5 ก.พ.64 -นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์ ไวรัสโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 5 กุมภาพันธ์ 2564
ทะลุ 105 ล้านไปเรียบร้อยแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 554,229 คน รวมแล้วตอนนี้ 105,318,792 คน ตายเพิ่มอีก 16,750 คน ยอดตายรวม 2,290,317 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 123,344 คน รวม 27,235,589 คน ตายเพิ่มอีก 5,162 คน ยอดตายรวม 465,806 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 11,922 คน รวม 10,802,831 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 99,348 คน รวม 9,396,293 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 16,714 คน รวม 3,917,918 คน
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 20,634 คน รวม 3,892,459 คน เกินสองหมื่นคนขึ้นมาอีกครั้ง ยอดตายรวมขณะนี้ 110,250 คน
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลายหมื่นต่อวัน
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่องแบบทรงตัว
ล่าสุดทั้งเดนมาร์ก และไอร์แลนด์ ติดเชื้อเกินสองแสนคนไปแล้ว เปรียบเทียบกันพบว่าทั้งสองประเทศมีลักษณะโครงสร้างประชากรคล้ายกันมาก โดยมีอายุเฉลี่ยของประชากรราว 40 ปี มีจำนวนประชากรในประเทศประมาณ 5 ล้านคน ติดเชื้อรวมสองแสนคนพอๆ กัน ตอนนี้เดนมาร์กติดวันละ 500 กว่าคน ส่วนไอร์แลนด์วันละ 1,300 คนอัตราตายราว 1 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ
เมียนมาร์ เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลายร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง เวียดนาม และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
เวียดนามติดเชื้อเพิ่มหลายสิบคนต่อวัน ต่อเนื่องมา 8 วันแล้ว ระบาดครั้งนี้เริ่มจากจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศ โดยเป็นสายพันธุ์สหราชอาณาจักร ซึ่งแพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิมราว 50%
วิเคราะห์สถานการณ์ของเรา...
เราเห็นกันได้ชัดเจนว่า การระบาดซ้ำครั้งนี้รุนแรงกว่าของเดิมตามที่ได้เคยคาดการณ์และเตือนมาก่อน
เน้นเสมอว่าจะรับมือได้ ต้องมีระบบการตรวจที่มากเพียงพอและต้องทำอย่างครอบคลุมต่อเนื่อง นอกจากนี้หากเกิดติดเชื้อขึ้นจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเข้มข้นอย่างเคร่งครัดและทันเวลา และประชาชนต้องร่วมมือกันในการป้องกันตนเองอย่างเต็มที่และพร้อมเพรียง
จะพบว่าที่ผ่านมาแม้จะคุยว่าพร้อม แต่เอาเข้าจริง ระบบการตรวจนั้นไม่สามารถขยายศักยภาพให้ครอบคลุมและมากพอที่จะตรวจทุกคนในพื้นที่เสี่ยงได้ ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร และกฎระเบียบการเบิกจ่ายต่างๆ ซึ่งอาจไม่ได้มีการตระเตรียมกรุยทางไว้ล่วงหน้าเพื่อรับสถานการณ์เช่นนี้
เราจึงเห็นการออกมาบอกให้ทราบกันผ่านการแถลง โอดครวญว่าค่าใช้จ่ายเยอะ พร้อมจะหาทางอื่นจัดการแทนการตะลุยตรวจมากๆ ทั้งที่จริงแล้วค่าใช้จ่ายนั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการต้องนำงบไปเยียวยาคนทั้งประเทศในระยะยาวหากไม่สามารถจบศึกได้โดยเร็ว ดังนั้นการลงทุนตรวจจึงน่าจะเป็นทางที่คุ้มค่ากว่าถ้าคิดจะทำจริงๆ
ทางเลือกในการตรวจมีหลากหลายทาง การตรวจด้วยการรวมน้ำลายหลายคนเพื่อคัดกรองก็จะช่วยลดค่าใช้จ่าย และตรวจได้จำนวนมากในเวลาจำกัด การรับรองมาตรฐานการตรวจแล็บนี้ก็จำเป็นต้องทำควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่หากสถานการณ์ระบาดยังมีความรุนแรง การติดเชื้อกระจาย มีคนติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวและยังไม่ได้รับการตรวจ ก็ยากที่จะควบคุมได้ จะมี silent transmission ไปเรื่อยๆ และจะปะทุขึ้นมาในไม่ช้า
ยิ่งมาตรการควบคุมการเคลื่อนไหวของประชากรนั้นทำได้ไม่เต็มที่ ยังมีการทำกิจกรรมใช้ชีวิตประจำวันกันแทบทุกพื้นที่ และมีการละเมิด ละเลย เพิกเฉยของคนหลากหลาย ไม่ว่าจะไม่ป้องกันตัวเอง ลักลอบข้ามพื้นที่ สังสรรค์เฮฮาปาร์ตี้เป็นหมู่คณะ ก็ยิ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะระบาดหนักกลับมาได้เช่นกัน
ถ้าดูข้อมูลการระบาดซ้ำของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แล้วมาวิเคราะห์ล่วงหน้า
ปัจจัยกำหนดชะตาการระบาดของเรา จะไปตัดสินช่วงกลางมีนาคมเป็นต้นไป หากระบบการตรวจครอบคลุมและต่อเนื่องไม่เบี่ยงเบน แล้วจำนวนการติดเชื้อรายวันเป็นหลักสิบ จะมีโอกาสเริ่มการระบาดซ้ำระลอกถัดไปราว 10 สัปดาห์ แต่หากเป็นหลักร้อย หรือหลักพัน ระยะเวลาจะสั้นลง 21 วันหากขยับขึ้นมาแต่ละหลัก
ที่แลกเปลี่ยนมานี้ มิใช่ให้กังวลใจ แต่ให้เรารับรู้รับทราบ จะได้วางแผนเตรียมรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ
รู้เค้า รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง
หากไม่รู้เค้า รู้แต่เรา คงชนะบ้างแพ้บ้าง
แต่หากไม่รู้เค้า แถมไม่รู้เรา โดยเก็บความรู้เราไว้เฉพาะบางคนบางกลุ่ม โอกาสพ่ายการศึกย่อมมีสูง
ศึกนี้จำเป็นต้องทำให้ทุกคนรู้ และร่วมแรงร่วมใจสู้
นอกจากนี้อยากแลกเปลี่ยนกับพวกเราทุกคนว่า การระบาดแบบนี้ แนวทางที่จะสู้สำเร็จนั้น ส่วนตัวแล้วให้น้ำหนักไปกับการตรวจให้มาก ต่อเนื่องและครอบคลุม เพื่อหาคนติดเชื้อให้เจอแล้วนำไปกักตัวและดูแลรักษาครับ
หากไม่ตรวจ หรือตรวจน้อย แล้วคิดจะไปทำมาตรการอื่น เช่น จะไปปิดประตูตีแมว
คงต้องเตรียมรับมือกับสัจธรรมในชีวิตที่ว่า ไม่ว่าใครก็ล้วนรักชีวิตของตน หากต้อนหรือบังคับให้อยู่ในภาวะที่ไม่ปลอดภัยหรือมีความเสี่ยง ก็ย่อมไม่อยู่นิ่งเฉย และต้องพยายามอย่างที่สุดที่จะออกไปจากภาวะนั้นให้ได้
เหนืออื่นใด จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่อง สิทธิมนุษยชน (Human Right) อันหมายถึง สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและการกระทำที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ โดยได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
ท้ายที่สุด ปัจจุบันเชื่อว่าสังคมโลกนั้นล้วนรักและเมตตาต่อแมว คงไม่สบายใจ และไม่ยอมหากใครคิดจะไปทำร้ายแมว...
ย้ำอีกครั้ง ไม่ว่าเราจะอยู่ในพื้นที่ใด ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร
ลดละเลี่ยงการกินดื่มในร้าน ซื้อกลับจะปลอดภัยที่สุด
ลดละเลี่ยงการพบปะกันแบบกลุ่ม ไม่ว่าจะประชุม สังสรรค์ หรือท่องเที่ยว
คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย อาการคล้ายหวัด ควรหยุดเรียนหยุดงานและรีบไปตรวจรักษา
ด้วยรักต่อทุกคน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |