จี้นายกหยุดกทม.ยึดหอศิลป์ 'ไกรศักดิ์'ลั่นขรก.บริหารเจ๊ง


เพิ่มเพื่อน    

 

    เครือข่ายศิลปินฯ ระดมพลบุกทำเนียบฯ 9 โมงเช้า จี้นายกฯ หยุดผู้ว่าฯ กทม.ยึดหอศิลป์ โต้ไม่ใช่องค์กรค้ากำไรจะขาดทุนได้อย่างไร ยันสร้างชื่อเสียงระดับโลก "ไกรศักดิ์" ลั่นหอศิลป์ต้องเอกเทศจากระบบราชการให้ กทม.บริหารเจ๊งแน่ "อัศวิน" อ้างต้องการพัฒนาพื้นที่ให้ได้ใช้ประโยชน์สูงสุด แต่หาก ปชช.ไม่เห็นด้วย กทม.ก็ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว 

    กรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมนำหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันบริหารโดยมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครกลับมาบริหารเอง ทำให้เครือข่ายศิลปินลุกขึ้นมาคัดค้าน โดยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม นายวสันต์ สิทธิเขต ศิลปินชื่อดัง รางวัลศิลปาธร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Vasan Sitthiket" ระบุว่า เวลา 9 โมงเช้าวันที่ 15 พ.ค. เครือข่ายศิลปินฯ นัดเจอกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ฝั่ง กพ.เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้หยุดผู้ว่าฯ กทม.ยึดหอศิลป์  

    ขณะที่เครือข่ายศิลปินแห่งประเทศไทยได้แชร์ข้อความดังกล่าว และนัดหมายกันไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบฯ ให้ยับยั้งแนวคิด กทม.ฮุบหอศิลป์ และให้ กทม.ยึดถือปฏิญญาที่ให้ไว้ต่อพันธมิตรศิลปะและประชาชนเมื่อปี 2548 ณ สวนเบญจสิริ เครือข่ายศิลปินฯ จึงได้เชิญชวนพี่น้องศิลปิน และเครือข่ายประชาชนรักหอศิลป์ เพื่อนหอศิลป์ และสื่อมวลชนไปสำแดงพลัง

    ด้านนายจุมพล อภิสุข ตัวแทนเครือข่ายศิลปินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ศิลปินทุกคนในเครือข่ายต่างตกใจว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ขณะที่ข้อมูลอันได้มีการนำเสนอในการประชุมสภา กทม.เมื่อวันพุธที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ไม่ทราบว่าคณะผู้บริหารนำข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน ในประเด็นเรื่องงบประมาณที่บอกว่าหอศิลป์ขาดทุนเฉลี่ยปีละ 40 ล้านบาท รวมถึงการกล่าวอ้างว่ามีเก้าอี้สำหรับอำนวยความสะดวกประชาชนไม่เพียงพอ ในส่วนแรกต้องเข้าใจก่อนว่าหอศิลป์ไม่ได้เป็นองค์กรค้ากำไร  แล้วจะขาดทุนได้อย่างไร รวมทั้งงบประมาณที่นำเสนอโดยไม่มีการคำนวณรวมกับเงินที่มูลนิธิฯ บริหารจัดการ และได้จากผู้สนับสนุนหลัก แล้วจะกล่าวอ้างว่าหอศิลป์บริหารจัดการอย่างขาดทุนได้อย่างไร

    ตัวแทนศิลปินระบุว่า นับแต่มีการเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา หอศิลป์สร้างชื่อให้ กทม.มากกว่าเงินอุดหนุนที่ กทม.จ่ายมาให้เสียอีก ในแง่ของชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่สำหรับแสดงความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ยังเคยจัดการประชุมศิลปินระดับนานาชาติ รวมทั้งนิทรรศการของศิลปินทั่วโลกมาแล้วอย่างมากมาย ซึ่งก็ไม่ทราบว่า กทม.มองเห็นมุมเหล่านี้หรือไม่ ทั้งนี้ เครือข่ายฯ เตรียมจะยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เพื่อขอให้ยับยั้ง กทม.เดินหน้ากระบวนการดังกล่าว ในเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล

    "ดูบทเรียนที่ผ่านมาเป็นตัวอย่าง อาทิ พิพิธภัณฑ์เด็กใกล้กับตลาดนัดสวนจตุจักร ซึ่งแต่เดิมมีการบริหารจัดการโดยมูลนิธิฯ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง ก่อนเปลี่ยนเป็นการจ้างเอกชนเข้ามาบริหารจัดการ สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างในช่วงแรก หรือหากมองง่ายๆ เพียงแค่ห้องส้วมสาธารณะในพื้นที่ กทม.เขาจ้างเอกชนมาบริหารจัดการ สุดท้ายแค่หลับตาทุกคนคงพอนึกสภาพได้ว่าจะออกมาอย่างไร" นายจุมพลกล่าว

    นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตประธานกรรมการบริหารมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  ให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่คิดว่า กทม.จะมีความสามารถในการบริหารหอศิลป์ได้ สาเหตุที่หอศิลป์เติบโตมาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะบริหารงานเป็นเอกเทศจากระบบราชการ หากการบริหารหอศิลป์ถูกแทรกแซง  เช่นผู้มีอำนาจสั่งว่าเสาร์-อาทิตย์นี้ต้องให้คนนั้นคนนี้มาแสดงนะ อย่างนี้เจ๊งแน่ เช่นเดียวกันทุกวันนี้หอศิลป์ กทม.เติบโตจนได้มาตรฐานดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค มีศิลปะและการแสดงหลากหลายที่สุดแห่งหนึ่ง

    "การจะเอาไปให้ผู้อำนวยการด้านวัฒนธรรมของ กทม.บริหารก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะเขาเติบโตมากับระบบราชการ เขาไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม และมีความสามารถพอหรือไม่ที่จะทำให้ประชาชนสนใจและเข้ามาใช้บริการทั้ง 365 วัน การที่ผู้ว่าฯ กทม.ให้สัมภาษณ์ว่าหอศิลป์ขาดแคลนเก้าอี้จนต้องปล่อยให้นั่งกับพื้นนั้น จริงๆ แล้วต้องเข้าใจว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของหอศิลป์ใช้ในการจัดแสดงภาพและนิทรรศการต่างๆ ซึ่งประชาชนต่างเดินชม แต่หากผู้ว่าฯ ต้องการที่จะเอาเก้าอี้มาบริจาคก็ไม่มีปัญหา เพียงแค่ออกแบบเก้าอี้ดีๆ สำหรับการชมภาพ"

    ผู้สื่อข่าวถามว่า ระยะหลังหอศิลป์ถูกมองว่าเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวและแสดงออกของกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ อาจทำให้ผู้มีอำนาจในประเทศไม่สบายใจ นายไกรศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องสิทธิของมนุษยชาติและสังคมร่วมสมัยที่ต้องการแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่ใช้ความรุนแรงและสนทนากันด้วยเหตุผล โดยพื้นที่ของหอศิลป์เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด เพราะประเทศอยู่ภายใต้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ และสังคมร่วมสมัยต้องเปิดกว้าง จึงอยากให้ผู้บริหารประเทศมาเดินดูงานที่หอศิลป์ หรือมาฟังสิ่งที่เขาพูดกันบ้าง  เพราะจะได้ประโยชน์แก่ตัวท่านเอง ซึ่งสามารถเอาไปใช้เป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาของประเทศ รวมทั้งปัญหาของ กทม.

    นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะดูแลรับผิดชอบสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กล่าวว่า ผู้บริหาร กทม.จะประชุมพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการบริหารหอศิลป์ ในที่ประชุมผู้บริหาร กทม. ครั้งที่ 12/2561 วันที่ 15 พ.ค. โดยสำนักวัฒนธรรมฯ จะรายงานรายละเอียดเพิ่มเติมในที่ประชุม สำหรับแนวคิดการนำหอศิลป์กลับมาบริหารเองนั้นได้พูดคุยกันหลายครั้ง เนื่องจาก กทม.ต้องอุดหนุนงบประมาณปีละ 40 ล้านบาทเกือบทุกปี จนสภา กทม.ไม่เห็นชอบให้ กทม.อุดหนุนงบประมาณเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากมองว่างบประมาณดังกล่าวมูลนิธิหอศิลป์น่าจะนำไปทำกิจกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ทำให้หอศิลป์ได้รับการอุดหนุนงบประมาณในส่วนของรายจ่ายอื่นเท่านั้น  อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น     

    "ประกอบกับการที่ถูกสภา กทม.ตั้งข้อสังเกตว่าการลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เมื่อปี 2554  เพื่อมอบสิทธิ์ให้มูลนิธิหอศิลป์เป็นผู้บริหารจัดการเป็นเวลา 10 ปี โดยจะสิ้นสุดในปี 2564 ขณะที่  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เล็งเห็นความยากลำบากของบรรดาเหล่านักเรียนและนักศึกษาที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่หอศิลป์ ตามที่ให้ข่าวไปแล้วก่อนหน้านี้คือ พื้นที่เรียนรู้ที่หอศิลป์จำเป็นต้องจัดหา แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีการนำงบประมาณไปใช้ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร"

    ส่วนกระแสข่าวการนำหอศิลป์กลับมาบริหารเอง เพื่อเลี่ยงการจัดกิจกรรมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น นายทวีศักดิ์ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะหากย้อนกลับไปดูวัตถุประสงค์การจัดตั้งหอศิลป์แล้ว เพื่อเป็นพื้นที่ส่งเสริมความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมหลากหลายแขนงแก่ประชาชน รวมถึงเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาใช้สอยดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อ กทม.นำหอศิลป์กลับมาบริหารเองแล้วจะบริหารจัดการอย่างไรบ้างนั้น กทม.โดยสำนักวัฒนธรรมฯ จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่ง กทม.อยากให้มีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น ส่วนพื้นที่ด้านศิลปะหรือการจัดกิจกรรมอื่นใดยังคงเป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิม ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวินมีแนวคิดเพียงอยากปรับปรุงให้ดีขึ้น 

    ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.โพสต์เฟซบุ๊ก "แฟนเพจผู้ว่าฯ อัศวิน" ระบุว่า "Ars longa, vita brevis" ประโยคดังกล่าวได้รับการแปลอย่างลึกซึ้งโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีใจความว่า "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" แสดงถึงความสำคัญของศิลปะ ตนก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องการสนับสนุนให้ประชาชนมีพื้นที่สาธารณะ ปราศจากการแทรกแซงเพื่อสร้างสรรค์งานศิลป์ ไม่ว่าจะใช้เพื่อการแสดงออก เพื่อศึกษาหรือร่วมแบ่งปันงานศิลป์ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในจุดสำคัญของประเทศที่ใช้ในการทำกิจกรรมเหล่านี้

    จากที่มีกระแสข่าวในทำนองว่า กทม.จะนำพื้นที่ในหอศิลป์ทั้งหมดไปทำอย่างอื่น หรือกระทั่งนำไปทำห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงแคมเปญคัดค้านการที่ กทม.จะเข้ามาบริหารจัดการหอศิลป์ด้วยตนเองนั้น  กทม.ไม่เคยคิดและไม่มีทางที่จะทำลายสถานที่แสดงศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศเรา เพียงแต่เราต้องการพัฒนาสถานที่แห่งนี้ให้ได้ใช้ประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนของหอศิลป์ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ เราต้องการนำพื้นที่เหล่านั้นมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ หนึ่งในแนวทางที่อยากจะปรับปรุงคือ การนำพื้นที่เหล่านั้นมาปรับให้เป็นสถานที่ที่ทุกคนได้เข้ามาใช้ สร้างสรรค์งานศิลป์ ทำงาน พบปะ และ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือที่เรียกกันว่า co-working space ในส่วนนิทรรศการก็ยังจะต้องใช้เพื่อแสดงงานศิลปะและวัฒนธรรมอย่างเดิม

    "แต่การที่ กทม.จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้น อาจติดด้วยระเบียบและกฎหมายการมอบกิจการให้มูลนิธิ กทม.จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่เหล่านั้น เพื่อให้ทุกคนมีพื้นที่ที่ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และดึงดูดให้ประชาชนสนใจงานศิลป์มากขึ้น สำหรับแนวทางการพัฒนานั้นอาจมีการดึงผู้ที่เกี่ยวข้องและมีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนา ผมเชื่อมั่นว่าศิลปะเป็นเรื่องของอิสระทางความคิดและจินตนาการ ศิลปะเป็นสิ่งจรรโลงใจหาใช่เพื่อวัตถุประสงค์ใด และสถานที่แสดงศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแห่งนี้จะต้องยังคงอยู่เพื่อประชาชนทุกคน"
    พล.ต.อ.อัศวินระบุด้วยว่า "สุดท้ายนี้ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย กทม.ก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพัฒนาในพื้นดังกล่าวครับ".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"