ศบค.พบผู้ป่วยรายใหม่ 795 ราย "คลัสเตอร์โต๊ะแชร์มหาสารคาม" ลามพบติดโควิด-19 แล้ว 21 ราย มี "แพทย์อาวุโส" วัย 66 ปี เปิดคลินิกตรวจผู้ป่วยติดเชื้อด้วย รอลุ้นผลตรวจอีก 1,672 ราย ประกาศ "อ.เมืองฯ-กันทรวิชัย" เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด "ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร" อาการดีขึ้นเรื่อยๆ คาด 1-2 วันเตรียมหยุดให้ยาปฏิชีวนะ
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 3 ก.พ. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 795 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 783 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 24 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 759 ราย ในจำนวนนี้เป็นการค้นหาเชิงรุก จาก จ.สมุทรสาครทั้งหมด โดยเป็นแรงงานเมียนมา 662 ราย, ลาว 2 ราย, กัมพูชา 3 ราย และไทย 92 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 21,249 ราย หายป่วยสะสม 14,001 ราย อยู่ระหว่างรักษา 7,169 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 79 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า หากดูเฉพาะการติดเชื้อระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63-3 ก.พ.64 จะเห็นว่ามีผู้ติดเชื้อใน จ.สมุทรสาคร จำนวน 12,746 ราย หรือ 78.23%, กทม. จำนวน 799 ราย หรือ 4.90% และจังหวัดอื่นๆ 2,749 ราย หรือ 16.87% ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 104,391,187 ราย เสียชีวิตสะสม 2,262,733 ราย
"วันนี้มี 2 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มคือ จ.ตาก และมหาสารคาม โดยที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ทาง จ.ตาก ได้ขอคุมพื้นที่เฉพาะเจาะจงลงไป อาจใช้มาตรการที่เข้มขึ้น โดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รับพิจารณาเพื่อจะมีการปรับโทนของการดูแลให้เข้มขึ้น นอกจากนี้ ถ้าดูแผนที่ประเทศไทยขณะนี้มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 1-2 วัน จำนวน 7 จังหวัด มีจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 3-4 วัน จำนวน 7 จังหวัด มีจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 5-6 วัน จำนวน 3 จังหวัด มีจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในช่วง 7 วันที่ผ่านมา จำนวน 46 จังหวัด และมีจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกใหม่ จำนวน 14 จังหวัด จึงขอจังหวัดที่สถานการณ์ดีดูแลสุขลักษณะส่วนตัว จะได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ได้ยาวนานที่สุด และหวังว่าจากมาตรการผ่อนคลายที่มีมาจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจังหวัดอื่นๆ รวมถึง กทม.และสมุทรสาครลดลง" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
โฆษก ศบค.กล่าวว่า กองระบาดวิทยาได้สรุปรายงานการติดเชื้อในยานพาหนะต่างๆ โดยจากตัวเลขพบผู้ติดเชื้อจำนวนน้อย ซึ่งอาจจะติดเชื้อจากจุดอื่น ไม่ได้ติดภายในยานพาหนะสาธารณะ อาจเป็นเพราะการป้องกันของผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ แต่ยังไม่ได้เป็นข้อสรุปอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงแค่รายงานข้อมูลเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการสรุปผลการดำเนินการแข่งขันแบดมินตันนานาชาติในประเทศไทย ในรูปแบบสถานที่กักกันเฉพาะองค์กร (OQ) ที่ควบคุมการเดินทางของผู้ร่วมแข่งขันและมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ระหว่าง 4-31 ม.ค. ภาพรวมเป็นไปด้วยดี มีการพบผู้ติดเชื้อเพียง 4 ราย และพบผู้ที่มีประวัติติดเชื้อมาก่อนแต่หายแล้ว 6 ราย กรณีนี้ประเทศได้รับคำชื่นชมจนมีชื่อเสียงในด้านนี้ เป็นเพราะการทำงานอย่างหนักของหลายหน่วยงาน หวังว่าหลังจากนี้จะได้มีกีฬาดีๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย
คลัสเตอร์มหาสารคามลาม
ถามถึงการสอบสวนโรคที่ จ.มหาสารคาม โฆษก ศบค.กล่าวว่าว่า เรื่องดังกล่าวปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ติดตามผ่านการประชุมทางไกลผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เพื่อให้รายงานเรื่องนี้โดยเฉพาะพบว่าคลัสเตอร์ของ จ.มหาสารคาม ขณะนี้รวมตัวเลขอยู่ที่ 21 ราย เป็นคนที่อยู่ในมหาสารคาม จำนวน 17 ราย, ราชบุรี 3 ราย และขอนแก่น 1 ราย และตอนนี้ได้มีการติดตามกลุ่มเสี่ยงสูงและกลุ่มเสี่ยง เพื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกจำนวนทั้งหมด 4,149 ราย ปรากฏผลออกมาแล้ว จำนวน 2,477 ราย ไม่พบเชื้อแต่อย่างใด รอผลอยู่อีก 1,672 ราย
"จ.มหาสารคามได้ประกาศ อ.เมืองฯ อ.กันทรวิชัย ให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด พร้อมกับปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ จำนวน 17 แห่ง นี่คือการทำงานทั้งหมดของพื้นที่ ดังนั้นขณะนี้หากใครพบว่าตัวเองมีความเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ จ.มหาสารคาม แล้วมีอาการผิดปกติ ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว รวมทั้งมีรายงานล่าสุดว่ามีแพทย์ท่านหนึ่งที่รับตรวจคนไข้ในกรณีนี้มีการติดเชื้อด้วย 1 ราย" โฆษก ศบค.กล่าว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุม ศบค.มีการพูดคุยกันว่าจะสื่อสารกับประชาชนว่าในเวลานี้ยังวางใจไม่ได้ เบาใจได้บ้างสำหรับคนที่อยู่ต่างจังหวัด แต่สถานการณ์ขณะนี้พื้นที่ที่มีสีแดงเข้มอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร และ กทม. ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ใจกลางของแผนที่ประเทศไทย สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังจังหวัดอื่นได้หลากหลายมาก ดังนั้นขณะนี้เมื่อเวลาผ่านไปเราต้องค้นหาผู้ป่วยให้ได้โดยเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม การค้นหาผู้ติดเชื้อจะต้องใช้งบประมาณ และสรรพกำลังของบุคลากรทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก จึงต้องวางยุทธศาสตร์ในการให้เกิดการสมดุลระหว่างการสูญเสียด้านเศรษฐกิจ การลงเม็ดเงินงบประมาณเข้าไปเพื่อตรวจรายละ 2,000 บาทโดยประมาณ ถ้าตรวจหมื่นรายจะใช้วันละ 20 ล้านบาท ไม่ใช่จำนวนเงินที่น้อย
"ต้องขอความร่วมมือประชาชนที่ จ.สมุทรสาคร และ กทม.ต้องพยายามดูแลตัวเองให้ดีที่สุด และขณะเดียวกันคนที่อยู่ต่างจังหวัด เรามีตัวอย่างที่ จ.มหาสารคาม ทำให้เราเห็นภาพว่าโรคไปได้ทุกที่ สรุปว่าคนทั้ง 77 จังหวัดยังการ์ดตกไม่ได้ ยังต้องเข้มกันอยู่ทุกคน เพราะถ้าเผลอเมื่อไหร่ไวรัสตัวนี้จะเข้าไปในทางเดินหายใจของเราได้ตลอดเวลา เราจึงต้องเรียนรู้ร่วมกันว่าตอนนี้งานเลี้ยงที่มีสุราร่วมด้วย และยังมีงานรื่นเริงต่างๆ ล้วนแต่เป็นความเสี่ยงทั้งสิ้น ทั้งโต๊ะแชร์ งานเลี้ยงวันเกิด ซึ่งในส่วนของกฎหมายที่จะบังคับใช้นั้นจะทำให้เราสามารถเรียนรู้ไปด้วยกัน แต่ไม่ใช่การยากที่จะนำกฎหมายไปบังคับเพื่อให้ใครต้องไปติดคุกติดตะราง แต่การบังคับใช้กฎหมายนั้นเพื่อที่จะให้เราทุกคนอยู่ในกฎเกณฑ์เดียวกัน ใช้ชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เคารพกฎหมายซึ่งกันและกัน เราทำเพื่อให้คนอื่นปลอดภัย ไม่ได้ทำให้เพื่อเกรงกลัวกฎหมาย ศบค.อยากขอความร่วมมือมากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย เพราะเราต้องยืนระยะตรงนี้ไปอีกนานระยะหนึ่ง" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ขณะที่ นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีแพทย์ติดโควิด-19 จากกลุ่มก้อนจากการกินโต๊ะแชร์ในจังหวัดมหาสารคามว่า ผู้ป่วยติดเชื้อรายนี้เป็นแพทย์อาวุโสอายุ 66 ปีที่เปิดคลินิก ได้ตรวจผู้ป่วยโควิด-19 รายที่สองเมื่อวันที่ 25 ม.ค.64 พอได้ข่าวก็ไปตรวจเมื่อวันที่ 29 ม.ค.64 แต่ไม่พบเชื้อก็กักตัวที่บ้าน วันที่ 1 ก.พ.64 มีอาการทางเดินหายใจก็ไปตรวจอีกครั้ง ผลตรวจพบเชื้อ ซึ่งได้แจ้งให้คนไข้ที่ไปใช้บริการช่วงวันที่ 25-29 ม.ค.64 ไปตรวจหาเชื้อ แต่ตามหลักฐานทางวิชาการเมื่อตรวจไม่พบเชื้อก็ไม่น่าจะแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น
"ทางจังหวัดมหาสารคามได้เพิ่มการเฝ้าระวังด้วยการตรวจผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เช่น โรคปอดอักเสบ, โรคคล้ายหวัด ผู้ขายอาหารสดในตลาด โดยยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการยืนยันว่ามีการเตรียมความพร้อมที่จะรับสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี" รรท.ผอ.กองควบคุมโรคฯ ระบุ
ผู้ว่าฯ สมุทรสาครอาการดีขึ้น
มีรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขมหาสารคาม ออกประกาศตอนหนึ่งระบุว่า ใครที่อยู่อาศัยในเขตอำเภอเมืองฯ ให้รับการประเมินความเสี่ยงที่ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านส่องนางใยภายในวันนี้ (3 ก.พ.) ส่วนผู้อยู่นอกเขตอำเภอเมืองฯ ให้รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ที่สถานบริการสาธารณสุข เพื่อรับการประเมินคัดกรองความเสี่ยง และขอให้ปฏิบัติตัวด้วยการกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน สังเกตอาการตนเอง
ด้าน พญ.พรรณวิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ภาวะสุขภาพจิตของประชาชนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดความตื่นตระหนกเนื่องจากมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสูงกว่าระลอกแรก โดยผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สีแดงจะกลัวติดเชื้อ ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สีส้มและสีเหลืองจะกลัวว่าควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ดังนั้นนอกเหนือจากการดูแลตัวเองในเรื่องสุขภาพตามหลักชีวอนามัยแล้ว ยังต้องหมั่นดูแลสุขภาพจิตของตัวเองให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยดี โดยมีผลศึกษาในต่างประเทศระบุว่าระดับความเครียดในช่วงวิกฤติโควิด-19 เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติถึง 7 เท่าตัว
วันเดียวกัน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ว่าหากไม่มีไข้หรือการติดเชื้ออื่นๆ เพิ่มเติม ก็จะมีการลดยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะ คาดว่าในอีก 1-2 วันก็จะหยุดให้ยากลุ่มยาลดการอักเสบในปอดกับยาลดการสร้างพังผืดในปอด และมีการเริ่มถอยยาในกลุ่มที่ทำให้ผู้ว่าฯ มีอาการหลับ คือยาคล้ายกล้ามเนื้อ และการกระตุ้นสมองให้ตอบสนอง จากการที่ให้ภรรยาเข้ามาเยี่ยมหรือได้บอกเล่าสถานการณ์ในจังหวัดสมุทรสาครก็พบว่าผู้ว่าฯมีชีพจรที่เร็วขึ้น ถือเป็นการตอบสนอง รู้ตัว หรือการสื่อสารที่ดี
"เมื่อทุกอย่างบ่งชี้ไปในทิศทางการควบคุมการติดเชื้อได้ และการหายใจที่มีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในปอดทำได้ดีขึ้น ซึ่งสามารถลดออกซิเจนลงไปได้อีก ระดับของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดอยู่ในระดับที่ดี ทำให้ระบบทางเดินหายใจดีขึ้น สำหรับการเอกซเรย์ปอดครั้งสุดท้ายก็พบว่าดีขึ้นกว่าเดิมเยอะ และอีก 1 สัปดาห์จะต้องมีการทำเอกซเรย์อีกหนึ่งครั้ง เพื่อเปรียบเทียบซึ่งจะมีส่วนในการลดยาแก้อักเสบการสร้างพังผืดที่ปอดด้วย ผลการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ทั้งตับไตก็อยู่ในระดับปกติ รวมไปถึงระบบขับถ่าย ในขั้นตอนต่อไปคือการเริ่มปรับโหมดของเครื่องช่วยหายใจ ที่จะให้ผู้ว่าฯ มีการกระตุ้นการหายใจเอง และมีการเริ่มทำกายภาพบำบัด เพื่อให้มีกำลังแขนขาที่ดีขึ้น เนื่องจากกล้ามเนื้อไม่ได้ทำงานมาเกือบเดือนกว่า" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชระบุ
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. ปฏิเสธข่าววัคซีนโควิดจะมาถึงในวันที่ 14 ก.พ. โดยระบุว่าคาดว่าวัคซีนจะมาตามกรอบภายในเดือน ก.พ. ขณะนี้ติดปัญหาเรื่องของทางอียูอยู่ระหว่างการเจรจา
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คาดว่าวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาและซิโนแวคจะถึงไทยตามกรอบในเดือน ก.พ.แน่นอน โดยในส่วนแอสตราเซเนกา 50,000 โดส เป็นเรื่องของทางการอียูจำกัดการส่งออก ส่วนวัคซีนจากซิโนแวค จะมอบให้ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติดำเนินการเจรจา หลังจากยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในจีน โดยอาจนำข้อกฎหมายเข้ามาศึกษา เพื่อขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉิน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |