เหตุใดไทยถึงเลือกวัคซีนของแอสตร้าฯ


เพิ่มเพื่อน    

     คนไทยในตอนนี้กำลังตั้งตารอที่จะใช้วัคซีนโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ในหลายประเทศเริ่มมีการฉีดให้กับประชาชนอย่างจริงจังแล้ว สำหรับประเทศไทยวัคซีนหลักที่เราเตรียมที่จะนำเข้ามาคือมาจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ที่ร่วมกับพันธมิตรในหลายประเทศ ก่อตั้งเครือข่ายความร่วมมือระดับโลกขึ้นเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนกว่า 3 พันล้านโดส ให้มีความปลอดภัยได้สำเร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

            สำหรับประเทศไทย แอสตร้าเซนเนก้าได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข เอสซีจี และสยามไบโอไซเอนซ์ บนหลักการของการต่อยอดการให้ความสำคัญต่อผู้ผลิตระดับประเทศที่มีศักยภาพและความสามารถในการเป็นผู้ผลิตวัคซีนระดับโลก โดยพันธมิตรผู้ผลิตวัคซีนทุกรายของแอสตร้าเซนเนก้าจะต้องได้รับการรับรองตามหลักเกณฑ์การผลิตที่ดีและเป็นปัจจุบัน (CGMP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการผลิตและการควบคุมคุณภาพของยา รวมถึงการรับรองระบบคุณภาพและได้รับใบอนุญาตการผลิตในภูมิภาคที่ผู้ผลิตนั้นดำเนินการอยู่

            ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้าได้เริ่มดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนกับให้สยามไบโอไซเอนซ์ตั้งแต่ ต.ค.2563 และสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยจะดำเนินการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนในทุกจุดของกระบวนการผลิต รวมถึงการนำวัคซีนที่ได้จากการทดลองผลิตส่งไปยังห้องปฏิบัติการหรือแล็บในเครือข่ายของแอสตร้าเซนเนก้าที่มีเทคโนโลยีและระเบียบวิธีในการตรวจวิเคราะห์วัคซีนได้ตามมาตรฐาน

            คำถามต่อมาคือ ทำไมแอสตร้าเซเนก้าถึงเลือกสยามไบโอไซเอนซ์ แล้วทำไมประเทศไทยถึงไม่ให้องค์การเภสัชกรรมเข้ามาผลิตวัคซีนแทน เรื่องนี้มีคำอธิบาย เนื่องจากโรงงานองค์การเภสัชกรรมเป็นโรงงานที่ผลิตวัคซีนจากเชื้อตาย คือวัคซีนแบบโลกเก่า เพราะต้องมีการเพาะเลี้ยงเชื้อก่อน 3-4 เดือน ซึ่งวัคซีนแบบนี้ที่องค์การเภสัชกรรมทำเหมือนกับวัคซีนของซิโนแวค เทคโนโลยีนี้มันช้า และมีความเสี่ยงสูง ในขณะที่วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนโลกใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีแบบ non replicating DNA คือ ต้องเป็นเครื่องมือที่เจาะลงไประดับยีน ซึ่งปัจจุบันสยามไบโอไซเอนซ์ผลิตยามะเร็งและยาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่คุ้นเคยเทคโนโลยีแบบนี้อยู่แล้ว

            สำหรับประเทศไทย วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ข้อตกลงการจัดซื้อของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยมีกรมควบคุมโรคเป็นผู้วางกลยุทธ์และดำเนินงานด้านการกระจายวัคซีนในประเทศ ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทมุ่งมั่นที่จะส่งมอบวัคซีนโดย "ไม่หวังผลกำไร" ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะผ่านกลไกใดก็ตาม

            ทั้งนี้ วัคซีนที่ผลิตโดยแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีข้อตกลงว่า ต้องขายในราคาต่อโดสไม่เกิน 5 ดอลลาร์สหรัฐ (120 บาท) ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับรายอื่นๆ ขณะที่วัคซีนจากโมเดอร์นา ราคาต่อโดสราว 33 ดอลลาร์สหรัฐ (990 บาทต่อโดส) และวัคซีนจากไฟเซอร์ ราคาต่อโดสคือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ (600 บาทต่อโดส) โดยมีข้อตกลงว่าถ้าหมดภาวะการแพร่ระบาดแล้วแอสตร้าเซนเนก้าสามารถปรับราคาได้ตามกลไกตลาด

            นอกจากนี้เมื่อเทียบกับต้นทุนอื่นแล้ว แอสตร้าเซนเนก้าถูกสุด อย่างไฟเซอร์ ต้องลงทุนด้านการขนส่ง ทำเครื่องเก็บอุณหภูมิใหม่ในราคาอีก 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ (350,000 บาท) อีกทั้งวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นามีอายุที่สั้น ต่างจากแอสตร้าเซนเนก้าที่เก็บได้นานถึง 180 วัน สามารถขนส่งและจัดเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิของตู้แช่เย็นปกติที่มีใช้อยู่เดิมในระบบสาธารณสุข จึงสะดวกต่อการใช้งาน

            ในส่วนประสิทธิผลและความปลอดภัยนั้น จากผลการทดลองในเบื้องต้นโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบว่า วัคซีน AZD1222 มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 รวมถึงสามารถช่วยป้องกันการอาการติดเชื้อขั้นรุนแรงหรือต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งดีกว่าถ้าเทียบกับเทคโนโลยีของไฟเซอร์และโมเดอร์นา ตรงที่ผลของการสร้างภูมิคุ้มกันไม่สวิง นอกจากนี้ยังดีกว่าไฟเซอร์ เนื่องจากไฟเซอร์ใช้เวลาในการทดลองแค่ 2 เดือน และใช้คนทดลองน้อยกว่า จึงได้วัคซีนที่เร็วกว่าเพื่อน นั่นจึงทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนในประเทศนอร์เวย์เกิดผลข้างเคียง ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 29 คน ในขณะที่ของเจ้าอื่นใช้เวลาทดสอบมากกว่า 3 เดือน และคนที่เข้าร่วมทดลองมีมากกว่า แต่ทางแพทย์ก็ประเมินแล้วว่าการทำวัคซีนมีความเสี่ยง โดยปกติเขาทดลองวิจัยวัคซีนกัน 10 ปี ดังนั้นการเลือกผลที่ยาวกว่า ค่อนข้างมั่นใจมากกว่า

            อย่างไรก็ตาม วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิผลโดยรวมในการป้องกันโควิด-19 ที่ระดับ 70.4% ภายหลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 โดส เป็นเวลานานมากกว่า 14 วัน โดยวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการติดเชื้อขั้นรุนแรงหรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้หลังจากการฉีดโดสแรกเป็นเวลานานกว่า 21 วัน

            สำหรับกระแสที่ถามว่าเหตุใดทำไมถึงไม่ประมูล การประมูลใช้กับของชิ้นเดียวกันที่มีคุณสมบัติเหมือนกัน แต่เลือกว่าจะให้ใครทำ ด้านวัคซีน หน้าที่แพทย์และเภสัชคือการเลือกบริษัทที่ดีที่สุด คือ แอสตร้าเซนเนก้า ทั้งยังมีราคาถูกและมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญถ้าไม่ซื้อตอนนี้ เดือน 6 ราคาจะขึ้น นอกจากนี้การทดลองใช้คนมากกว่า ผลข้างเคียงน้อยกว่า ทดลองนานกว่า ราคาถูกกว่า อายุยาวนานกว่า จึงเป็นเหตุผลที่สมควรที่สุด

            ทั้งนี้ การเลือกวัคซีนไม่ได้ผ่านรัฐบาล แต่ผ่านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนที่มีทั้งประสบการณ์ วุฒิภาวะสูง ที่ไตร่ตรองถี่ถ้วนแล้ว เพียงแต่รัฐบาลรองรับความเสี่ยง การเลือกวัคซีนจึงไม่ใช่เลือกตามหลักการลงทุนที่ต้องกระจายความเสี่ยงตามหลักการตะกร้าหลายใบของนักลงทุน

            วัคซีนจะมาถึงในเดือนหน้า โดยเบื้องต้นต้องให้กับนักรบด่านหน้าคือบุคลากรทางการแพทย์ก่อน หลังจากนั้นจะส่งถึงมือประชาชนในครั้งถัดไป จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะลดความเสี่ยงของคนไทยทุกคน.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"