คนกลุ่มไหนควรได้ ฉีดวัคซีนก่อน?


เพิ่มเพื่อน    

        ถ้าวัคซีนโควิด-19 มาถึงไทย จะมีการแจกจ่ายและฉีดให้คนกลุ่มไหนก่อนหลัง?

            แม้รัฐบาลจะได้พูดเอาไว้กว้างๆ ว่า คนกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนก่อนควรจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพราะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและเสียสละสูงสุด แต่นอกเหนือจากนั้นก็ยังไม่มีรายละเอียดแต่อย่างใด

            ดูเหมือนว่ากระทรวงสาธารณสุขจะมองว่าคนกลุ่มต่อไปที่ควรจะได้วัคซีนก็คือ คนสูงอายุและคนที่เปราะบาง

            แต่เราก็ยังไม่แน่ใจว่าในทางปฏิบัติจะทำกันอย่างไร       ที่น่าสนใจคือ บางประเทศไม่ได้มีการเรียงลำดับแบบเดียวกับที่เรากำลังคิดอยู่

            อินโดนีเซียบอกว่าจะให้ "คนวัยทำงาน" ได้วัคซีนก่อนคนสูงวัยด้วยซ้ำ

            เขามีเหตุผลที่น่าสนใจเช่นกัน

            โดยเขาจะเริ่มให้วัคซีนคนวัยทำงานที่อายุระหว่าง  18-59 ปี ก่อนผู้สูงอายุ

            เริ่มด้วยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด วัย 59 ปี ได้รับวัคซีนเป็นคนแรกของประเทศ

            แต่รองประธานาธิบดีมารูฟ อามิน อายุ 77 ปี จะยังไม่ได้รับวัคซีนเนื่องจากอายุเกินเกณฑ์

            เหตุผลที่เขาเลือกคนวัยทำงานก่อน ก็เพราะคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่ "ออกจากบ้านและเคลื่อนไหวไปไหนมาไหน" มากกว่าคนช่วงอายุอื่นๆ

            นอกจากนั้นคนทำงานออกจากบ้านไปตอนเช้าและกลับมาหาครอบครัวตอนค่ำด้วย

            จึงอาจจะเป็นพาหะแพร่เชื้อได้มากกว่าคนวัยอื่น

            การให้คนวัยทำงานได้รับวัคซีนก่อนจะเป็นการสร้าง  "ภูมิคุ้มกันหมู่" (herd immunity) ในกลุ่มประชากรของประเทศได้ดีกว่าวิธีอื่น

            อินโดนีเซียมีประชากร 270 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงที่สุดในอาเซียน และประมาณกันว่า 80% ของผู้ติดเชื้อเป็นคนวัยทำงาน

            บูดี กูนาดี ซาดิคิน รัฐมนตรีสาธารณสุขของอินโดฯ บอกว่า ยุทธศาสตร์ให้คนทำงานได้วัคซีนก่อนไม่ใช่เพียงเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเดินต่อได้เท่านั้น

            แต่ยังช่วยปกป้องกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะติดเชื้อและนำไปแพร่ระบาดต่อด้วย

            คนกลุ่มวัยทำงานที่ว่านี้คือ คนที่ต้องพบปะกับผู้คนจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตำรวจ ทหาร  และพนักงานออฟฟิศด้วย

            ทางการอินโดฯ มองว่า วิธีการนี้จะเป็นการคุ้มครองคนสูงวัยไม่ให้ติดเชื้อได้ด้วย

            เพราะเมื่อคนทำงานไม่นำเชื้อจากข้างนอกเข้ามาในบ้าน ลุงป้าน้าอาที่บ้านก็จะมีความเสี่ยงติดโควิดน้อยลง

            เขาจึงมองว่าการให้วัคซีนคนวัย 18-59 ปี เท่ากับให้การคุ้มกันคนสูงวัยที่พักอาศัยด้วยกัน

            แต่หลายประเทศเช่นอังกฤษเลือกที่จะไม่ให้วัคซีนคนหนุ่มสาวก่อน เพราะว่าคนเหล่านี้แม้ติดเชื้อก็มักไม่มีอาการหนัก

            อีกทั้งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อได้แค่ไหน

            วิธีที่อินโดนีเซียเลือกต้องอาศัยวัคซีนจำนวนมาก และต้องฉีดวัคซีนให้ประชากรอย่างน้อย 50% จึงจะสามารถหยุดการเสียชีวิตหรือการต้องนำคนสูงอายุส่งโรงพยาบาลได้

            อีกเหตุผลหนึ่งที่อินโดฯ ตัดสินใจเลือกวิธีนี้ เป็นเพราะวัคซีนที่ใช้ยังไม่เคยนำไปทดสอบในหมู่คนสูงอายุ

            วัคซีนที่อินโดฯ ใช้คือ "โคโรนาแวกซ์" (CoronaVac)  ซึ่งผลิตโดยบริษัท "ซิโนแวกซ์" ของจีนเป็นหลัก

            อินโดฯ บอกว่ายี่ห้อนี้ได้ประสิทธิภาพอยู่ที่ 65.3%

            และบราซิลบอกว่ามีประสิทธิภาพเพียง 50.4% ในการทดลองทางคลินิก

            อีกคำถามหนึ่งสำหรับอินโดฯ คือ การฉีดวัคซีนมีประเด็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามหรือไม่

            ประธานาธิบโจโกวีบอกว่าต้องถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

            และสภาอิสลามแห่งชาติอินโดนีเซีย (Indonesian  Ulema Council - MPU) ก็ยืนยันว่าวัคซีนของซิโนแวกซ์ถูกต้องตามหลักฮาลาลของศาสนาอิสลาม

            ไทยเราควรจะเรียนรู้จากประสบการณ์ทั้งของอินโดฯ และสิงคโปร์ เพราะทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งพื้นที่ของประเทศและจำนวนประชากร

            สิงคโปร์มี 5 ล้านคน ส่วนอินโดฯ มี 260 ล้านคน

            สิงคโปร์เป็นเกาะหลักเกาะเดียว แต่อินโดฯ มีเกาะแก่งเป็นหมื่น

            ความท้าทายของสองประเทศนี้จะช่วยให้เราปรับแผนวัคซีนของเรา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้เช่นกัน

            เพราะต้องฉีดวัคซีนให้ได้เร็วกว่าที่เจ้าเชื้อไวรัสโคโรนาจะแพร่กระจาย!

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"