'เมียนมา' ไม่ใช่ 'ไทย'


เพิ่มเพื่อน    

     วันนี้เคาะสนิมวิชาภูมิศาสตร์กันซะหน่อย

            "พม่า" ไม่ใช่ "เมียนมา" นะครับ

            พม่า หรือ บะหม่า คือชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่สุด

            ส่วน เมียนมา คือชื่อประเทศ ที่เปลี่ยนจากพม่าในภายหลัง

            เมื่อพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในวันที่ ๔  มกราคม ๒๔๙๑ พม่ายังใช้ชื่อประเทศตามอังกฤษว่า The  Union of Burma

            จนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๓๒ รัฐบาลทหารพม่าประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น The Union of Myanmar ด้วยเหตุผลว่าเป็นการออกเสียงที่ถูกต้อง

            รัฐบาลทหารให้เหตุผลว่า คำว่า "เมียนมา" มีความหมายครอบคลุมทุกชนเผ่าที่อยู่ในดินแดน

            ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารระบุว่า การกระทำเช่นนี้ คือความพยายามกลืนชนทุกเผ่าพันธุ์ให้กลายเป็นพม่า

            อีกทั้งความสำเร็จของขบวนการต่อสู้กอบกู้เอกราช ก็เกิดจากความร่วมมือของชนเผ่าต่างๆ ไม่ใช่ชาวพม่าแต่ฝ่ายเดียว

            เมียนมา มีประชากรประมาณ ๕๔ ล้านคน มีหลายเชื้อชาติ

            เชื้อชาติหลักๆ คือ พม่า ไทใหญ่ มอญ ยะไข่ กะเหรี่ยง กะฉิ่น และชิน

            ที่ใกล้ชิดกับไทยมากที่สุดคือ ไทใหญ่ อาศัยในรัฐฉาน 

            ชาวเมียนมาในท่าขี้เหล็ก เชียงตุง ล่าเสี้ยว ตองยี จำนวนมากจึงฟังและพูดภาษาไทยได้อย่างชัดเจน

            การปกครองและปัญหาภายในของเมียนมา ต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิง

            ฉะนั้นเราจะเอาบริบทของไทยไปสรุปเหตุการณ์ในเมียนมาไม่ได้อย่างเด็ดขาด

            โดยเฉพาะการรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้ ความรู้สึกของชาวเมียนมาโดยรวม ต่างจากที่คนไทยรู้สึกต่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ อย่างสิ้นเชิง

            คนไทยแบ่งเป็น ๒ ขั้ว เอากับไม่เอารัฐประหาร แต่เหตุผลอาจหลากหลาย

            ไม่เอารัฐประหารเพราะถูกชิงอำนาจ

            ไม่เอาเพราะขัดหลักประชาธิปไตย

            เอาเพราะทนรัฐบาลโกงไม่ไหว

            เอาเพราะเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม

            ฯลฯ

            แต่ที่เมียนมาต่างออกไป เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์พม่า 

            โชคดีแค่ไหนแล้วที่ไทยไม่มีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์

            แต่เราก็โชคร้าย ประชาชนถูกแบ่งแยกเป็นขั้วโดยนักการเมือง

            ปี ๒๕๕๘ รัฐบาลเมียนมา โดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ลงนามหยุดยิงกับกองกำลังชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย ๘ กลุ่ม 

            ประกอบด้วย สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) สภาสันติภาพกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA)  องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ (PNLO) แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF) กองกำลังแนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) พรรคปลดปล่อยอาระกัน  (ALP) กองกำลัง DKBA และสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉานใต้ (RCSS/SSA-S)

            สร้างความยินดีไปทั้งประเทศ

            ถัดไปเดือนกว่าปีเดียวกันนี้เอง อองซาน ซูจี นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ชนะการเลือกตั้ง และประกาศอย่างเปิดเผยว่า จะอยู่ "เหนือประธานาธิบดี"

            แต่แล้วเหมือนโลกกลับด้าน

            ปี ๒๕๖๑ ชาวโรฮีนจาในเมียนมา ประกาศให้โลกได้รับรู้ว่ากำลังถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยทางการเมียนมา

            โลกตั้งคำถามกับ อองซาน ซูจี แต่เธอไม่ยอมเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮีนจา

            และแสดงท่าทีไม่ยอมรับสถานะชาวโรฮีนจาในฐานะประชากรส่วนหนึ่งของเมียนมา

            นับแต่วันนั้นชาติพันธุ์อื่นเริ่มไม่ไว้ใจ อองซาน ซูจี แม้การเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา พรรคเอ็นแอลดี จะชนะครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาได้อีกครั้งก็ตาม

            ขณะที่กองทัพเมียนมาเชื่อว่ามีการโกงเลือกตั้ง และนำไปสู่การรัฐประหาร

            ยุครัฐบาลอองซาน ซูจี ดูเหมือนเมียนมาจะสงบ แต่ความจริงนอกจากมีปัญหา การขับไล่และฆ่าชาวโรฮีนจาแล้ว หลายพื้นที่ยังคงมีการสู้รบกันอยู่

            โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐกะฉิ่น และรัฐฉาน ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือ

            ในรัฐกะฉิ่น มีประชาชนมากกว่า 1 แสนคน ต้องไร้ที่อยู่

            ขณะที่รัฐฉานขบวนการกู้ชาติก็ยังคงเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ

            ฉะนั้นภาพที่ออกมาว่า มีชนกลุ่มน้อยในเมียนมาไม่ให้ความสนใจที่ อองซาน ซูจี ถูกรัฐประหารจึงเป็นเรื่องจริง

            วานนี้ (๓ กุมภาพันธ์) การประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่ประกอบด้วยสมาชิกถาวรอื่นๆ เช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และสหรัฐฯ ไม่สามารถออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการรัฐประหารในเมียนมา ไปในทิศทางเดียวกันได้

            เพราะจีนและรัสเซีย คัดค้าน

            นั่นคือภาพรวมของเมียนมาหลังการรัฐประหาร สะท้อนไปถึงโลกที่แบ่งเป็น ๒ ขั้ว

            เบื้องลึกเบื้องหลังล้วนมาจากผลประโยชน์ทั้งสิ้น  ชาติตะวันตก อเมริกา-ยุโรป และจีน-รัสเซีย ล้วนต้องการเข้าไปมีบทบาทในเมียนมา

            แล้วประเทศไทยทำอะไรได้บ้าง

            ๓ กีบบอกว่าต้องประณามเผด็จการทหารเมียนมาเท่านั้น

            ขณะที่ชาติอาเซียนทั้งหมดยึดตามกฎบัตรอาเซียน  ไม่แทรกแซงกิจการภายใน

            ถ้าเล่นบทพระเอกตาม ๓ กีบ ด้วยการประณามกองทัพเมียนมา นอกจากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรในเมียนมาได้แล้ว ผลสะท้อนกลับอาจมีมากกว่า ๓ กีบคิด

            โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดกับคนไทยตามแนวชายแดนนับล้านคน

            วันนี้ขอจบด้วยคำให้สัมภาษณ์ของ "ชัยธวัช ตุลาธน"  เลขาธิการพรรคก้าวไกล ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ม.๑๑๒  และสถาบันพระมหากษัตริย์

                "ข้อกล่าวหาของนายณฐพรต่อพรรคก้าวไกลล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่เราเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของระบอบรัฐประหาร

                 คำร้องยุบพรรคของนายณฐพรดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่ต้องการบดขยี้พรรคอนาคตใหม่ สืบเนื่องมาถึงพรรคก้าวไกล โดยใช้สถาบันพระมหากษัตริย์และกลไกองค์กรอิสระในระบอบประยุทธ์เป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง

                ก็เพราะอนาคตใหม่และก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการสถาปนาระบอบอำนาจนิยมสมบูรณาญาสิทธิ์ในปัจจุบัน พรรคก้าวไกลจะต่อสู้อย่างถึงที่สุด เพื่อปกป้องเสียงและเจตจำนงที่พวกเราได้รับมาจากประชาชน เพื่อผลักดันสังคมไทยให้มีอนาคต หลุดพ้นจากหลุมดำทางการเมืองของชนชั้นสูง กองทัพ และนายทุนผูกขาด"

            ครับ....อุตส่าห์ปฏิเสธไม่ได้ล้มล้าง

            แต่สุดท้ายยอมรับขวางการสถาปนาระบอบอำนาจนิยมสมบูรณาญาสิทธิ์ ที่ไม่มีอยู่จริง

            ไม่มีหรอกครับ การสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

            จะมีก็แค่ข้ออ้างนำไปสู่การล้มเจ้า.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"