ดึงจังหวะแก้รธน.-หลังม็อบฝ่อ ศาลรธน.เสี่ยงตกเป็นเป้า


เพิ่มเพื่อน    

      การเมืองสัปดาห์หน้ามีเรื่องน่าสนใจ ในจังหวะคั่นกลางก่อนถึงสัปดาห์ถัดไปที่เป็นสัปดาห์แห่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจและลงมติ ซึ่งจะอยู่ในช่วง 16-20 ก.พ. นั่นก็คือการประชุมร่วมรัฐสภาระหว่าง ส.ส.และ ส.ว.ในวันอังคารที่ 9 ก.พ.นี้ ที่จะมีการพิจารณาญัตติด่วนเรื่อง "ขอเสนอญัตติให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ที่เสนอโดยแกนนำคือ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ กับสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา อันเป็นวาระที่ค้างมาจากการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา และล่าสุดวิปวุฒิสภามีผลการประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.พ. เห็นชอบให้นำวาระดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องแรกในการประชุมร่วมรัฐสภา 9 ก.พ.นี้ แต่ก็ต้องรอดูการประชุมวิปสามฝ่ายคือ รัฐบาล-ฝ่ายค้านและวุฒิสภา ในวันที่ 8 ก.พ.นี้ด้วยว่าวิปสามฝ่ายจะเอาด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่

                ญัตติดังกล่าวอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ญัตติที่มีการล่าชื่อ ส.ส.รัฐบาล คือพลังประชารัฐและ ส.ว.รวม 73 คน ที่ร่วมกันลงชื่อเพื่อขอให้ประธานรัฐสภาส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่าง รธน.ฉบับใหม่ เป็นสิ่งที่ทำได้ตาม รธน.ฉบับปัจจุบันหรือไม่ เพราะกลุ่มผู้ร้องมองว่าเรื่องดังกล่าวอาจขัด รธน. ด้วยการอ้างเหตุว่า "รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติมาตราใดให้อำนาจรัฐสภาเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแก้ไข" กลุ่มผู้ร้องจึงขอให้ศาล รธน.วินิจฉัยว่าการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้ตั้งสภาร่าง รธน.ดังกล่าวของรัฐสภาที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ เป็นการทำที่ขัดหรือแย้งต่อ รธน.ฉบับปัจจุบันหรือไม่

                ทั้งนี้ ญัตติมีการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อในช่วงก่อนที่รัฐสภาจะโหวตเห็นชอบร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 วาระแรก ช่วงที่ม็อบสามนิ้วกำลังร้อนแรงเมื่อ พ.ย.2563 แต่ตอนนั้นเนื่องจากกระแสม็อบแรง ทำให้สุดท้าย ส.ส.พลังประชารัฐและ ส.ว.ที่ร่วมกันลงชื่อเลยติดเบรกไม่ผลักดันเรื่องนี้เต็มที่ เพราะเกรงจะยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์บานปลาย แต่มาช่วงนี้ที่รัฐสภากำลังเตรียมจะนัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่ออภิปรายและโหวตในวาระ 2 วันที่ 24-25 ก.พ อันเป็นการโหวตว่าจะเห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไข รธน.ฉบับคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาหรือไม่ หรือจะโหวตเห็นชอบด้วยกับ กมธ.เสียงข้างน้อยที่เห็นต่างจากร่างของ กมธ.ในประเด็นต่างๆ เช่น ที่มาของสมาชิกสภาร่าง รธน. ที่ กมธ.เสียงข้างมากเห็นชอบให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด 200 คน เป็นต้น

            แต่ก่อนจะถึงการลงมติวาระ 2 ดังกล่าว กลับมีแนวโน้มที่ ส.ส.พลังประชารัฐอาจลงมติเอาด้วยกับการส่งคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัย หลัง วิรัช รัตนเศรษฐ แกนนำพลังประชารัฐ ที่สวมหมวกทั้งประธานวิปรัฐบาล-ประธาน กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ของรัฐสภา กลับหงายไพ่ออกมาบอกว่า พรรคพลังประชารัฐสนับสนุนญัตติการส่งคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัย โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมาย หลังความเห็นเรื่องนี้ยังแตกต่างกันอยู่

            ยิ่งล่าสุดมีข่าวว่า มีความเห็นเพิ่มเติมจากฝ่ายคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีสถานะเป็นที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายบริหาร ส่งหนังสือถึงอดีตคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฯ ยุคพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน ว่าการแก้ไข รธน.ควรทำเป็นรายมาตรา แต่หากจะยกร่างทั้งฉบับควรจะทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน เลยเข้าทางทั้งพลังประชารัฐและกลุ่ม ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.มาตั้งแต่แรก เลยเห็นว่าเพื่อเคลียร์เรื่องนี้ให้ชัดเจน ก็ควรที่จะมีการโหวตส่งคำร้องให้ศาล รธน.ชี้ขาดไปเลยวันที่ 9 ก.พ.นี้ โดยอาจหวังว่าศาล รธน.อาจพิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนและมีคำวินิจฉัยออกมาโดยเร็ว จนทำให้การลงมติของสมาชิกรัฐสภาในการโหวตแก้ไข รธน.วาระสองช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะโหวตอย่างไร หรือจะ "งดออกเสียง" เพื่อเซฟตัวเองเอาไว้ก่อน กรณีที่หากถึงวันโหวตวาระสอง 24-25 ก.พ. ศาล รธน.ยังไม่มีคำวินิจฉัยใดๆ ออกมา

                ฝ่ายพลังประชารัฐมีข่าวว่า ดูจะมั่นใจว่าเรื่องนี้แม้พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย” อาจไม่เอาด้วยที่จะให้ส่งศาล รธน. เพราะเกรงถูกมองว่า “รัฐบาลเล่นเกมยื้อแก้ รธน.” แต่หาก ส.ว.ที่มีร่วม 200 คน เอาด้วยสักประมาณ 2 ใน 3 จะทำให้เสียงโหวต ส.ว.จะมาแทนเสียง ส.ส.รัฐบาลที่หายไปได้ จนน่าจะทำให้เสียงเห็นชอบส่งให้ศาล รธน.เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ได้

                จังหวะเดินของพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลและกลุ่ม ส.ว.ที่ไม่เอาด้วยกับการแก้ไข รธน. ในเรื่องนี้ส่วนหนึ่งคงมองแล้วว่า “ม็อบสามนิ้ว” หมดพลังในการเคลื่อนไหวกดดันเรื่องการแก้ไข รธน.แล้ว และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นการเคลื่อนไหวของม็อบ เพราะระยะหลังไปเน้นเรื่องยกเลิกมาตรา 112 เป็นหลัก

                ความเคลื่อนไหวต่อจากนี้ต้องรอดูว่า ผลการประชุมรัฐสภาวันที่ 9 ก.พ.นี้ เสียงส่วนใหญ่จะเห็นชอบให้ส่งคำร้องไปยังศาล รธน.หรือไม่ และหากส่งไปแล้ว ศาล รธน.จะว่าอย่างไร จะติดเบรกการแก้ไข รธน.จนทุกอย่างที่รัฐสภาทำไว้ก่อนหน้านี้สะดุดลงหมด หรือศาล รธน.จะเปิดไฟเขียวให้แก้ 256 เพื่อตั้งสภาร่าง รธน.ได้โดยไม่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน ที่แน่ๆ ความพยายามส่งเรื่องให้ศาล รธน.ดังกล่าว ยังไงก็หนีไม่พ้นที่จะโดนวิจารณ์ว่าฝ่ายรัฐบาลและสภาสูงกำลัง "ยื้อแก้ไขรธน." ในช่วงม็อบสามนิ้วแผ่ว

                ที่น่าสนใจ แวดวงสภาสูงเริ่มห่วงกันแล้วว่า การขยับต่อจากนี้ สุดท้ายอาจเป็นการไปดึง "ศาลรัฐธรรมนูญ" เข้ามาอยู่ในจังหวะตัดสินแพ้-ชนะในการแก้ไข รธน.เข้าให้แล้ว.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"