วัคซีนโควิด-19 กลายเป็นประเด็นการเมือง การทูต และเศรษฐกิจไปอย่างน่าเป็นห่วง
เมื่อการได้มาซึ่งวัคซีนกลายเป็นเรื่องต้องยื้อแย่งกัน เพราะทุกประเทศต่างก็ต้องการให้ได้มาเพื่อประชาชนของตนเองก่อน ตัวกำหนดจึงกลายเป็น "เงิน"
การแจกจ่ายวัคซีนไม่ได้เป็นไปตาม "ความจำเป็น" หรือ "ความต้องการ" ของประเทศที่ย่ำแย่ที่สุด
หากแต่เป็นไปตามกลไกทางธุรกิจ
ใครรวยกว่าก็ได้เร็วกว่าและมากกว่า ใครจนกว่าก็ต้องรอนานกว่า
การระบาดของโควิดตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในระดับสากลและในแต่ละประเทศอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่พยายามจะทำหน้าที่เป็นกลไกกลางเพื่อลดช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยกับยากจนก็ยังทำอะไรมากไม่ได้
ผู้นำจีนประกาศว่าจะให้วัคซีนที่จีนผลิตได้เป็น "สินค้าสาธารณะของโลก" (global public goods) แต่ก็ทำได้อย่างจำกัด
อินเดียแจกจ่ายวัคซีนที่ตนผลิตร่วมกับ AstraZeneca ไปยังประเทศเพื่อนบ้านบ้าง แต่ก็ไม่อาจจะทำได้กว้างขวางมากนัก
กลายเป็น Vaccine politics (การเมืองวัคซีน)
และ Vaccine diplomacy (การทูตวัคซีน)
รวมไปถึง Vaccine economy (เศรษฐกิจวัคซีน)
ที่ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงผลประโยชน์ซ่อนเร้นของแต่ละประเทศที่ต้องการใช้เรื่องวัคซีนเป็นอำนาจต่อรองของตน
มากกว่าที่จะเป็นความร่วมมือระดับโลกเพื่อเอาชนะโควิด-19 ให้ได้
กรณีของสหภาพยุโรปกับ AstraZeneca เป็นตัวอย่างของการต่อสู้ในระดับต่างๆ ว่าด้วยธุรกิจ การเมือง และการต่อรองเพื่อประโยชน์แห่งตนได้เป็นอย่างดี
ประเทศในสหภาพยุโรปถูกประชาชนของตนเองต่อว่าต่อขานว่าจัดหาวัคซีนล่าช้าเกินเหตุ
สำหรับบางประเทศรัฐบาลถูกแรงเสียดทานจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์จนอยู่ไม่ได้
เป็นที่มาของข้อพิพาทระหว่างอียูกับแอสตราเซเนกาบริษัทผู้ผลิตวัคซีน
ถึงขั้นที่อียูต้องประกาศจำกัดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตจากประเทศสมาชิกอียูไปยังประเทศอื่น
โดยอียูอ้างเหตุผลว่า "จะดำเนินการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อปกป้องพลเมืองของตน"
ผลกระทบชิ่งมาถึงไทยทันที
เพราะไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เดิมกำหนดจะได้รับวัคซีนที่ผลิตในอิตาลี หนึ่งในสมาชิกอียู
พอเขาทะเลาะกัน เราก็ได้รับผลข้างเคียงไปทันที
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย บอกนักข่าวว่าได้ลงนามขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา รุ่นการผลิตในประเทศอิตาลี เป็นระยะเวลา 1 ปี
บริษัทได้ส่งเอกสารเกือบ 10,000 หน้ามาขอขึ้นทะเบียนในไทย
เดิมมีกำหนดว่าวัคซีนชุดนี้จะส่งถึงไทยในเดือนกุมภานี้ 50,000 โดส
และจะทยอยส่งที่เหลืออีก 150,000 โดส ภายในเดือนมีนาคมและเมษายน
โครงการวัคซีนของอียูพยายามจะหลีกเลี่ยงการแก่งแย่งกันในสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ
คณะกรรมาธิการยุโรปใช้วิธีนี้ก็เพื่อให้ทุกชาติสมาชิกสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน
เพราะไม่ต้องการให้ความไม่เท่าเทียมในกำลังซื้อของแต่ละชาติมีผลต่อการเข้าถึงวัคซีน
อีกทั้งเมื่อรวมตัวกันซื้อปริมาณมากก็จะทำให้มีอำนาจต่อรองราคากับผู้ผลิตได้
นอกจากโครงการร่วมกันซื้อกับเจ้านี้แล้ว บางประเทศก็สามารถแยกทำความตกลงกับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นได้เช่นกัน
เช่นฮังการีก็ยังไปตกลงซื้อวัคซีน Sputnik-V ของรัสเซีย 2 ล้านโดส เป็นตัวอย่าง
ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนไทยจะต้องเกาะติดข่าวสารเพื่อทำความเข้าใจ จะได้ตระหนักถึงความสลับซับซ้อนของปัญหาและแสวงหาทางออก
เพื่อจะได้หาคำตอบต่อคำถามที่ว่า
เราจะสร้างอำนาจต่อรองได้อย่างไร
เราจะต้องลดการพึ่งพาต่างชาติในวิกฤติเช่นนี้อย่างไร
เราจะสร้างภูมิคุ้มกันทั้งด้านวิจัย พัฒนา และเศรษฐกิจของเราอย่างไร
ล้วนเป็นหัวข้อที่ต้องร่วมกันแสวงหาคำตอบอย่างสร้างสรรค์ เปิดเผย และโปร่งใสของคนไทยทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |