(บนเวทีอภิปราย)
เสวนาออนไลน์ระดมไอเดียเพื่อเตรียมรับมือการระรานทางออนไลน์ของเด็กไทย เป็นพลเมืองตื่นรู้ มีสุขภาวะทางปัญญา สสส.-สสดย.เผยเด็กมัธยมไทยกว่า 20% โดนบูลลี่ 35% ไประรานผู้อื่นต่อ 1 ใน 3 รู้สึกสะใจ-เท่ ผู้ตกเป็นเหยื่อจิตตก-เศร้า-อยากแก้แค้น-ร้ายแรงถึงขั้นคิดสั้น ครูหยุยรับข้อเสนอเชิงนโยบาย ‘Cyberbullying’ ต่อวุฒิสภา ชงรัฐสร้างระบบป้องกันเด็ก-กำกับดูแลสื่อออนไลน์ไม่เหมาะสม-หนุนงานสื่อสาร-เพิ่มวาระชาติด้านสื่อเพื่อเด็ก
(รศ.จุมพล รอดคำดี)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) จัดงานเสวนาออนไลน์ “การรับมือกับสถานการณ์การระรานทางออนไลน์ของเด็กไทย (Cyberbullying)” ที่โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดย รศ.จุมพล รอดคำดี ที่ปรึกษา สสดย. และผู้ทรงคุณวุฒิแผนระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอรูปแบบการเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือกับสถานการณ์การระรานทางออนไลน์ของเด็กไทย พร้อมขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายต่อวุฒิสภา นำไปสู่การสานพลังแนวร่วมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หารือร่วมสร้างนวัตกรรมหรือแนวทางปฏิบัติที่เห็นผล และเกิดประโยชน์สูงสุดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กไทย นำไปสู่การเป็นพลเมืองตื่นรู้ มีสุขภาวะทางปัญญา
“เด็กที่อยู่ในครอบครัวอบอุ่น แม้ว่าจะถูกบูลลี่ทุกรูปแบบจะหาทางออกได้ พ่อแม่ต้องเข้าใจด้วยการจัดทำเป็นคู่มือแนวปฏิบัติเรื่องการระราน พ่อแม่จะเลี้ยงลูกอย่างไรเพื่อสร้างความเข้มแข็งในจิตใจของลูก แก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ เมื่อเพื่อนถูกระรานจะช่วยเพื่อนด้วยวิธีการอย่างไร การเผยแพร่ด้วยการนำสื่อมวลชนมาพูดเพื่อให้สังคมตื่นตัว มีความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น ขยายวงพูดคุยไปถึงครู โรงเรียน ฯลฯ บางครั้งไม่เปิดใจพูดกันตรงๆ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เรื่องของสิทธิเด็กเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องได้รับการปกป้องดูแล”
วัฒนธรรมคนไทยไม่ชอบที่จะมีการฟ้องร้อง เพราะกลัวอับอาย กลัวการถูกตอบโต้ สังคมต้องช่วยกันทำให้เด็กกล้าพูดบอกเล่ากับคนใกล้ชิด เพื่อให้รับรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา เด็ก 42% เมื่อถูกบูลลี่แล้วไม่กล้าเปิดเผยหรือบอกใคร กลัวเรื่องจะบานปลาย กลายเป็นความทุกข์ที่ซึมซับ สร้างปัญหาในอนาคตด้วย ถ้าเราไม่สื่อสารกับคนอื่น เก็บไว้ในใจ เป็นการสะสมให้ตัวเองแย่ลงไปเรื่อยๆ UNICEF ใช้การสื่อสารให้เด็ก ทำให้คนรอบข้างตระหนักได้ดีขึ้น ถ้าไม่พูดหรือบอกเล่าจะสะสมกลายเป็นปัญหาต่อไปเรื่อยๆ
(วัลลภ ตังคณานุรักษ์)
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส กล่าวว่า การพัฒนาและขยายสื่อดีสำคัญต่อพัฒนาการเรียนรู้และสุขภาวะทางปัญญาของเด็ก คณะกรรมาธิการฯ ได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเกี่ยวกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ การรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งได้นำเสนอต่อวุฒิสภา และกำลังจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในไม่ช้านี้ ดังนั้นข้อเสนอเรื่องการรับมือกับการระรานทางออนไลน์ของเด็กไทยในวันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่คณะกรรมาธิการฯ จะให้ความสำคัญกับปัญหานี้เป็นการเฉพาะ เนื่องจากปัญหาเกิดขึ้นกว้างขวาง ทั้งยังมีผลกระทบในทุกระดับ จึงดำเนินการเพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา รับมือกับภัยจากการระรานทางออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอ 1.ขอให้คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ ให้ความสำคัญต่อปัญหาการระรานเด็กไทยเป็นการเฉพาะ 2.คณะกรรมาธิการฯ จัดเวทีสาธารณะระดมสมองเพื่อหาทางออก ได้ข้อเสนอในเชิงนโยบายต่อวุฒิสภา 3.รายงานระดมสมองเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ทั้งนี้ วุฒิสภาสร้างความสำคัญทำความเข้าใจรัฐบาล สังคม ข้อเสนอจากเวทีสาธารณะถือเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยง
“ผมเป็นสมาชิกรัฐสภาหลายสมัย ทำงานด้าน กม.เยาวชน กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้มีการใช้เงินจากกองทุน 1.กม.สื่อมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน มีแนวโน้มการเคลื่อนไหวเข้าสู่สภา 2.ที่ผ่านมามีงานกำกับการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ติดปัญหาโควิด แผนเดิมในเดือน ม.ค.เชิญสื่อมวลชน ภาครัฐ วิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย รัฐสภา ไทยพีบีเอส อสมท สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 รายงานต่อคณะกรรมาธิการฯ กำหนดเวลารายการให้เป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนตามสัดส่วนที่ กม.กำหนดไว้
ดังนั้นภายในเดือน ก.พ.จะดำเนินการให้ได้ด้วยการกำชับสื่อมวลชนของรัฐต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ เพื่อเป็นการพัฒนาเด็ก-เยาวชน 3.การศึกษาเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ กรรมาธิการฯ ผ่านเรื่องวุฒิสภา สื่อมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน การพนันออนไลน์ ขั้นตอนการหางาน เรื่องใดผ่านที่ประชุมวุฒิสภาถูกส่งไปยัง ครม.สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติได้มากหรือน้อยเพียงใด เป็นที่น่ายินดีในการรับข้อเสนอทั้งหมด พร้อมจัดให้มีเวทีสาธารณะเข้าสู่วาระที่ประชุมใหญ่วุฒิสภา เพื่อ ครม.จะได้ผลักดันเป็นรูปธรรมในอนาคต
(ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม)
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า การถูกระรานทางออนไลน์ถือเป็นมหันตภัยทางออนไลน์ที่กลับพบเห็นได้ทั่วไป ผู้เป็นเหยื่อมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตจนเกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตและสุขภาพตามมา สสส.ร่วมกับ สสดย.จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ครอบคลุมมิติต่างๆ ดังนี้ 1.ระบบการป้องกันปัญหา สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กก่อนอายุ 13 ปี 2.ระบบการช่วยเหลือและเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบ มีมาตรการทางกฎหมาย และแนวทางการทำงานที่จะสามารถช่วยเหลือเหยื่อได้ 3.พัฒนาองค์ความรู้และการสื่อสารในสังคม 4.หน่วยงานกลางที่มีความยืดหยุ่นเป็นศูนย์กลางในการดูแลเด็กและเยาวชนอย่างเป็นองค์รวม ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา พัฒนาทักษะการเป็นผู้ใช้และสร้างสรรค์สื่อที่มีความรอบรู้ เท่าทัน ควบคู่ไปกับการร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ
“สสส.เน้นการสร้างเสริมสุขภาพทางกาย จิต สังคม ปัญญา อยากให้คนมีสุขภาพดีทั้ง 4 มิติ งานวิจัยที่เกี่ยวกับการบูลลี่มีประโยชน์มาก ระบุว่าคนที่ได้รับผลกระทบอยู่ที่ไหน ผู้มีส่วนร่วมในการรับรู้ การคุกคามมีผลกระทบ ไม่ใช่การแก้ไขปัญหามืดมน อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ปรากฏว่าพรุ่งนี้ใครก็ไม่รู้อยู่รอบตัวเรา ถูกรุกรานแกล้งทางออนไลน์ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดูจะเป็นเรื่องหนักหนาเมื่อเด็กแกล้งกัน เราเห็นถึงลำดับขั้นผลกระทบสู่การจบชีวิต มีการฆ่าตัวตาย เราคงไม่คิดว่าการฆ่าตัวตายเพียง 1 คนเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่จบลงด้วยการฆ่าตัวตาย แต่เราจะต้องสร้างสุขภาวะ ทำอย่างไรไม่ให้เขาแกล้งกันได้”
การทำเรื่องยากๆ ในเชิงวิชาการ เจาะลึกแนวคิด วิธีการเพื่อให้ได้ข้อมูล เห็นถึงประเด็นในการขับเคลื่อน พัฒนาศักยภาพคนที่จัดการ นับตั้งแต่พ่อแม่ ครู ผู้ปกครอง จัดการสิ่งแวดล้อม ปัจจัยแวดล้อม กม. นโยบายภาครัฐ วางกรอบแนวกติกาสังคมให้เป็นสิ่งจำเป็น การเปลี่ยน Mindset ในการสื่อสาร หล่อหลอม NGO ขับเคลื่อนสังคมหลากหลายโมเดลด้วย งานวิชาการเป็นสิ่งที่ต้องติดตามผลด้วย เพราะไม่แน่ว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจ ปีหน้ามีข้อมูลการบูลลี่สูงขึ้นกว่าเดิมอีก เราต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดูเทรนด์มีประเด็นเฉพาะทางดรามาต้องขยี้เจาะประเด็นเพิ่มมากขึ้นอีก สิ่งที่เราเรียกร้องต่อสังคมทุกภาคส่วน สื่อมวลชนช่วยกันออกความเห็นด้วย
(ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก)
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก รองประธานคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน วุฒิสภา และนายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) กล่าวว่า จากการศึกษาเพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์การระรานทางออนไลน์ของเด็กไทย (กลุ่มตัวอย่างวัย 13-18 ปี สำรวจช่วงปิดเทอมกลางที่ผ่านมา) ปี 2563 เป็นนักเรียนชาย 1,239 คน (38.24%) นักเรียนหญิง 1,728 (53.33%) เพศทางเลือก 273 (8.43%) เป็นเด็กมัธยมต้น 57.23% มัธยมปลาย 42.03% ระดับ ปวช. ปวส. 0.74% พบว่า นักเรียนอาศัยอยู่กับบิดามารดา 2,119 คน (65.40%) อยู่กับบิดาหรือมารดา 729 (22.50%) อยู่กับญาติ 311 คน อยู่กับเพื่อน 49 คน อยู่ตามลำพัง 32 คน
เด็กระดับชั้นมัธยมศึกษาทุกภูมิภาค 3,240 คน ร้อยละ 21.6 เคยถูกระรานทางออนไลน์ในรอบปีที่ผ่านมา หรือเด็ก 1 ใน 5 เคยถูกระรานทางออนไลน์มาแล้วเห็นกันอย่างทั่วโลกในวงกว้าง โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.2 เด็กถูกระรานทางออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 18 ถูกระรานหลายครั้งต่อสัปดาห์ และร้อยละ 8.6 ถูกระรานทุกวัน เด็กมีความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก การระรานโดยช่องทางเฟซบุ๊กมากที่สุดถึงร้อยละ 53.35 เกมออนไลน์ ร้อยละ 13.12 อินสตาแกรม ร้อยละ 10.13 ทวิตเตอร์ ร้อยละ 9.99 แอปพลิเคชันไลน์ ร้อยละ 8.27 แอปพลิเคชันติ๊กต๊อก ร้อยละ 2.57 ยูทูบ ร้อยละ 1.43 และทางสื่อออนไลน์อื่นๆ ร้อยละ 1.14 ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถูกระราน ร้อยละ 44.79 รู้สึกวิตกกังวล ร้อยละ 37.38 รู้สึกเจ็บปวดและเศร้า ร้อยละ 23.11 อยากแก้แค้น ร้ายแรงสุด คือ ร้อยละ 17.26 อยากฆ่าตัวตาย
การระรานนั้นเป็นเพื่อนในห้องเดียวกัน 41.80% เป็นเพื่อนห้องอื่นใน รร.เดียวกัน 32.24% ไม่รู้ว่าเป็นใครที่ระราน 26.96% เป็นศัตรูคู่อริกันมาก่อน 25.68% คนรู้จัก 21.40% เหตุผลที่ถูกระรานมาจากรูปร่างหน้าตาตนเอง 46.50% บุคลิกตนเอง 37.80% เสื้อผ้าที่สวมใส่ 23.11% ความคิดเห็นทางการเมือง 19.26% ความเป็นเพศทางเลือก 18.97% รูปแบบการระรานเด็กไทยถูกระรานเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีการใช้ถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม 71.47% การเผยแพร่ข้อมูลให้อีกฝ่ายเป็นตัวตลก 36.36% การกีดกันให้ออกจากกลุ่ม 22.68% การบล็อกด้วยการทำข้อมูลเผยแพร่ออนไลน์ 17%
“เมื่อศึกษาถึงพฤติกรรมการระรานทางออนไลน์ผู้อื่น พบว่า มีเด็กร้อยละ 14.1 เคยระรานทางออนไลน์ผู้อื่น ซึ่งร้อยละ 76.0 ระรานทางออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 17.2 หลายครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 7.0 ระรานทุกวัน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.73 กล่าวว่ารู้สึกผิด ที่น่าตกใจคือ ร้อยละ 33.55 หรือ 1 ใน 3 รู้สึกสะใจ ร้อยละ 32.03 รู้สึกเท่ และชัดเจนว่า ร้อยละ 35.81 ของนักเรียนที่เคยถูกระรานมีพฤติกรรมไประรานผู้อื่น เมื่อถามนักเรียนว่ารับรู้ถึงการที่ผู้อื่นระรานทางออนไลน์หรือไม่ มีถึงร้อยละ 53.7 ตอบว่ารับรู้ และร้อยละ 67.3 หรือ 2 ใน 3 เคยเข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกระราน
ผลที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กถูกระราน 44.79% มีความวิตกกังวล 37.38% เด็กเจ็บปวดและเศร้า 23.11% อยากแก้แค้นคนที่ระราน มีสัญชาตญาณของการเอาคืน อีก 17.26% อยากฆ่าตัวตาย สังเกตได้ว่า 1 ใน 5 มีผลกระทบจะทำให้อยากฆ่าตัวตาย เด็กนักเรียนระดับ ม.5 ถูกระรานมากที่สุด ม.1 ทั้งเพศหญิงเพศชาย เป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กที่อยู่กับพ่อแม่ถูกระราน 23.46% เด็กอยู่กับญาติถูกระราน 27.33% เด็กที่อยากฆ่าตัวตายเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ขึ้นอยู่กับความเปราะบางทางจิตใจ เป็นหญิง 19.40% เป็นชาย 15.41% เพศทางเลือก 10.91% เด็กชั้น ม.4 คิดมากที่สุด รองลงมา ชั้น ม.3 ม.5
พฤติการณ์ผู้รับรู้ เมื่อเห็นว่าเพื่อนถูกกลั่นแกล้ง หรือเพื่อนแกล้งคนอื่น ส่วนใหญ่ตอบว่าเคยรับรู้และเห็นเหตุการณ์มาก่อนแล้ว ในรอบ 12 เดือน จำนวน 51% เคยรับรู้การระราน 1 ครั้ง/สัปดาห์ 31.06% รู้สึกวิตกว่าเหตุระรานจะเกิดขึ้นกับตัวเอง 56.77% รู้สึกแย่ไปกับการกระทำ 32.03% รู้สึกว่าถูกกระทำ เมื่อเจาะลึกลงไป 2 ใน 3 เข้าไปช่วยเหลือเด็ก จำนวน 8% เข้าไปช่วยเหลือโดยตลอด 67.3% เคยเข้าไปช่วยเหลือแต่ไม่ได้มาเป็นประจำ รูปแบบการให้ความช่วยเหลือเป็นการพูดคุยให้กำลังใจเพื่อให้เกิดความสบายใจ 66.84% เข้าไปตอบโต้ 32.06% บอกให้หยุดการกระทำ 28.07% บอกผู้ใหญ่ให้รับรู้ 23.75% ต้องการเห็นสิ่งที่ถูกต้องเพื่อพิทักษ์โลก 56.15% รู้สึกแย่ที่ถูกกระทำ 50.55% ต้องการช่วยคนเดือดร้อน 42.58% นักเรียน 1 ใน 3 ไม่รู้ว่าจะทำตัวอย่างไรเมื่อรับรู้ว่ามีการะรานเกิดขึ้น เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง เราไม่ได้มีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ 30.71% ไม่อยากยุ่งเรื่องคนอื่น 26.25% กลัวถูกระราน 22.141%
(ภาพหมู่วิทยากร)
ดังนั้น การทำให้บุคคลสามฝ่ายคือ ผู้ระราน ผู้ถูกระราน และผู้รับรู้การระราน ได้ตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละฝ่าย โดยผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ จะช่วยให้สามารถบรรเทาสถานการณ์ปัญหา และหาทางออกเพื่อให้ทุกฝ่ายในโลกออนไลน์อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น” ดร.ธีรารัตน์กล่าว.
อ.กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ หรือครูลิลลี่ ครูสอนภาษาไทยขวัญใจวัยรุ่น
30 ปีที่สอนหนังสือเด็ก งานวิจัยเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าในโลกนี้มีจริง สสส.เชิญถูกคน “ครูเป็นผลพวงจากการถูกกระทำ วันนี้ประสบความสำเร็จมาได้นั้นก็เป็นผลจากการถูกบูลลี่ สมัยก่อนนั้นไม่มีสื่อออนไลน์ เมื่อมีการด่ากันก็ด่ากลับ รุมด่ากัน สมัยนั้นเขาล้อกันบนเวที ครูโดนสองเด้ง เพราะเพศสภาพไม่ตรง และยังอ้วน ไม่สวยอีก อัปลักษณ์ เมื่อเพื่อนพูดโดนด่ากลับ จำได้ว่าด่ากลับจนผู้ชายร้องไห้ ขอให้จำไว้ว่าถ้าใครถูกบูลลี่ เราอย่าได้ยอม หาวิธีการโต้กลับ มนุษย์ทุกคนต่างมีสัญชาตญาณของการเอาตัวรอด เราต้องสู้คน ทุกวันนี้เด็กชอบที่จะเลือกเป็นเด็กเก่งมากกว่าการเป็นเด็กดี ครูจะต้องสอนว่าเด็กดีจะช่วยเหลือครอบครัว ประเทศชาติได้ ถ้าเด็กเก่งแล้วบางคนชอบที่จะเหยียด ดูถูกเด็กคนอื่นที่ด้อยกว่า เด็กเก่งสุขอยู่คนเดียว เกียรตินิยมคนเดียว เราต้องสอนให้เด็กคิดซึมซับอย่างมีเหตุผล จะเลือกสวรรค์หรือนรก”
พี่อ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล ที่ปรึกษาด้านความรักจากรายการคลับฟรายเดย์
สมัยเรียนหนังสือเป็นคนอ้วนมาก จึงตั้งใจไว้ว่าจะไม่กลับไปอ้วนอีกแล้ว เด็กที่อยู่ในครอบครัวอบอุ่นได้รับผลกระทบจากการถูกระรานน้อยกว่า เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันแข็งแกร่ง มีความนับถือตัวเอง แม้ตัวเองจะไม่สวย แต่ก็ไม่ได้แคร์อะไร เพราะไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน บางครอบครัวไม่ได้อยู่กันครบทั้งพ่อและแม่ เด็กต้องการได้รับการยอมรับจากสังคมด้วย ไม่มีใครอยากถูกเกลียด อยากให้ใครๆ กดไลค์ โดยส่วนตัวแล้วไม่ชอบทำรายการทีวี เพราะจะถูกค่อนขอดว่าไม่สวย เพื่อนกะเทยยังสวยกว่านี้อีก เราก็ตั้งคำถามว่าแล้วยังไง เพื่อนหนูได้ทำงานอย่างพี่ไหมล่ะ การที่คนเราถูกบูลลี่จากคนที่ไม่เคยได้รู้จักกัน เราต้องไม่ให้คุณค่ากับปากของเขา เรื่องอะไรเราจะต้องมาเจ็บปวดกับปากใครก็ไม่รู้ที่ทำร้ายความรู้สึกของเราได้ อย่ามัวรอในสิ่งที่ขาดจนพลาดในสิ่งที่หนูมี การที่หนูดูแลพ่อแม่ได้เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |