก หน่วยงานต่างๆ ก็ต้องขยับทำให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่ปล่อยตามเดิมหรือพูดลอยๆ ทำตามศักยภาพ ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบโลกใบเดียวกัน ในระดับนโยบายเองต้องมีมาตรการกระตุ้น ส่งเสริม หรือจูงใจผู้ประกอบการทุกกลุ่ม เพื่อพัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการที่ลดการปล่อยคาร์บอน ร่วมกันผลักดันให้ไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
" ปัจจุบันคนส่วนหนึ่งยังมีแนวคิดว่า ระบบนี้จะทำให้กำไรลดลง แต่แท้ที่จริงเป็นการลงทุนระยะยาว โดยไม่ละทิ้งต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาโลกร้อนและปัญหาโควิด โลกกำลังปรับตัวครั้งใหญ่ ไทยจะดำเนินชีวิตแบบเดิม ทำธุรกิจที่สร้างมลพิษหรือจะสร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงมีนโยบายแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ช่วยสร้างสมดุลให้โลกใบนี้" ซีอีโอ WWF ประเทศไทยสรุป
เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาสำคัญมาก และทั่วโลกให้ความสนใจ การกลับเข้าร่วมความตกลงปารีสของสหรัฐ ถือเป็นก้าวย่างที่น่าจับตามองของคณะบริหารไบเดนในการกลับนโยบายที่ดำเนินมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามว่า ผู้นำสหรัฐคนใหม่จะจริงจังแค่ไหน เพราะยังมีงานยากและความท้าทายรออยู่ข้างหน้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |