อัยการซัดตำรวจบกพร่อง สอบสวนไม่ครบถ้วนก็ออกหมายจับ "ณิชา" ถือเป็นการทำลายเสรีภาพประชาชน โต้บิ๊กสีกากีทำตามขั้นตอนอะไรของคุณ ถึงเวลาปฏิรูปให้อัยการเข้าไปถ่วงดุล ปปง.นัดแบงก์และสถาบันการเงินทั้งหมดหารือมาตรการป้องกันการสวมบัตรประชาชนเปิดบัญชี เตือนกฎหมายกำหนดต้องแสดงรายละเอียดครบถ้วน ฝ่าฝืนมีโทษ
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด กล่าวเมื่อวันที่ 11 มกราคมนี้ กรณี น.ส.ณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ พนักงานบริษัทเอกชน ถูกคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์สวมรอยนำบัตรประชาชนที่ทำหายไปเปิดบัญชีเพื่อรับโอนเงินจากเหยื่อ ต่อมาเธอถูกออกหมายจับฐานฉ้อโกงประชาชน โดย น.ส.ณิชาเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่กลับถูกส่งตัวไปดำเนินคดี ว่า น.ส.ณิชาถือว่าทำครบแล้ว ไม่ว่าเจ้าหน้าที่หรือนักกฎหมายเคยพูดไว้ว่า ถ้าบัตรประชาชนหายให้แจ้งความ แต่ขอถามว่าเวลาไปแจ้งความจริงมีการรับแจ้งความหรือไม่ ตำรวจบอกให้ไปแจ้งที่อำเภอสามารถออกบัตรใหม่ได้เลย ข้อเท็จจริงตรงนี้ต้องดูอีกว่าตอนแจ้งความ น.ส.ณิชาแจ้งความว่าอย่างไร แจ้งว่าบัตรหายเฉยๆ หรือหายเพราะเกี่ยวพันกับคดีอาญา ถ้าเกี่ยวพันกับคดีอาญา เช่น ถูกวิ่งราวทรัพย์ ลักทรัพย์ ตำรวจต้องรับแจ้งและสอบสวน เมื่อมีการสอบสวนแล้วได้นำประเด็นนี้ไปโยงกับที่ น.ส.ณิชาถูกกล่าวหาหรือไม่ เหตุการณ์นี้อย่าโทษใคร ให้มองที่งานสอบสวนว่าครบถ้วนรอบคอบหรือไม่ ถ้าครบถ้วนตั้งแต่เริ่มต้นก่อนจะออกหมายจับจะเป็นอย่างไร คดีนี้จะได้ความแต่แรก
นายปรเมศวร์กล่าวว่า เรารู้เพียงแต่ว่ามีการกระทำผิด แต่ยังไม่ได้ตัวผู้กระทำว่าเป็นใคร รู้ว่าบัญชีดังกล่าวชื่อ น.ส.ณิชา แต่ไม่รู้ว่าเป็นบัญชีของตัวจริงหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่มีใครยืนยัน การสอบสวนในคดีนี้เริ่มต้นต้องไปสอบสวนว่าธนาคารเปิดบัญชีอย่างไร มีภาพถ่ายผู้เปิดหรือไม่ อยากให้พนักงานสอบสวนรอบคอบ ลองเช็กหมายเลขบัตรประชาชน จะสามารถเช็กประกันสังคมได้ว่า น.ส.ณิชาทำงานที่ไหน ตำรวจสามารถตามไปดูได้ว่ามีพฤติกรรมการหลบหนีหรือไม่ มีความพยายามเพียงพอหรือยังที่จะนำตัวเข้าสู่กระบวนการสอบสวน อันนี้เป็นเพียงการส่งหมายเรียก 2 ครั้ง เมื่อไม่มีก็สันนิษฐานแล้วไปขอออกหมายจับ ถือเป็นการทำลายเสรีภาพ น.ส.ณิชาทางอ้อม เพราะไม่รอบคอบ
"ที่น้องณิชานำเอกสารต่างๆ ไปพบตำรวจ เป็นการแสดงหลักฐาน ทั้งที่น้องไม่ควรต้องแสดงด้วยซ้ำ เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะต้องหาหลักฐานมาแสดงยืนยันว่าน้องเป็นคนเปิดบัญชีเป็นตัวการ" นายปรเมศวร์กล่าว
นายปรเมศวร์กล่าวด้วยว่า จากกรณีนี้มองถึงการปฏิรูประบบการสอบสวนว่า การสอบสวนต้องมีความละเอียด รอบคอบ เป็นการแก้ที่ต้นเหตุ ทุกวันนี้พนักงานสอบสวนพร้อมที่จะให้อัยการหรือหน่วยงานอื่นเข้าร่วมหรือไม่ ไม่ใช่อัยการจะไปร่วมสอบสวน แต่ร่วมตรวจสอบในการถ่วงดุลก่อนออกหมายจับ หรือการจะฝากขัง ส่งให้อัยการดูก่อน สมัยก่อนกระทรวงมหาดไทยส่งให้อัยการดูก่อน เราจะต้องกลั่นกรองก่อนเพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพของประชาชน แต่ไม่รู้ว่าพนักงานสอบสวนออกมาคัดค้านเพราะอะไร
เขากล่าวว่า การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือธนาคารควรดูหน้าตาลูกค้าว่าตรงกับหลักฐานหรือไม่ อย่าอยากได้ลูกค้าจนกลายเป็นความเสี่ยงกับการกระทำประมาทและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของคนอื่น กรณีนี้สามารถฟ้องธนาคารฐานประมาทเลินเล่อได้ ตลอดจนพนักงานสอบสวนอาจถูกฟ้องได้เช่นกัน การขอออกหมายจับที่ใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นความผิดเกี่ยวกับการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ
"เดี๋ยวนี้การไปเปิดบัญชียื่นบัตรประชาชนก็แทบไม่ต้องกรอกรายละเอียด พอเสียบบัตรก็มีการก๊อบปี้ข้อมูลออกมาให้เราเซ็นชื่ออย่างเดียว"
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี น.ส.ณิชาควรมีหน่วยงานใดมาเยียวยา นายปรเมศวร์กล่าวว่า น.ส.ณิชาถูกขังเป็นเวลา 3 วัน ได้รับการเยียวยาวันละไม่กี่ร้อยบาท ไม่คุ้มกับสิทธิร่างกายที่เสียไป
"เมื่อเช้าฟังตำรวจชั้นผู้ใหญ่บอกว่าปฏิบัติตามขั้นตอน อยากถามว่าขั้นตอนอะไรของคุณ ขั้นตอนที่คุณไม่ใช้ดุลพินิจหรือไง ส่งหมายเรียกผิดก็มี อย่างน้องณิชา ถ้าไม่เป็นข่าวก็ยาว แบบนี้เขาถึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการสอบสวน จริงๆ ระบบมันดี แต่เราทำไม่ครบ เอาแต่สะดวก ลองคิดดู ถ้าสอบสวนรอบคอบแล้วพบว่าไม่ได้กระทำผิด คุณจะฝากขังน้องเขาต่อหรือไม่ คุณไม่ไปฝากขังครั้งที่ 2 ต่อ ศาลก็ต้องปล่อย เรื่องก็จบ น.ส.ณิชาไม่ต้องไปรายงานตัวทุก 6 วันที่ศาลจังหวัดตาก เรื่องนี้ใครเป็นคนก่อก็ควรที่จะต้องแก้ พนักงานสอบสวนต้องแก้" นายปรเมศวร์กล่าว
ด้าน พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 ม.ค. เวลา 14.30 น. ปปง.ได้เชิญตัวแทนสถาบันการเงิน 36 แห่งมาร่วมประชุม เพื่อหารือถึงมาตรการป้องกันการสวมสิทธิ์บัตรประชาชนผู้อื่นเปิดบัญชีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และสอบถามถึงกรณีดังกล่าว
สำหรับมาตรการตรวจสอบการแสดงตนของผู้เปิดบัญชี พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์กล่าวว่า กำหนดให้ทุกสถาบันการเงินต้องตรวจสอบรายละเอียดลูกค้าที่ต้องการเปิดบัญชี ทั้งชื่อนามสกุลจริง อาชีพ วันเดือนปีเกิด เลขประจำตัวบัตรประชาชน ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน สถานที่ทำงาน หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ และอีเมล หากสถาบันการเงินละเลยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวให้รอบคอบ กฎหมายกำหนดให้มีโทษปรับบัญชีละ 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะแก้ไขให้แล้วเสร็จ
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจแห่งชาติ และอดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เรื่องนี้ทำไมสังคมไปรุมด่าธนาคารที่ยอมให้คนร้ายเปิดบัญชี ต้นเหตุที่ทำให้ น.ส.ณิชาถูกจับคือใคร คนที่มีหน้าที่สืบสวนพิสูจน์หาตัวว่าบุคคลใดที่กระทำความผิดคือตำรวจไม่ใช่หรือ คนไม่ได้ทำผิดถูกจับได้อย่างไร ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหาได้อย่างไร นี่คือปัญหา แต่ไม่ยอมรับ ออกมาแถลงข่าวทำไปตามพยานหลักฐาน โยนความรับผิดชอบไปให้ธนาคาร ถามว่าไม่จับคนที่ไม่ได้กระทำความผิดได้ไหม คำตอบคือได้ แต่ตำรวจไม่ทำ เช่น ไปสอบปากคำพนักงานธนาคารคนที่เปิดบัญชี ยืนยันเป็นว่า น.ส.ณิชาตามบัตรมาที่เปิดบัญชีจริงหรือไม่ หรือเป็นคนละคน ถ้าธนาคารยืนยันว่าเป็นคนเดียวกัน ตำรวจก็พ้นความรับผิดชอบ แต่ต้องถามว่าได้สอบไหม หรือถ้าไปสอบแล้วพบว่ามีการคลุมหน้าแล้วไม่แน่ใจ ตำรวจก็ต้องไม่ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งคดีนี้ น.ส.ณิชาสามารถฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำคดีได้ทั้งทางแพ่งและอาญา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |