รมว.พม.รับลูกนายกฯ ชง กก.ผู้สูงอายุฯ ประชุมด่วนเพื่อแก้ไขระเบียบการจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุ เผยต้องพิสูจน์ใครได้มาโดยสุจริตหรือไม่ ส่วนกรมส่งเสริมฯ ไม่ต้องเรียกคืน-ศาลชะลอการฟ้องไปก่อน "ทนายสงกรานต์" จี้กระทรวงยุติธรรมตั้ง กก.สอบเจ้าหน้าที่หว่านล้อมข่มขู่ให้คืนเงิน บางรายถูกหลอกให้เซ็นชื่อ "หญิงหน่อย" แนะยกเลิกระเบียบ มท. ขัดแย้ง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุที่ไม่ตัดสิทธิรับประโยชน์ตามกฎหมายอื่น
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และให้ชะลอเรียกคืนและการฟ้องร้องการรับเบี้ยผู้สูงอายุซ้ำซ้อนสวัสดิการอื่น นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า พม.เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ประมาณวันศุกร์ที่ 5 ก.พ. หรือวันจันทร์ที่ 8 ก.พ. เพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฯ ซึ่งกฎหมายเปิดให้ทำได้
"ส่วนรายละเอียดว่าจะเสนอแนวทางอะไรนั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่หลักการคือ ดูอะไรควรไม่ควร การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม และแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้แก้ปัญหานี้แล้วเกิดปัญหาใหม่ เช่น คนที่อาจได้รับบำนาญพิเศษอื่น แต่ไม่ได้รับสิทธิทับซ้อนมาทวงเงินย้อนหลังบ้าง อยากบอกผู้สูงอายุประมาณ 1.5 หมื่นคนที่เคยถูกเรียกเงินคืน ตอนนี้ไม่ต้องทำอะไร นั่งเฉยๆ ส่วนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังไม่ต้องเรียกเงินคืน และศาลก็ชะลอการฟ้องร้องไปก่อน รอให้เราแก้ระเบียบให้เสร็จ” นายจุติกล่าว
เมื่อถามว่าแนวทางหลังแก้ระเบียบเสร็จจะเป็นอย่างไร รมว.พม.กล่าวว่า จะมีการพิสูจน์เพื่อแยกว่าใครที่ทำโดยสุจริตและทำโดยไม่สุจริตในการรับทราบคุณสมบัติข้อนี้มาก่อนหรือไม่ เพื่อดำเนินการต่อไป
ที่อาคารกระทรวงยุติธรรมแห่งใหม่ ถนนแจ้งวัฒนะ ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม รับเรื่องจากนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อขอให้กระทรวงยุติธรรมช่วยเหลือผู้สูงอายุและทายาทที่ถูกฟ้องร้องเรียกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน
โดยนายสงกานต์กล่าวว่า เงินช่วยเหลือทายาทผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่และเงินเบี้ยเลี้ยงยังชีพผู้สูงอายุเป็นคนละส่วนกัน จึงไม่เห็นด้วยที่จะเรียกคืน และทุกวันนี้มีผู้สูงอายุถูกหว่านล้อมและข่มขู่ หากไม่คืนเงินดังกล่าวจะต้องติดคุก บางรายถูกหลอกให้เซ็นชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ ที่กำหนดให้ชำระเงินคืนพร้อมอัตราดอกเบี้ย ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาจ่ายคืน จึงอยากให้กระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบวินัยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่ปี 58 เพราะมีความบกพร่องมากถึง 15,000 ราย
ด้านว่าที่ร้อยตรีธนกฤตเปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรมยินดีให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยขอให้นำเอกสารติดต่อมาที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดในพื้นที่ของผู้เสียหาย เพื่อรวบรวมและประมวลข้อเท็จจริงในแต่ละราย พิจารณาร่วมกับหนังสือสัญญาและระเบียบการยื่นขอเงินเบี้ยผู้สูงอายุ เนื่องจากแต่ละกรณีมีพฤติการณ์ไม่เหมือนกัน ส่วนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ข่มขู่ให้ชำระเงินคืน ก็สามารถแจ้งข้อมูลมาที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดได้ กระทรวงจะให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเข้าไปช่วยเหลือดูแลเรื่องคุ้มครองพยานและปรึกษาข้อกฎหมาย ทั้งนี้ คดีนี้เป็นคดีแพ่ง ไม่มีโทษจำคุก หากผู้สูงอายุท่านใดเดินทางมาสำนักงานยุติธรรมจังหวัดไม่สะดวกหรืออยู่ไกล สามารถสอบถามเบอร์ โทร.1111 ต่อ 77 โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ไปให้คำปรึกษา
ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาคืนเบี้ยแก่ย้อนหลัง สรุปว่า ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 11 (11) บัญญัติให้ผู้สูงอายุ ได้แก่ บุคคลผู้มีสัญชาติไทยที่มีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปมีสิทธิได้รับ “การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม” ซึ่งการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าวมาตรา 12 ของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่า “ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้รับตามกฎหมายอื่น”
กระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 ข้อ 6 (4) ว่าจะต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากรัฐ เช่น ผู้รับบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ได้สร้างปัญหาให้กับผู้สูงอายุจำนวนมากที่จะถูกเรียกเงินคืน เพราะเป็นผู้ได้รับบำนาญ เช่น กรณีคุณยายที่ลูกชายเสียชีวิตจากคลังแสงระเบิด เป็นต้น
เนื่องจากระเบียบของกระทรวงมหาดไทยมิได้มีฐานะเป็นกฎหมาย จึงไม่อาจขัดหรือแย้งกับมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติผู้สูงอายุที่ไม่ตัดสิทธิผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิตามกฎหมายอื่น ดังนั้นผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพไปแล้วจึงไม่ต้องคืนเงินให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่ากรณีใด
ทางออกของเรื่องนี้ทำได้สองทางคือ (1) กระทรวงมหาดไทยยกเลิกระเบียบข้อ 6 (4) ที่ขัดกับกฎหมาย หรือออกคำสั่งแจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ต้องดำเนินคดีกับผู้สูงอายุ หรือ (2) อาศัยระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีแพ่งของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 25 การแจ้งฐานะคดีและการไม่รับว่าต่างที่ให้อำนาจพนักงานอัยการเสนอความเห็นไปยังตัวความคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าไม่ควรรับดำเนินคดี.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |